นโยบายพรรคการเมืองที่มีผลต่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง

 

แม้ว่าในระหว่างการหาเสียงในฤดูกาลเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม  2562  ไม่มีพรรคการเมืองใดประกาศนโยบายโดยตรงต่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง  แต่เมื่อเชื่อมโยงนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายด้านคมนาคม และนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ ย่อมพอมองเห็นผลต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมก่อสร้างได้

การกล่าวถึงเรื่องนี้แยกตามแต่ละพรรคการเมือง  โดยรวบรวมนโยบายที่เกี่ยวข้องทางด้านคมนาคมมา 6 พรรคการเมืองหลัก  โดยประกอบด้วยวิสัยทัศน์ และ 5โนโยบายสำคัญทางด้านคมนาคมขนส่ง  (เรียงอันดับตามอายุพรรคการเมือง)

 

พรรคประชาธิปัตย์

แสดงวิสัยทัศน์ด้านคมนาคมดังนี้ “ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ”

1.ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าในเส้นทางที่รัฐบาลลงทุนเองทั้งหมด

2.จัดหารถเมล์ไฟฟ้า 5,000 คัน และปรับสายรถเมล์ให้สอดคล้องกับเส้นทางรถไฟฟ้า

3.ส่งเสริมให้ใช้รถร่วมกัน (Carpool) ผ่านแอปพลิเคชั่น

4.ขยายรถไฟทางคู่ไปยังจังหวัดที่ยังไม่มีรถไฟด้วยเส้นทางตัดขวางประเทศ 2 สาย

5.เดินหน้าก่อสร้างมอเตอร์เวย์เหนือจรดใต้ตามแผนแม่บท 2 สาย

จากนโยบายดังกล่าวมี ข้อเสนอเป็นตัวเลขรูปธรรม เช่น สามารถ ราชพลสิทธิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ เสนอลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่รัฐบาลลงทุนเอง 100% เป็น 15 บาทตลอดสาย  เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง จาก 14-42 บาท เป็น 15 บาท และสายสีน้ำเงิน ช่วงบางใหญ่-หัวลำโพง จากสูงสุด  70 บาท ลดเหลือ 43 บาท หรือลดประมาณ 40 %

พรรคประชาธิปัตย์ระบุควรเร่งสร้างรถไฟฟ้าทุกสี และสร้างรถไฟทางคู่ให้ครอบคลุมระยะทาง 3,000 – 5,600 กิโลเมตร ภายใน 10 ปี และเชื่อมต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงจากนครราชสีมา-หนองคาย-เวียงจันทน์

 

พรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยประกาศวิสัยทัศน์ด้านคมนาคมคือ “เชื่อมโยงปลอดภัย ทันสมัยสร้างมูลค่า”

นโยบายรวมๆ ของพรรคเพื่อไทยที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน-เกี่ยวข้องกับระบบคมนาคมขนส่งคือ เมืองน่าอยู่ เมืองเดินได้ ด้วยการพัฒนาขนส่งสาธารณะที่เป็นจุดเชื่อมต่ออย่าง รถเมล์ วินมอเตอร์ไซค์ และรถกระป๊อ ให้เป็นระบบเดียวกันและมีคุณภาพ เพื่อให้นำเราจากบ้านไปสู่สถานีรถไฟฟ้าหรือจุดเชื่อมต่ออื่นๆ ได้อย่างไม่มีสะดุด เนื่องจากการขนส่งเหล่านี้เป็นวิธีการเดินทางที่สำคัญของคนที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ

จากจุดนี้แยกเป็นนโยบายสำคัญทางด้านคมนาคมขนส่ง 5 ข้อ

1.จัดตั้ง Single Command  มาจัดการการจราจร

2.จัดหารถเมล์ใหม่และเปลี่ยนมาเป็นระบบจ้างวิ่ง ยุบสายรถเมล์ที่ทับซ้อนกัน

3.ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการจราจร และจัดการระบบขนส่งสาธารณะ

4.ปลูกฝังกรอบความคิด (Mindset) ให้หันมาใช้ระบบขนส่าธารณะ

5.เชื่อมโยงระบบสาธารณะทั้งระบบด้วยระบบ Feeder

นโยบายดังกล่าวขยายความโดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยที่กล่าวว่า ปัญหารถติดนั้นไม่ได้เกิดจากมีรถยนต์มากเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากคนไม่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เนื่องจากไม่สามารถพาเราจากบ้านไปถึงที่ทำงานได้อย่างสะดวก จึงจำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ดังนั้นต้องทำระบบการเดินทางอัจฉริยะ แก้ปัญหาความซ้ำซ้อนของหน่วยงานที่ดูแลด้านการจราจรที่มีมากถึง 37 หน่วยงาน และให้ความสำคัญกับรถเมล์โดยสารที่ต้องปรับปรุงรถเมล์ใหม่ให้มีคุณภาพและเพียงพอต่อประชาชน เพราะรถไฟฟ้าคงไม่ได้เข้าไปถึงทุกพื้นที่ ขณะเดียวกัน ก็ยกระดับการเชื่อมต่อกับรถจักรยานยนต์รับจ้าง รถตุ๊กตุ๊ก และสามล้อเครื่อง อีกทั้งมีการจัดสิ่งแวดล้อมรอบสถานีรถไฟฟ้าให้สามารถเดินเท้าโดยสะดวกเหมือนกับประเทศสิงคโปร์

“การเดินเท้าเป็นสิ่งสำคัญ จึงมีแนวคิดสร้างเมืองเดินได้ โดยบริเวณรัศมี 500 – 800 เมตรของสถานีรถไฟฟ้า ต้องเป็นพื้นที่ที่ประชาชนเดินเท้าได้สะดวก ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อีกในอนาคต”  นายชัชชาติย้ำ

 

พรรคภูมิใจไทย

วิสัยทัศน์ “ส่งเสริมเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy)

1.ลดอำนาจรัฐให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการออกแบบขนส่งสาธารณะเอง

2.พัฒนาระบบรางให้ครบระบบเชื่อมโยงกับระบบถนน

3.แก้กฎหมายให้เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ถูกกฎหมาย

4.ส่งเสริมตัวเลือกในการเรียนออนไลน์ 1  วัน ผ่าน Thailand Sharing University

5.ส่งเสริมการทำงานที่บ้าน 1 วันเพื่อลดความแออัดบนท้องถนน

 

ขยายความนโยบายด้านคมนาคมขนส่งของพรรคภูมิใจไทยก็คือ การนำแนวคิดแบบดิจิทัลเข้ามาแก้ปัญหาคมนาคมทั้งระยะสั้นและระยะยาว  จุดเริ่มต้นได้แก่ การทำให้ Grab ถูกกฎหมาย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้คนกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ เดินทางสะดวกยิ่งขึ้น เพื่อแก้ปัญหาบริการแท็กซีที่มักปฏิเสธผู้โดยสาร เพราะตัวเลือกแบบ Grab จะช่วยตอบโจทย์ความสะดวกสบายในการเดินทางมากขึ้น และทำให้คนที่มีรถขับอยู่แล้วสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ โฆษกพรรคภูมิใจไทย บอกว่าจะนำคลื่นความถี่ 5 จี เข้ามาใช้เพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่สนับสนุนการเดินทางทุกรูปแบบ และช่วยให้คนทำงานสามารถทำงานหรือเรียนหนังสือจากพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องวิ่งเข้าหาความเจริญในเมืองเสมอไป  ในเรื่องนี้นำไปสู่ จึงเป็นที่มาของนโยบาย ทำงาน 4 วัน และอีก 1 วันทำงานที่บ้าน ที่จะส่งเสริมให้มาตรการนี้ใช้กับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อที่จะลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน และลดปริมาณมลภาวะในอากาศไปในตัว

 

พรรคพลังประชารัฐ

วิสัยทัศน์ “เอาของเก่าที่มีอยู่แล้วมาต่อยอดด้วยเทคโนโลยี”

1.จัดตั้ง Single Command ควบคุมระบบจราจรด้วยเทคโนโลยี  AI

2.ใช้เทคโนโลยีเข้ามาปรับการเดินรถเมล์ให้มีเส้นทางที่สั้นลงแต่ถี่ขึ้น

3.แก้กฎหมายให้เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ถูกกฎหมาย

4.พัฒนาเชิงพาณิชย์ที่สถานีเพื่อหารายได้จากผลประโยชน์อื่นในระบบรถไฟฟ้า

5.เชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะทั้งระบบด้วยระบบ Feeder และบัตรใบเดียว

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เน้นเรื่อง  Bangkok Card บัตรเดียวใช้ได้ทุกอย่าง เพื่อให้การใช้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภทในกรุงเทพฯมีความสะดวกรวดเร็ว  ขณะเดียวกันต้องนำ AI เข้ามาช่วยให้จัดการจราจรบนถนน เพื่อให้สามารถวางแผนการเดินทางได้ง่ายขึ้นผ่านแอปพลิเคชั่น

จุดแข็งที่พรรคพลังประชารัฐเน้นก็คือ ประกาศว่า ทางพรรคพร้อมต่อยอดทุกโครงการที่รัฐบาลทำไว้ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ คือการแก้ไขปัญหาการจราจร ส่งเสริมให้มีการใช้บริการขนส่งสาธารณะให้ได้มากที่สุด

 

พรรคอนาคตใหม่

วิสัยทัศน์ “ขนส่งสาธารณะเพื่อทุกคน”

1.ทบทวนโครงการที่ซ้ำซ้อน และยุบรวมหน่วยงานส่วนกลางที่ซ้ำซ้อน

2.จัดหารถเมล์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศและใช้เทคโนโลยีมาปรับการเดินรถเมล์

3.ปรับปรุงทางเท้าให้น่าเดิน เพื่อให้โอกาสเศรษฐกิจรายย่อย

4.สร้างระบบขนส่งสาธารณะตามหัวเมืองใหญ่  11 จังหวัด

5.สร้างอุตสาหกรรมการขนส่งในประเทศและสร้างหน่วยงาน R&D ด้านเทคโนโลยีระบบราง

 

พรรคอนาคตใหม่มองว่า ปัญหารถติดของคนกรุงเทพฯ เกิดจากการออกแบบเมืองที่เน้นถนนเป็นหลัก และนโยบายซ้ำซ้อนที่เน้นลงทุนสร้างถนนเพื่อรองรับรถที่มีจำนวนมาก ขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ พัฒนาน้อย

สุรเชษฐ ประวีณวงศ์วุฒิ ที่ปรึกษานโยบายด้านคมนาคม พรรคอนาคตใหม่เสนอเปลี่ยนรถเมล์ร้อนเป็นรถเมล์ไฟฟ้าติดแอร์ที่มีต้นทุนถูกลงจากการผลิตในประเทศแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ และมีแผนระยะยาวคือบูรณาการหลายหน่วยงานเข้าด้วยกัน ลดความซ้ำซ้อนของโครงการต่างๆ การพัฒนาระบบราง และใช้เทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป

สรุปแนวคิดด้านนโยบายคมนาคมของพรรคอนาคตใหม่คือ ลดความซ้ำซ้อนของงบประมาณในการทำโครงการ และเปลี่ยนมาพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เพื่อให้ได้ประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ มีการพัฒนาขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์ให้มีคุณภาพ สามารถพาเราไปถึงจุดเชื่อมต่อต่างๆ ทั้งสถานีรถไฟฟ้า และสนามบิน ด้วยราคาต่อเที่ยวที่ถูกและเข้าถึงง่าย พร้อมใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำให้ระบบขนส่งสาธารณะเหมาะกับปริมาณผู้ใช้ในแต่ละพื้นที่  ทั้งนี้การลงทุนระบบขนส่งสาธารณะต้องสอดคล้องกับปริมาณการใช้งานในแต่ละพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องทุกลงสร้างรถไฟฟ้าในทุกเส้นทาง

 

ทั้งหมดที่เรียบเรียงมาข้างต้นนั้น กล่าวแล้ววิสัยทัศน์และนโยบายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมขนส่งและเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมก่อสร้างดังกล่าวข้างต้น  ต้องรอผลการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม  2562   และหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลผสมเรียบร้อยแล้ว  รวมระยะเวลาแล้ว ประมาณครึ่งหลังปี  2562  ถึงพอมองทิศทางออกว่าเป็นในทางใด

#