อนาคต 10 ปีเศรษฐกิจไทย สดใสถ้วนหน้า? (ตอนที่2)
  • 26 กุมภาพันธ์ 2019 at 09:19
  • 711
  • 0

หลังจากเกิดปรากฎการณ์ “ทศวรรษที่สูญเสีย”  อันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง และ “สงครามสี”  หรือกล่าวได้ว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างพลังสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย กับพลังที่หวาดกลัวการปกครองระบอบประชาธิปไตย (กระทั่งไปสนับสนุนเผด็จการ)  การต่อสู้ระหว่างสองพลังนี้ยังไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแพ้/ขนะอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองหรือความเปลี่ยนแปลงทางสากล-ความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ หรือฝายที่ถ่วงรั้งขัดขวางความเปลี่ยนแปลง (กล่าวให้ถึงที่สุดแล้วฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับพัฒนาการด้านต่างๆ ด้อยความสามารถเอง) ความเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้านที่ควรเกิดขึ้น จึงไม่เป็นจริงสักที

ความเป็นจริงเช่นนี้เป็นสภาพแวดล้อมภายในของทุกผู้คน  แต่หนทางยากลำบาก รุ่งโรจน์ แตกต่างกัน  ทั้งนี้มีปัจจัยที่เกื้อหนุนคือ ปฐพีไทยมีพลัง  กลไกต่างๆ ของสังคมยังทำงานต่อไป (คนละประเด็นกับการต้องแก้ไขปรับปรุง หรือกระทั้งรื้อสร้างใหม่)  เมื่อเป็นเช่นนี้มาดูรายละเอียดแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2562 กัน โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมจากตอนที่ผ่านมา

 

การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวต่อ

มีข้อมูลพื้นฐานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  และธนาคารแห่งประเทศไทยที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5  การขยายตัวดังกล่าวมีแรงสนับสนุนดังนี้

ประการแรก การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ของประชาชนและการจ้างงานตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

รายละเอียดเพิ่มเติมคือ ปี 2561 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 4.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัว ร้อยละ 3.0 ในปี 2560 และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี

การขยายตัวดังกล่าวได้รับปัจจัยสนับสนุนจากหลายๆ ปัจจัยประกอบด้วย

(1) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในภาคเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ที่กระจายตัวมากขึ้น ทั้งฐานรายได้ในภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการขยายตัวของผลผลิตและการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ บางรายการ

(2) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในภาคการจ้างงานซึ่งเริ่มกลับมาขยายตัวอย่างชัดเจน รวมทั้งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องตลอดทั้งปีและกระจายตัวครอบคลุมการจ้างงานทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร จำนวนผู้มีงานทำในภาคเกษตรในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ ร้อยละ 2.4 เช่นเดียวกับจำนวนผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นติดต่อกัน 2 ไตรมาส ในระดับสาขาการผลิต ผู้มีงานทำสาขาการก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 (สูงสุดในรอบ 10 ไตรมาส) สาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 (สูงสุดในรอบ 45 ไตรมาส) และสาขาการขายส่งและการขายปลีก และการซ่อมยานยนต์ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 (สูงสุดในรอบ 8 ไตรมาส) การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้มีงานทำส่งผลให้อัตราการว่างงานในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ลดลงเป็นร้อยละ 0.9 ต่ำสุดในรอบ 12 ไตรมาส

(3) อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

(4) การเปิดตัวของรถยนต์รุ่นใหม่ท่ามกลางการสิ้นสุดลงของข้อจำกัดจากมาตรการรถยนต์คันแรก

และ (5) การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ สำหรับในปี 2562 คาดว่าการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ การจ้างงาน อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งการดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ และปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากค่าใช้จ่ายในช่วงการเลือกตั้ง ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนให้อยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าฐานที่สูงของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งมีแนวโน้มที่เริ่มเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนและส่งผลให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในภาพรวมมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2561 ก็ตาม

การลงทุนภาคเอกชนดีขึ้น

ประการที่สอง การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชน ตามการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิต การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน และความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญ ๆ

ข้อมูลการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของการส่งออกที่ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญ ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นและเข้าสู่ช่วงของการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้นตามลำดับ สอดคล้องกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 68.4 6 เทียบกับร้อยละ 67.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวเร่งขึ้นอย่างช้าๆ สอดคล้องกับความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญ ๆ ของภาครัฐ และการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจในภาพรวม สำหรับในปี 2562 การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนดังนี้

(1) อัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในเกณฑ์สูงของอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ซึ่งกระตุ้นให้ภาคการผลิตมีการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้น

(2) การปรับตัวดีขึ้นของบรรยากาศการลงทุนภายในประเทศ สอดคล้องกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในปี 2561 โดยมีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 901 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.8 โดยเฉพาะการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งในปี 2561 มีมูลค่า 683.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 137.4 โครงการที่ขอรับการส่งเสริมดังกล่าวคาดว่าสามารถเริ่มดำเนินการบางส่วนในปี 2562

(3) ความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ของภาครัฐทั้งในโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

และ (4) การเปลี่ยนแปลงทิศทางการผลิตและการลงทุนภายใต้สถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

การลงทุนภาครัฐมีอัตราการเร่งที่ดี

ประการที่สาม การเร่งตัวขึ้นของการลงทุนภาครัฐ ตามการเพิ่มขึ้นของกรอบงบลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบเหลื่อมปี รวมทั้งการเร่งตัวขึ้นของการเบิกจ่ายจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมีความคืบหน้ามากขึ้นและคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 มีโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2559 (Action Plan ปี 2559) จำนวน 20 โครงการ โครงการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ปี 2560 (Action Plan ปี 2560) จำนวน 36 โครงการ และโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ปี 2561 (Action Plan ปี 2561) จำนวน 9 โครงการ โดยมีโครงการที่เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างแล้วจำนวน 20 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 728,669 ล้านบาท แบ่งเป็น

(1) โครงการภายใต้ Action Plan ปี 2559 จำนวน 14 โครงการ วงเงินรวม 723,109 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 9 โครงการ วงเงินรวม 522,280 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

(2) โครงการภายใต้ Action Plan ปี 2560 จำนวน 5 โครงการ วงเงินรวม 3,517 ล้านบาท

และ (3) โครงการภายใต้ Action Plan ปี 2561 จำนวน 1 โครงการ วงเงินรวม 2,043 ล้านบาท

สำหรับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญภายใต้แผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 5 โครงการ (ซึ่งได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา) ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วทุกโครงการ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างกระบวนการเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอและเจรจากับเอกชน

แรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวมีพลังมากขึ้น

ประการที่สี่ การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว ตามการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนและยุโรป

แม้ว่าการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2561 ได้รับผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวซึ่งเกิดจากการแข่งขันฟุตบอลโลกในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม และเหตุการณ์อุบัติเหตุเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ตในเดือนกรกฎาคม เป็นข้อจำกัดที่สำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 ในเดือนพฤศจิกายน และร้อยละ 7.7 ในเดือนธันวาคมเร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสที่ 3  และร้อยละ 0.5 ในเดือนตุลาคม นักท่องเที่ยวจากรัสเซียและยุโรปในภาพรวมเริ่มกลับมาขยายตัวร้อยละ 1.4 และร้อยละ 0.9 ในไตรมาสสุดท้ายของปี เทียบกับการลดลงร้อยละ 7.2 และ 1.5 ในไตรมาสที่ 3 ตามลำดับ เช่นเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในเดือนธันวาคมซึ่งเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน

นอกจากนั้น ข้อมูลจำนวนผู้เดินทางผ่าน 5 ท่าอากาศยานหลัก ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 6.0 ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน ภายใต้แนวโน้มดังกล่าวคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2562 ได้มากขึ้น

ทิศทางการค้า การผลิต  การลงทุนระหว่างประเทศแนวโน้มดีขึ้น

ประการที่ห้า การเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้า การผลิต และการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 4.1 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.2 และร้อยละ 5.1 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 - 1.5 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.2 ของ GDP

การเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้า การผลิต และการลงทุนระหว่างประเทศช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 2.4 ชะลอลงจากร้อยละ 13.5 ในช่วงครึ่งปีแรก สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรเศรษฐกิจโลกที่ผ่านจุดสูงสุดและเริ่มเข้าสู่ช่วงของการชะลอตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีความตึงเครียดมากขึ้น

แม้กระนั้นก็ตามข้อมูลการส่งออกในไตรมาสสุดท้ายของปีแสดงให้เห็นว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ และจีนหลายรายการได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า เช่นเดียวกับข้อมูลด้านการลงทุนที่เริ่มมีสัญญาณการวางแผนย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการออกจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในกรณีที่มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และจีนมีความรุนแรงมากขึ้น

การปรับตัวของทิศทางทางการค้าและสายพานการผลิตระหว่างประเทศดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีต่อประเทศไทยผ่านการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมแล้ว ยังเป็นโอกาสที่สำคัญของประเทศไทยในการขับเคลื่อนการส่งออกและการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

รวมความแล้ว ปี 2562 ตั้งความหวังได้ว่า  เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดี  เว้นแต่ว่า  เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว  เกิดเหตุไม่คาดหมายทางการเมืองในระดับที่สร้างความเสียหายต่อกลไกการบริหารระดับประเทศ  จนกระทบกระเทือนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ นักลงทุน และประชาชนทั่วไป กระทั่งชะลอการใช้จ่ายทั้งหมด  ไม่ว่าเพื่อการลงทุนหรือเพื่อการบริโภค

ทศวรรษหน้าหรือ 10 ปีข้างหน้าสดใสหรือไม่ ก็เริ่มต้นนับหนึ่งที่ปีปัจจุบัน  ในวันเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562

#