กรมการขนส่งทางราง กลไกใหม่ที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์
  • 14 กุมภาพันธ์ 2019 at 12:15
  • 1760
  • 0

ประเทศไทยมีความพยายามพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งระบบรางอย่างต่อเนื่อง  ล่าสุดมีความคืบหน้าด้านการจัดตั้งองค์กรรัฐให้มารับผิดชอบงานด้านนี้โดยเฉพาะ

กรมการขนส่งทางราง

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 12  กุมภาพันธ์ 2562  เรื่อง การจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบร่างกฎกระทรวง รวม 3 ฉบับ ประกอบด้วย

1. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยกลุ่มภารกิจ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

2. ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม             พ.ศ. ....

3. ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำร่างกฎกระทรวงว่าด้วยกลุ่มภารกิจ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนาม และส่งร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ....  และร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาลงนาม ทั้งนี้ ให้ดำเนินการลงนามเมื่อร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2562 (การจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง) มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงการคลังไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

1.       ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยกลุ่มภารกิจ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

กลุ่มภารกิจด้านการขนส่งปัจจุบัน  (ข) กลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง

1. กรมการขนส่งทางบก  2. กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี  3. กรมการขนส่งทางอากาศ

กลุ่มภารกิจด้านการขนส่งที่ขอปรับปรุง (ข) กลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง

กรมการขนส่งทางบก (คงเดิม) กรมเจ้าท่า (เปลี่ยนชื่อ) กรมท่าอากาศยาน (เปลี่ยนชื่อ) กรมการขนส่งทางราง (ตั้งใหม่)

2.       ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ....

กรมจัดตั้งใหม่  กรมการขนส่งทางราง

การแบ่งส่วนราชการตามร่างกฎกระทรวงฯ  สำนักงานเลขานุการกรม  กองกฎหมาย  กองกำกับกิจการขนส่งทางราง  กองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง  กองยุทธศาสตร์และแผนงาน

3.       ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

การแบ่งส่วนราชการปัจจุบัน 

(1) สำนักบริหารกลาง

(2) กองจัดระบบการจราจรทางบก

(3) กองพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร

(4) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการขนส่งและจราจร

(5) สำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม

(6) สำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง

(7) สำนักแผนความปลอดภัย

(8) สำนักแผนงาน

(9) สำนักส่งเสริมระบบการขนส่งและจราจรในภูมิภาค

 

การแบ่งส่วนราชการที่ขอปรับปรุง

สำนักบริหารกลาง (คงเดิม)

กองจัดระบบการจราจรทางบก (คงเดิม)

กองพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร (คงเดิม)

ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการขนส่งและจราจร (คงเดิม)

สำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (คงเดิม)

สำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง (ตัดออก)

สำนักแผนความปลอดภัย (คงเดิม)

สำนักแผนงาน (คงเดิม)

สำนักส่งเสริมระบบการขนส่งและจราจรในภูมิภาค (คงเดิม)

ข้อมูลเพิ่มเติม

ปัจจุบัน(กุมภาพันธ์ 2562) การจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางอยู่ระหว่างรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เรื่องนี้ย่อมเป็นมิติใหม่ของระบบคมนาคมไทย ที่มีหน่วยงานด้านกำกับดูแล (Regulator) ครบทั้ง 4 โหมดของการคมนาคมประกอบด้วย

กรมเจ้าท่า กำกับมาตรฐานการขนส่งทางน้ำ

กรมการขนส่งทางบก กำกับมาตรฐานทางบก

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กำกับมาตรฐานทางอากาศ

กรมการขนส่งทางราง กำกับมาตรฐานทางระบบราง และย่อมเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐาน ทั้งการก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ระบบอาณัติสัญญาณ การออกใบอนุญาตต่างๆ ทั้งคนขับรถไฟ รถไฟฟ้าจดทะเบียนรถไฟฟ้า ควบคุมการกำหนดอัตราค่าโดยสาร

การตั้งกรมการขนส่งทางราง มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้มีความสมบูรณ์ มีมาตรฐาน ทังนี้ช่วงเวลานี้เหมาะสม ข้ากว่านี้ก็อาจมีผลเสียเกิดขึ้น  เพราะปัจจุบันประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนาการคมนาคมขนส่งระบบรางทั้งหมด รวมทั้งการเตรียมสร้างระบบรถไฟความเร็วสูง ที่ใช้เทคโนโลยีสูง การดำเนินงานทุกอย่างต้องเป็นไปตามมาตรฐานโลก

ทางด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการพัฒนาการคมนาคมขนส่งระบบรางของประเทศ ได้เตรียมพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนต่างๆ เมื่อมีการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางแล้วเสร็จ รฟท. พร้อมปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานโดยการพัฒนาระบบให้มีความทันสมัย บูรณาการทำงานมากขึ้น พัฒนาบุคคลากรในการทำงานเชื่อมโยงข้อมูลให้สอดคล้องกับภารกิจของกรมการขนส่งทางรางในเรื่องต่างๆ เช่น มาตรฐาน ทั้งการก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ระบบอาณัติสัญญาณ การออกใบอนุญาตต่างๆ ทั้งคนขับรถไฟ ขับรถไฟฟ้า การขึ้นทะเบียนขบวนรถไฟฟ้า ควบคุมการกำหนดอัตราค่าโดยสาร และรองรับระบบรถไฟรูปแบบใหม่ ที่กำหนดทยอยเปิดให้บริการในอนาคต อาทิ รถไฟชานเมืองสายสีแดงที่กำหนดเปิดบริการต้นปี 2564  ส่วนรถไฟทางคู่สายใหม่ในปี 2566 จะมีโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จรวม 11 โครงการ ระยะทางกว่า 1,681 กิโลเมตร รวมถึงรถไฟความเร็วสูงที่อยู่ระหว่างขับเคลื่อนในปัจจุบันที่ต้องวางมาตรการการกำกับดูแลอย่างชัดเจน

กระบวนการทำงานในการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางนั้น ในเบื้องต้นกระทรวงคมนาคมได้วางกรอบว่าสามารถจัดตั้ง “กรมราง” ได้ภายในเดือนเมษายน 2562

                                                                  #