สจล. จับมือ สภาคณบดีสถาปัตย์ ชี้ 5 เทรนด์การออกแบบบ้านอนาคต ป้องกันวิกฤติฝุ่น PM 2.5 พร้อมแนะภาครัฐผลักดันนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดพฤติกรรมก่อมลพิษทางอากาศ

กรุงเทพฯ 23 มกราคม 2562 – สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมแห่งประเทศไทย เผยแนวทางรับวิกฤติฝุ่น PM 2.5 ผ่าน แนวทางการออกแบบบ้านเขตเมืองในอนาคต  ได้แก่ 1.ลดช่องลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน 2.เพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบ้าน โดยเลือกปลูกต้นไม้ที่มีคุณสมบัติช่วยดักจับฝุ่น 3.เลี่ยงวัสดุที่จับฝุ่นง่าย 4.ติดตั้งเครื่องกรองและแผ่นกรองอากาศ หมั่นทำความสะอาดเป็นประจำ และ 5.เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ให้พอดีกับฝ้าเพดาน ลดแหล่งสะสมของฝุ่นละออง พร้อมแนะภาครัฐผลักดันนโยบายพัฒนาการจัดการเมือง ลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ หนุนประชาชนปั่นจักรยาน เดิน หรือบริการขนส่งสาธารณะ แทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในการเดินทาง เพื่อป้องกันวิกฤตฝุ่นอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับ สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมแห่งประเทศไทย จัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ ฝุ่น PM 2.5 จะผ่านไป แล้วไงต่อ?” เมื่อเร็วๆ นี้ ณ สภาสถาปนิก ถนนพระราม 9 กรุงเทพฯ

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) www.facebook.com/Activitykmitl หรือsites.google.com/site/cdastthai โทร.02-329-8000

 

            ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี ประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า แนวคิดการออกแบบบ้านในเขตเมืองรับมือปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการจัดการเมืองสมัยใหม่ หรือ Urban Management เนื่องจากบ้านเป็นหน่วยที่พักอาศัยที่ใกล้ชิดกับการดำเนินชีวิตประจำวันมากที่สุด พร้อมแนะ 5 แนวทางการออกแบบเชิงภูมิสถาปัตยกรรมภายนอกตัวบ้านและการตกแต่งภายในบ้าน คือ

1.       ลดช่องลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน เนื่องจากฝุ่นละอองจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศเย็นปะทะกับอากาศอุ่น ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะที่สภาพอากาศปิด โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ที่ลมหนาวจะพัดฝุ่นเข้าบ้านจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น บ้านที่อยู่ในพื้นที่ฝุ่นละอองหนาแน่นจึงควรลดช่องลมหรือเบี่ยงทิศตัวบ้านให้ออกจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองภายนอกพัดเข้าสู่ตัวบ้าน

2.       เพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบ้าน การออกแบบงานภูมิทัศน์ หรือการจัดสวนไม้ประดับ ควรเลือกต้นไม้ที่มีลักษณะใบคล้ายใบสน มีใบเล็กแหลมและแน่น โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีฝุ่นเป็นจำนวนมาก หากมีพื้นที่บริเวณบ้านควรปลูกหญ้าคลุมพื้นดินแทนการเทปูน และสามารถนำต้นไม้มาประดับตกแต่งผนังแทนการใช้กระเบื้อง การออกแบบงานภูมิทัศน์ นอกจากช่วยในการดักจับฝุ่นแล้ว ยังช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศมากขึ้น

3.       เลี่ยงวัสดุที่จับฝุ่นง่าย การเลือกใช้วัสดุตกแต่งบ้านและการออกแบบบางประเภทอาจทำให้เกิดฝุ่น เช่น การใช้เหล็กดัดลวดลาย การออกแบบผนังด้วยการเรียงอิฐไม่ฉาบปูน หรือการใช้อิฐโชว์แนว การออกแบบผนังหรือพื้นเป็นปูนพลาสเตอร์ปั้น และหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดฝุ่น เช่น ผ้าม่าน ผ้าขนสัตว์ ผ้ากำมะหยี่ พรม เป็นต้น

4.       ติดตั้งเครื่องกรองและแผ่นกรองอากาศ การติดตั้งเครื่องกรองอากาศเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณฝุ่นภายในบ้านได้ แต่จำเป็นต้องทำความสะอาดเครื่องกรองและแผ่นกรองเป็นประจำ เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นและเชื้อโรค และหากมีการใช้พรมเช็ดเท้าและพรมปูในบ้าน ควรหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นละอองภายในบ้าน

5.      เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ให้พอดีกับฝ้าเพดาน เนื่องจากพื้นที่ว่างบริเวณหลังตู้และเพดาน เป็นจุดอับที่ยากต่อการทำความสะอาด และเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นละออง ดังนั้น จึงควรเลือกขนาดเฟอร์นิเจอร์ที่มีความสูงให้พอดีหรือติดกับฝ้าเพดาน หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใช้ผ้าคลุมโต๊ะ ตู้ และวางของบนโต๊ะให้น้อยที่สุด

                ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภูมิสถาปนิก กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองมีความหนาแน่นค่อนข้างสูงและมีพื้นที่สีเขียวเพียง 10% ต่อพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งหากเปรียบเทียบกับ สิงคโปร์ที่มีความหนาแน่นประชากรสูง แต่มีพื้นที่สีเขียวถึง 47% ต่อพื้นที่ทั้งหมด ดังนั้น กรุงเทพฯ ต้องวางเมืองให้มีพื้นที่สีเขียวเพื่อกรองฝุ่น  เพื่อแก้ปัญหาด้านมลภาวะเป็นพิษทางอากาศ ซึ่งภูมิสถาปนิกเสนอในการจัดการพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ควรมีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อคน และกระจายในตัวเมืองให้ช่วยเป็นตัวกรองอากาศ ทั้งนี้ประเด็นพื้นที่สีเขียวได้รับการระบุไว้ในยุทธศาสตร์ 20 ปี จากปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญให้เกิดการตระหนักถึงมลภาวะทางอากาศในเขตเมือง ที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของคนเมืองได้

                ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พลเดช เชาวรัตน์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า  การแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศของเมืองใหญ่ในประเทศเยอรมนีที่เคยเกิดวิกฤตปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 จากการทำอุตสาหกรรมหนักภายในประเทศ จนนำไปสู่การออกแบบปรับผังเมืองครั้งใหญ่ เพื่อรับมือกับปัญหาปัญหาดังกล่าวและยกระดับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน อาทิ การใช้แนวคิดการจัดการเมืองต้องเติบโตพร้อมพื้นที่สีเขียว การปรับปรุงระบบบริการขนส่งสาธารณะ การปรับให้แหล่งอำนวยความสะดวกให้สามารถเดินเข้าถึงได้สะดวกและลดการใช้รถยนต์ การจำกัดการใช้รถยนต์และการห้ามรถยนต์ที่ไม่มีมาตรฐานเข้าเมืองในโซนที่กำหนด รวมถึงสร้างทางจักรยานเพื่อให้ประชาชนเลือกใช้ในการเดินทาง เป็นต้น การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเป็นส่วนสำคัญ เพื่อรับมือปัญหาวิกฤติฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในทุกๆ ปี อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาทิ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล งดการเผาสิ่งปฏิกูล เป็นต้น

                ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับ สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมแห่งประเทศไทย จัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ ฝุ่น PM 2.5 จะผ่านไป แล้วไงต่อ?” เมื่อเร็วๆ นี้ ณ สภาสถาปนิก ถนนพระราม 9 กรุงเทพฯสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)www.facebook.com/Activitykmitl หรือ sites.google.com/site/cdastthai โทร.02-329-8000