ซีพี. นำกลุ่ม CPH ร่วมทุน รฟท. ทำรถไฟความเร็วสูง อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ ดอนเมือง/มติครม.เห็นชอบ
  • 29 พฤษภาคม 2019 at 07:39
  • 2160
  • 0

ซีพี.พาเหรดนำพันธมิตร (อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ไชน่า เรลเวยส์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชัน (จีน)  ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)  และ ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ)  คว้าชัยร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม อู่ตะเภา  สุวรรณภูมิ และดอนเมือง พร้อมสิทธิพัฒนาที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ ศรีราชาจำนวน 25 ไร่

 

ซีพี. และพันธมิตรผ่านด่านสุดท้าย มติครม.

การคัดเลือกผู้ร่วมทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม อู่ตะเภา  สุวรรณภูมิ และดอนเมืองมาถึงจุดเส้นชัย เพื่อเริ่มต้นดำเนินโครงการนั้น เป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 พฤษภาคม 2562  เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 4/2562 เรื่อง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2562  เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 เรื่อง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ตามที่เสนอ และให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมลงทุนกับนิติบุคคลเฉพาะกิจซึ่งเอกชนที่ได้รับคัดเลือกจะจัดตั้งขึ้น เพื่อประกอบกิจการการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน  หากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นถือว่าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหรือเห็นชอบตามมติ กพอ.

2. เห็นชอบให้ รฟท. ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินกับเอกชนที่ได้รับคัดเลือกตามที่ กพอ. ได้เห็นชอบไว้  เพื่อให้เป็นการปฏิบัติตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494

3. เห็นชอบให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินตามที่คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 ได้มีมติอนุมัติ โดยการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวจะอยู่ในลักษณะการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป  ตามนัยมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และอนุมัติให้ รฟท. ดำเนินการก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายได้ ตามนัยมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 สำหรับดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน วงเงิน 149,650 ล้านบาท ทั้งนี้ รฟท. จะชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินแก่เอกชนที่ได้รับคัดเลือก  ด้วยการแบ่งจ่ายเป็นรายปี ปีละไม่เกิน 14,965 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี หลังจากเริ่มการให้บริการโครงการเกี่ยวกับรถไฟ  ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุน

 

เอกชนที่ได้รับคัดเลือกคือ กลุ่ม CPH

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ (27 มีนาคม 2561) อนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน  และอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจร่วมลงทุนกับเอกชนที่ได้รับคัดเลือก  ภายใต้กรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชนไม่เกิน  119,425.75 ล้านบาท ที่เป็นมูลค่าปัจจุบันตามที่ตกลงในสัญญาร่วมลงทุน  โดยทยอยจ่ายให้เอกชนหลังจากเริ่มเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงฯ ทั้งระบบแล้ว  และแบ่งจ่ายเป็นรายปี กำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 10 ปี โดยให้รับความเห็นของสำนักงบประมาณที่เห็นควรให้ใช้อัตราส่วนลดหรืออัตราดอกเบี้ยไม่เกิน FDR+1 ไปพิจารณาดำเนินการด้วย  ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย  สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  โดยได้ออกประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอโครงการฯ จนกระทั่งได้เอกชนที่ได้รับคัดเลือกแล้ว  และได้มีการพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานเพื่อติดตาม  กำกับ และบริหารจัดการสัญญาร่วมลงทุน  เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนคณะกรรมการกำกับดูแล  ตามข้อ 20 ของประกาศคณะกรรมการนโยบาย  ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวต้องเริ่มทำงานทันทีที่สัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ   มีผล (ประมาณเดือนกรกฎาคม 2562) คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจึงได้ประชุมครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวและมีมติสรุปได้ ดังนี้

1. เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการร่วมลงทุนตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เช่น การวางแผนการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เอกชนสามารถเข้ามาดำเนินโครงการฯ ได้โดยไม่ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยผิดสัญญา  การกำหนดให้มีหน่วยงานเพื่อติดตาม  กำกับ  และบริหารจัดการสัญญาร่วมลงทุนอย่างใกล้ชิดตลอดอายุโครงการฯ เป็นต้น

2. เห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ โดยการจัดสรรงบประมาณจะอยู่ในลักษณะการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป  และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายได้สำหรับดำเนินโครงการฯ วงเงิน 149,650 ล้านบาท ทั้งนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยจะชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ แก่เอกชนที่ได้รับคัดเลือก  ด้วยการแบ่งจ่ายเป็นรายปี ปีละไม่เกิน 14,965 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี หลังจากเริ่มการให้บริการโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุน

3. เห็นชอบการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อติดตาม กำกับ และบริหารจัดการสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ พร้อมทั้งกรอบอัตรากำลังและกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายตามที่นำเสนอโดยให้หน่วยงานฯ อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และให้สำนักงานฯจัดทำรายละเอียดหน่วยงานฯ เพิ่มเติม รวมทั้งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยและสำนักงานฯ ไปหารือสำนักงบประมาณในรายละเอียดโดยด่วน เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณต่อไป เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการตามสัญญาของโครงการฯ ที่กำหนดไว้

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 พฤษภาคม 2562  ได้มีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เสนอ เพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่าโครงการ 224,544.36 ล้านบาท กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ผู้ชนะการประมูล ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย หลังจากนี้ ร.ฟ.ท.จะไปดำเนินการลงนามสัญญากับกลุ่มซีพีต่อไป โดยใช้เวลาในการก่อสร้าง 5 ปี

โดยกลุ่มซีพีได้ยื่นข้อเสนอด้านการเงินต่ำกว่าเงื่อนไขในทีโออาร์ โดยถือเป็นโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โครงการแรกที่ได้รับการอนุมัติผลการประมูล เพื่อลงนามสัญญาต่อไป ส่วนจะเป็นภายในวันที่ 15 มิ.ย.นี้หรือไม่ ขึ้นกับ ร.ฟ.ท.ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ครม.อนุมัติและเห็นชอบผลการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้ชนะ โดยเสนอขออุดหนุนจากรัฐบาลต่ำสุด 117,227 ล้านบาท และต่ำกว่ากรอบ ครม.อนุมัติลงทุนไว้ที่ 119,425 ล้านบาท  และเห็นชอบให้สำนักงบประมาณ จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินตามที่คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 ในวงเงิน 149,650 ล้านบาท ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนแก่เอกชนที่ได้รับคัดเลือก ด้วยการแบ่งจ่ายเป็นรายปี ปีละไม่เกิน 14,965 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี หลังจากเริ่มการให้บริการโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุน

หลังจาก ครม.เห็นชอบสัญญาการร่วมลงทุนระหว่าง ร.ฟ.ท. กับกลุ่ม CPH เตรียมลงนามสัญญาวันที่ 15 มิถุนายน 2562  มั่นใจว่าการก่อสร้างโครงการจะเสร็จ และเปิดให้บริการปี 2567 โดยภาคเอกชนเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงในการบริหารโครงการในการจัดเก็บค่าโดยสาร ตลอดอายุสัมปทาน 50 ปี ทำให้มูลค่าโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ล้านบาท โดยทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ โดย ครม.ให้รับข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดอย่างเคร่งครัด เช่น การส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเข้าดำเนินก่อสร้างโครงการ โดยไม่ทำให้ ร.ฟ.ท.ผิดสัญญา กำหนดให้มีหน่วยงานติดตาม กำกับ และบริหารสัญญาร่วมลงทุนอย่างใกล้ชิดตลอดอายุโครงการ

ภายหลังการลงนามสัญญา ร.ฟ.ท.จะต้องเตรียมส่งมอบพื้นที่มักกะสัน ซึ่งมีทั้งหมด 150 ไร่ โดยจะส่งมอบส่วนแรก 100 ไร่ก่อน และที่บริเวณศรีราชาจำนวน 25 ไร่ ส่วนที่ดินมักกะสันอีก 50 ไร่ที่เหลือทยอยมอบภายใน 5 ปี

ทั้งนี้กิจการร่วมค้า "บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตรร่วมค้า" (CPH)  ประกอบด้วย  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน  บริษัท ไชน่า เรลเวยส์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชัน จำกัด (จีน)  บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)  และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

 

ฉะเชิงเทรา ซีพี.  Smart city

เครือซีพี. เปิดเผยข้อมูลการเลือกจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นสถานที่แรกในการสร้าง Smart city  เพื่อทดลองการเชื่อมต่อกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ แผนงานขั้นต้นเตรียมก่อสร้างรถไฟฟ้าระบบรางเชื่อมต่อเข้ามายังสถานีมักกะสัน ให้เดินทางจากเมืองเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ภายใน 20 นาที กำหนดรถไฟออกทุก 1 หรือ 2 นาที  ถนนในเมืองวางแผนทำเป็น 3 ชั้น ชั้นบนเป็นสวนสาธารณะ ชั้นกลางเป็นถนน/ทางรถไฟ ชั้นล่างสุดเป็นส่วนบริการ เช่น การจัดเก็บขยะ ท่อน้ำเสีย ท่อบริการของระบบไฟฟ้า-ประปา และชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองเตรียมใช้ระบบ zero waste หรือการรีไซเคิลขยะให้เป็นศูนย์ เช่น การรีไซเคิล การผลิตไฟฟ้า การแปรรูป

แปลงเมืองกำหนใด้ศูนย์การค้าใหญ่อยู่กลางเมืองรวมไว้จุดเดียว รองรับแนวคิดเมืองใหม่ คือ รถต้องไม่ติด และผู้คนสามารถเดินไปทำงานได้ จำนวนประชากรใน.Smart city ต้องไม่ต่ำกว่า 300,000 คน เพื่อให้ธุรกิจ-บริการคุ้มทุน และเมืองยิ่งใหญ่ถึงจะยิ่งดี เพราะจะคุ้มค่าในการลงทุนสาธารณูปโภค

การดำเนินงานขั้นต้น เครือซีพีอยู่ระหว่างการให้สถาปนิกและที่ปรึกษาจากสหรัฐฯ และอังกฤษออกแบบวางแผน รวมถึงรูปแบบการลงทุน   ตามแผนงานระยะยาว ซีพี. มีแนวคิดดึงนักธุรกิจทั้งไทยและต่างชาติร่วมลงทุน เพื่อได้ประโยชน์ทั้งด้านเงินลงทุน  เครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศ รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ซีพี. มีความเห็นว่าประเทศไทยควรมีการลงทุนโครงการสมาร์ท ซิตี้ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศรวมอย่างน้อย 20 เมือง จุดสำคัญคือการพัฒนาทางกายภาพของเมือง  กายภาพของทำเลต่างๆ นั้น ไม่ควรถมองเฉพาะการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับเมกะโปรเจคที่ภาคเอกทำแยกย่อยแบบเดิมอีกต่อไป แต่ต้องคิดและวางแผนแบบองค์รวม ประสานผนึกกำลังทั้งภาครัฐและภาคเอกชย เป็นการวางแผนพัฒนาระดับการสร้างเมือง  และควรเป็นเมืองอัจฉริยะ เพราะเทคโนโลยีด้านต่างๆ ในปัจจุบันนั้นมีพร้อม

ปัจจุบันแนวคิด “สมาร์ท ซิตี้” เป็นจุดขายใหม่ของกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์ หลังจากแข่งขันกันที่เมกะโปรเจกต์ในรูปแบบ “มิกซ์ยูส”  สร้าง “เมืองเล็ก-สำเร็จรูป” มีที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย ส่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันต่างๆ ครบครันในพื้นที่เดียวกัน  แต่ในเมืองขนาดของบริษัทธุรกิจใหญ่มากขึ้น  มีพลังทุนเทคโนโลยีและพันธมิตรมากขึ้นในระดับทั่วโลก การสร้าง “เมืองเล็ก-สำเร็จรูป” จึงพัฒนายกระดับเป็น Smart city  เมืองใหญ่สำเร็จรูป ที่เชื่อมโยงกับการคมนาคมขนส่งทันสมัย อย่างเช่น  รถไฟฟ้าความเร็วสูง และสนามบิน  เป็นต้น

#