อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ ต้นทางอุตสาหกรรมก่อสร้างต้นทางความพร้อม-ทันสมัยและพัฒนาของเมือง

การสร้างโครงข่ายคมนาคมขนส่ง  การสร้างเมืองสมัยใหม่ จำเป็นต้องมีอุตสาหกรรมหลัก 2 กลุ่มสนับสนุน นั่นคือ อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ และอุตสาหกรรมเหล็ก  ขณะเดียวกันต้องมีอุตสาหกรรมสำคัญอื่นๆ ประกอบ เช่น  อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความทันสมัยของการคมนาคมขนส่งและเมืองอัจฉริยะ  อุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม  อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์  อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมผลิตรถไฟ รถไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอื่นๆที่สนับสนุนการคมนาคมขนส่งระบบราง

ความต่อเนื่องและพัฒนาการของอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ และอุตสาหกรรมเหล็กต้องมี ด้านหนึ่งรองรับความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมก่อสร้าง  อีกด้านหนึ่งเป็นพลังผลักดันให้อุตสาหกรรมก่อสร้างพัฒนา

เหมืองปูนซิเมนต์เป็นต้นทางของอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ ที่จำเป็นต้องมีความต่อเนื่อง  ขณะเดียวกันก็ต้องดูแล(ฟื้นฟู)สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติไปพร้อมกัน

เหมืองปูนเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด และมีลักษณะเฉพาะประจำพื้นที่  (เช่นเดียวกับท่าเรือน้ำลึกที่มีตำแหน่งเฉพาะ/ไม่กี่แห่งที่เหมาะสมกับการก่อสร้าง)

การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติจึงมีเงื่อนไขจำกัดจากการมีตามธรรมชาติ และเงื่อนไขที่ผันแปรจากการบริหารจัดการขององค์กรธุรกิจที่เกี่ยวข้องและภาครัฐที่กำกับดูแล  เพื่อให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกิดประโยชน์อันเหมาะสม และมีการดูแลฟื้นฟูผลกระทบที่(จำต้อง) เกิดขึ้นอย่างดีพอ

ว่าไปแล้ว แทบทุกเรื่องในโลกนี้ก็อยู่ใน “กฎทั่วไป” นี้

 

ทำเหมืองปูนได้ครบตามอายุสัมปทาน

มติคณะรัฐมนตรีวันที่  5  มีนาคม  2562  เรื่อง  บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ขอเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวาง และป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ท้องที่จังหวัดสระบุรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผ่อนผันให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ  ป่าทับกวางและป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 (ท้องที่ตำบลมวกเหล็ก อำเภอมวกเหล็ก และตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย  จังหวัดสระบุรี) เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน  เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จำนวน 15 แปลง ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ [พื้นที่ประทานบัตร 15 แปลง รวมเนื้อที่ 3,311 ไร่ 2 งาน 67 ตารางวา  โดยอยู่ในเขตกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำภาคตะวันตก  ภาคกลาง  และลุ่มน้ำป่าสัก  ชั้นที่ 1 เอ รวมเนื้อที่ 3,223 ไร่ 2 งาน 35 ตารางวา)] เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 และวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอขอผ่อนผันให้บริษัท  ปูนซิเมนต์ไทย  จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวางและป่ามวกเหล็ก  แปลงที่ 1 จำนวน  15 แปลง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ในท้องที่ตำบลมวกเหล็ก  อำเภอมวกเหล็ก  และตำบลทับกวาง  อำเภอแก่งคอย  จังหวัดสระบุรี  รวมเนื้อที่ 3,223 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา (พื้นที่ประทานบัตร  15 แปลง มีเนื้อที่รวม 3,311 ไร่ 2 งาน 67 ตารางวา) เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน  เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เนื่องจากหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2554 แต่อายุประทานบัตรเหมืองแร่ยังคงเหลืออยู่ถึงวันที่ 27 เมษายน 2579  ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 และวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ที่กำหนดให้เสนอคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้  กรมทรัพยากรธรณีได้พิจารณาข้อมูลแหล่งแร่ในพื้นที่ดังกล่าวแล้วพบว่า  บริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพและปริมาณสำรองที่สามารถทำเหมืองได้  และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเห็นว่า  ในช่วงการอนุญาตที่ผ่านมาผู้รับอนุญาตได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการอนุญาตถูกต้องครบถ้วนและได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายหลังการทำเหมืองแร่ (Post  Evaluation) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว   (และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติให้บริษัทฯ เฝ้าระวังด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน  และคนงาน  และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายหลังการทำเหมืองแร่อย่างเคร่งครัดด้วย)

ดังนั้น  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความเห็นให้บริษัทฯ ได้รับการพิจารณาผ่อนผันให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เป็นการเฉพาะรายต่อไปได้จนสิ้นอายุประทานบัตร (วันที่ 27 เมษายน 2579)

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

ภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ 2560 บริษัทในอุตสาหกรรมนี้มีรวม 7 บริษัท  จำนวนหม้อเผา 32 หม้อเผา กำลังการผลิตปูนเม็ด  50, 336 พันตันต่อปี กำลังการผลิต(ปูนซิเมนต์) 60,155 พันตันต่อปี ปริมาณการผลิตปูนซิเมนต์ 33, 587 พันตัน  ยอดขายในประเทศ 28,882 พันตัน  (หมายเหตุ กำลังการผลิตปูนเม็ดต่อปี คำนวณจาก 320 วัน อัตราส่วนปูนเม็ด / ปูนซีเมนต์ คือ 1 ต่อ 1.2 อัพเดทข้อมูล ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2561/ข้อมูลจาก สมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทย)

มติครม.ที่อนุมัติให้บริษัท  ปูนซิเมนต์ไทย  จำกัด (มหาชน)  สามารถทำเหมืองปูนได้ครบอายุสัมปทาน จึงมีส่วนสร้างความแน่นอนให้กับอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์  อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ

#