มาตรการทางกฎหมาย-ภาษีหนุนการใช้พลาสติกชีวภาพหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า
  • 10 มิถุนายน 2019 at 10:07
  • 1819
  • 0

มาตรการทางกฎหมาย-ภาษีเพื่อส่งเสริมการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมนั้นจำเป็น ทั้งการสนับสนุนส่งเสริมโดยตรงหรือโดยอ้อม  ทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ ทั้งนี้ล่าสุดคือมาตรการสนับสนุนทางภาษีเพื่อให้มีการใช้พลาสติกชีวภาพมากขึ้น

ใช้พลาสติกชีวภาพ – หักค่าใช้จ่ายได้ 1.25 เท่า

ล่าสุดมีมาตรการทางกฎหมาย-ภาษีจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่  4  มิถุนายน  2562 เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

2. ให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

3. ให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

กค. เสนอว่า

1. แนวทางกำหนดมาตรการทางการเงินหรือการคลังในการสนับสนุนผู้ประกอบการหรือประชาชนที่สามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกที่จะกลายเป็นขยะตกค้างที่ย่อยสลายได้ตามมติคณะรัฐมนตรี (17 กรกฎาคม 2561) กค. พิจารณาแล้วเห็นสมควรกำหนดมาตรการโดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายจากการซื้อบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพที่ได้รับใบรับรองผลิตภัณฑ์จากกระทรวงอุตสาหกรรม มาหักเป็นรายจ่ายได้อีกเป็นจำนวนร้อยละยี่สิบห้า ทั้งนี้ สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

2. กค. ได้พิจารณาการสูญเสียรายได้ของรัฐตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยสถาบันพลาสติกได้จัดทำประมาณการตลาดที่คาดว่าจะตอบรับมาตรการการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีว่า ผู้ประกอบการจะเปลี่ยนมาใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพเพื่อการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพประมาณร้อยละ 10 ต่อปี ของปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีการผลิตอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 1,300 ล้านบาท แต่จะช่วยส่งเสริมการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นทางเลือกของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ทดแทนพลาสติกที่สลายตัวไม่ได้ทางชีวภาพ อันจะช่วยส่งเสริมให้บรรลุเป้าประสงค์ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ช่วยลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์และส่งเสริมให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจรวมทั้งประชาชนมีความสนใจตระหนักในการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ช่วยลดปริมาณขยะและสิ่งตกค้างที่ไม่ย่อยสลาย ส่งผลดีในเรื่องการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศและลดงบประมาณของภาครัฐในการกำจัดขยะตกค้างและการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละยี่สิบห้าของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ และได้รับการรับรองจากกระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อมูลเพิ่มเติม

ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่า ประเทศไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน แต่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้เพียงเฉลี่ยปีละ 0.5 ล้านตันเท่านั้น จากการดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นในรูปแบบสมัครใจลดเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในอนาคต ภาพรวม 1 ปีที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้ความร่วมมือย่างดี ทั้งการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม โดยผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ 5 รายใหญ่ ร่วมกันเลิกใช้แคปซีล ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ถือเป็นการเลิกใช้แคปซีลถึงร้อยละ 80 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 20 ในกลุ่มผู้ผลิตรายย่อย คาดว่าภายในสิ้นปี 2562 นี้จะเลิกใช้แคปซีลได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์

สำหรับพลาสติกไมโครบีด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศห้ามผลิต นำเข้าและจำหน่ายเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของพลาสติกไมโครบีด ภายใต้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข

การควบคุมผลิตภัณฑ์พลาสติกไม่ให้มีส่วนผสมของสารอ็อกโซ่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ออกประกาศห้ามนำเข้า ผลิต และจำหน่าย สารอ็อกโซ่

ส่วนการลด เลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก และหลอดพลาสติกภายในปี 2565 ในเบื้องต้นดำเนินงานโดยสมัครใจทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น มาตรการลด และคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ การลดเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาเก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านเครื่องดื่มชาหรือกาแฟโดยมีรูปแบบกลวิธีที่หลากหลาย

อนึ่ง สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายจากการซื้อบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพที่ได้รับใบรับรองผลิตภัณฑ์จากกระทรวงอุตสาหกรรม มาหักเป็นรายจ่ายได้อีกเป็นจำนวนร้อยละยี่สิบห้า  นั่นคือ เมื่อมีค่าใช้จ่ายในการซื้อบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีคุณสมบัติครบถ้วนดังกล่าวไป 100  บาท  สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 125  บาท  นั่นคือหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 หรือ 1.25 เท่า

#