เดินทางรถไฟทางคู่ สร้างพลังเศรษฐกิจไทยให้แข็งแรง เชื่อมโยงเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง
  • 30 พฤษภาคม 2019 at 12:55
  • 1703
  • 0

การคมนาคมระบบราง รถไฟทางคู่ และรถไฟคามเร็วสูงมีส่วนสำคัญในการบริหารการเติบโตของเมือง รวมทั้งแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “เมืองหลวง- เมืองหลัก-เมืองรอง ” และความขัดแย้งระหว่าง “เมือง” กับ “ชนบท” แนวทางปฏิบัติคือให้เมืองขนาดต่างๆ  รวมทั้งเมืองและชนบทใช้ “ข้อดี” ของตนเองส่งเสริมขยายผลดีซึ่งกันและกัน

แนวคิด นโยบายและปฏิบัติเช่นนี้  มีโอกาสเป็นจริงมากขึ้น

 

การคมนาคมขนส่งเชื่อมพลังเศรษฐกิจประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

เมื่อบริการจัดการโครงการคมนาคมระบบถนน ระบบรางและทางน้ำ รวมทั้งทางอากาศได้ดีย่อมเป็นการส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจระหว่างเมือง และระหว่างประเทศ

ในครั้งนี้กล่าวเฉพาะการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่งระบบราง การสร้างรถไฟทางคู่ขนาดรางกว้าง 1 เมตร ตามพื้นฐานปัจจัยของประเทศอาเซียนที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงร่วมกัน  และเน้นภาพที่ประเทศไทยซึ่งสภาพทางภูมิศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์แล้วเป็น “ศูนย์” กลางประเทศอาเซียนภาคพื้นทวีป

การพัฒนารถไฟทางคู่ขนาดรางกว้าง 1 เมตร ไม่ใช่เพียงเพิ่มศักยภาพการขนส่งระบบรางในประเทศ หากหมายความถึงการเชื่อมโยงการขนส่งระบบรางระหว่างประเทศอาเซียนภาคพื้นทวีป  พม่า  ลาว กัมพูชา  เวียดนาม ไทยและมาเลเซีย  กลุ่มประเทศเหล่านี้มีทางรถไฟขนาดรางกว้าง 1 เมตรรวมกันไม่น้อยกว่า  15,000 กิโลเมตร  เมื่อประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านพัฒนาทางรถไฟขนาดกว้าง 1 เมตรที่มีอยู่แล้วให้เป็นทางคู่ แยกขบวนขึ้นล่อง  และพัฒนาเป็ฯ 3 ทางหรือ 4 ทาง แยกขบวนขนส่งสินค้าออกจากขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางที่มีศักยภาพแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยบวกในการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศล่มแม่น้ำโขงร่วมกัน  (แม้มาเลเซียไม่ได้อยู่ในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง แต่ย่อมได้ประโยชน์ด้วย)

เส้นทางคมนาคมสำคัญของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงส่วนที่อยู่ในพื้นที่ประเทศไทยส่วนหนึ่งคือ  โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งตามแนวตะวันออก – ตะวันตก (East-West Corridor) การพัฒนาโครงข่ายรถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันออก – ตะวันตก  ตอนบน (Upper East – West Economic Corridor) ช่วงแม่สอด – พิษณุโลก – เพชรบูรณ์ – ขอนแก่น – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร

ทั้งนี้ ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก–ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) นั้น ทอดยาวจากท่าเรือดานังของเวียดนามผ่านลาว ไทย แล้วออกสู่ท่าเรือมะละแหม่ง (Mawlamying) ของพม่า ปัจจุบันการคมนาคมผ่านโครงข่ายถนนใช้งานได้แล้ว ถนนสายหลักของ EWEC ยาวประมาณ 1,450 กิโลเมตร ลากตัดกับ NSEC ที่จังหวัดตากและพิษณุโลก(เรียกภาษาปากว่า สี่แยกอินโดจีน) เมืองต่างๆที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของ EWEC ได้แก่

1.มะละแหม่ง – เมียวดี (Myawaddy) ในพม่า

2.แม่สอด – พิษณุโลก – ขอนแก่น – กาฬสินธุ์ ในไทย

3.สะหวันนะเขต (Savannakhet) – แดนสะหวัน (Dansavanh) ในลาว

4.ลาวบ๋าว (Lao Bao) – ฮเว้ (Hue) – ดงห่า (Dong Ha) – ดานังในเวียดนาม (ดู ภาคผนวกที่ 1)

หากทุกเมืองใน EWEC เชื่อมเข้าด้วยกันทั้งหมด EWEC จะเป็นเส้นทางคมนาคมทางบกที่เป็นเส้นตรงและต่อเนื่องเพียงเส้นทางเดียวที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้

เมื่อพิจารณาเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อกับ ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ–ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC) ซึ่ง ประกอบไปด้วยเส้นทางต่างๆที่ทอดยาวจากเหนือลงใต้ ซึ่งปัจจุบันมี 2 ส่วนย่อยคือ

1.ระเบียงย่อยด้านตะวันตก (Western Sub-Corridor) เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างคุนหมิง– เชียงราย–กรุงเทพฯ โดยผ่านลาวและพม่า

2.ระเบียงย่อยด้านตะวันออก (Eastern Sub-Corridor) เป็นเส้นทางที่ทอดจากคุนหมิง–ไฮฟอง โดยผ่านฮานอย

ภพรวมของการก่อสร้างถนนตามโครงการ NSEC นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มณฑลยูนนานและภูมิภาคทางตอนเหนือของลาวมีเส้นทางออกสู่ทะเลได้ นอกจากนั้นก็เพื่อที่จะเชื่อมโยงลงไปถึงสิงคโปร์โดยผ่านไทยและมาเลเซีย ศักยภาพของโครงข่ายนี้มีผลต่อการเชื่อมโยงของตลาดต่างๆ ตั้งแต่คุนหมิงถึงสิงคโปร์

ในปัจจุบันการคมนาคมระบบถนนมีภาพรวมที่ต้องการเกิดขึ้นแล้ว  ส่วนการพัฒนาโครงการข่ายคมนาคมระบบรางอยู่ระหว่างดำเนินการ  (ตรงนี้รวมถึงการบริหารจัดการโครงข่ายรถไฟขนาดรางกว้าง  1 เมตรที่มีอยู่เดิมให้เป็นระบบทางคู่ขึ้นไปเพื่อให้มีความรวดเร็วมากขึ้น ลดการรอหลีก  และใช้ความเร็วของเครื่องยนต์ได้มากขึ้น  กับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงขนาดรางกว้าง 1.435  เมตร เชื่อมโยงเมืองสำคัญในประเทศและเชื่อมโยงระหว่างประเทศ)

 

รถไฟทางคู่ บ้านไผ่ นครพนม

โครงการทางรถไฟสายนี้มีระยะเวลายาวนาน 50 ปีก่อนเห็นว่าใกล้เกิดขึ้นจริง ความหวังนี้เกิดขึ้นเมื่อพิจารณาจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่  28 พฤษภาคม  2562 เรื่อง ขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่  - มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม ในวงเงิน 66,848.323 ล้านบาท(รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7) ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (ปีงบประมาณ 2561 – 2568) โดยดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e- bidding) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ             พ.ศ. 2560 หรือที่ประกาศใช้ล่าสุด และเพื่อความคล่องตัวในการบริหารงบประมาณของ รฟท. ให้ รฟท. มีอำนาจในการปรับปรุงรายละเอียดด้านงบประมาณ  ค่าก่อสร้าง  ค่าจ้างที่ปรึกษา  ค่าเวนคืนที่ดิน และรายละเอียดอื่น ๆ ที่สำคัญภายใต้กรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ

2. ให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการทั้งสิ้นโดยให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณรายปี และหรือกระทรวงการคลัง (กค.) จัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศให้ตามความเหมาะสม  เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ  รายละเอียดตามแผนการดำเนินงานและแผนการเบิกจ่ายเงินที่เสนอมา ทั้งนี้ เห็นชอบให้ดำเนินโครงการฯ โดยอนุญาตให้ รฟท.  กู้เงินได้ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 (พระราชบัญญัติการรถไฟฯ) มาตรา 39 (4)

3. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนของโครงการ  โดยให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาต่อไป และให้ รฟท. นำความเห็นของคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (คณะกรรมการ รฟท.) ไปดำเนินการต่อไป

 

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ  สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม ในวงเงิน 66,848.33 ล้านบาท โดยให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

 

1. โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 - 2565 ในแผนงานการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง (การพัฒนาเส้นทางสายใหม่) ระยะที่ 3 และอยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2560  (Action Plan) รวมทั้งโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งตามแนวตะวันออก – ตะวันตก (East-West Corridor) การพัฒนา โครงข่ายรถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันออก – ตะวันตก  ตอนบน (Upper East – West Economic Corridor) ช่วงแม่สอด – พิษณุโลก – เพชรบูรณ์ – ขอนแก่น – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร โดยเป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ จำนวน 2 ทาง ความกว้างของรางขนาด 1 เมตร ระยะทางประมาณ 355 กิโลเมตร มีสถานีใหม่ 30 สถานี 1 ชุมทาง ลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง และย่านกองเก็บตู้สินค้า 3 แห่ง ผ่านพื้นที่ทั้งหมด 70 ตำบล 19 อำเภอ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคามจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดนครพนม คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนมกราคม 2564 และจะเปิดให้บริการได้ในเดือนมกราคม 2568 และจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟ ช่วงชุมทางจิระ- ขอนแก่น ช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ และศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนมที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง และโครงการรถไฟ ช่วงแม่สอด – ตาก – กำแพงเพชร- นครสวรรค์ บ้านไผ่ที่อยู่ระหว่างการศึกษา/ออกแบบโครงการ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการเชื่อมโยงจากท่าเรือย่างกุ้งและท่าเรือละแหม่งในประเทศเมียนมาไปยังท่าเรือดานังและท่าเรือไฮฟองในประเทศเวียดนาม และยังสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศจีนได้ด้วย  คค. คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสาร 3,835,260 คน ในปี 2569 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 2.37 ต่อปี และมีปริมาณการขนส่งสินค้า 748,453 ตัน ในปี 2569 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 1.19 ต่อปี โครงการนี้จะมีผลตอบแทนทางการเงินที่ ร้อยละ 0.42 และผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ที่ ร้อยละ 13.49

 

2. ในส่วนของแหล่งเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการนั้นกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ  มีความเห็นสอดคล้องกันว่าให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินงบประมาณประจำปีให้กับ รฟท. เป็นค่าที่ปรึกษาสำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืน ค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์  และค่าจ้างที่ปรึกษาประกวดราคา  วงเงินรวม 10,255.33 ล้านบาท สำหรับค่าก่อสร้าง จำนวน 55,462.00  ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 1,131 ล้านบาท (รวมเป็นเงิน 56,543.00ล้านบาท) ให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้จากแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสม และให้ รฟท. กู้ต่อโดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณาจัดลำดับความสำคัญในการกู้เงิน  วิธีการกู้เงิน เงื่อนไขและรายละเอียดต่าง ๆ ตามความเหมาะสมและจำเป็นต่อไป  และให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นงบชำระหนี้ให้แก่ รฟท. เพื่อใช้ชำระหนี้คืนแก่แหล่งเงินโดยตรง ทั้งในส่วนขอเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ รฟท. ดำเนินโครงการและอนุมัติให้ รฟท. กู้เงินแล้ว ให้ รฟท. เสนอความต้องการกู้เงิน เพื่อบรรจุโครงการเงินกู้ไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณต่อไป

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7) ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (ปีงบประมาณ 2561 – 2568) ด้วยวิธีประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)

ลักษณะของโครงการจะดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ จำนวน 2 ทาง เป็นคันทางระดับดิน และบางส่วนเป็นทางรถไฟยกระดับ ระยะทางประมาณ 355 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ทั้งหมด 70 ตำบล 16 อำเภอ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม

โดยมีการก่อสร้างสถานีรถไฟใหม่ จำนวน 30 สถานี 1 ชุมทาง ลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง และย่านกองตู้สินค้า 3 แห่ง มีโรงซ่อมบำรุงบริเวณสถานีภูเหล็ก (จังหวัดขอนแก่น) สำหรับซ่อมวาระเบาและซ่อมวาระปานกลาง ส่วนวาระหนักจะส่งไปซ่อมที่โรงรถจักรอุตรดิตถ์

การก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม มีการออกแบบถนนยกข้ามทางรถไฟ (Overpass) จำนวน 81 แห่ง มีถนนลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) จำนวน 245 แห่ง เส้นทางรถไฟสายนี้กำหนดให้ก่อสร้างรั้วสองข้างทางตลอดแนวเส้นทางรถไฟ   ด้านการซ่อมบำรุงมีโรงซ่อมบำรุงบริเวณสถานีภูเหล็ก (จังหวัดขอนแก่น) สำหรับซ่อมวาระเบาและซ่อมวาระปานกลาง ส่วนวาระหนักจะส่งไปซ่อมที่โรงรถจักรอุตรดิตถ์

ด้วยความกว้างของราง ขนาด 1 เมตร จึงสามารถเชื่อมต่อกับระบบรางเดิมของ ร.ฟ.ท.ที่มีอยู่ (และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน) รองรับการเดินรถขนาดความเร็วสูงสุดที่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทางรถไฟเป็นแบบใช้หินโรยทางทั้งทางระดับพื้นดิน สะพาน และโครงสร้างยกระดับที่เป็นคอนกรีต คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนมกราคม 2564 แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2567 เปิดบริการปี 2568

#