กลุ่มปตท.และกัลฟ์ฯ ร่วมมือ กนอ. พัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 วงเงินกว่า 76,000 ล้านบาท
  • 15 มิถุนายน 2019 at 11:38
  • 1852
  • 0

กลุ่มบริษัทกิจการร่วมค้า บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และบริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล (บริษัทลูกกลุ่ม ปตท.) เตรียมเงินวงเงิน 55,400 ล้านบาท ร่วมพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่  3  ฝ่ายกนอ.ร่วมลงทุน 21,300 ล้านบาท   พร้อมเริ่มงานถมทะเลเพื่อพัฒนาทำคลัง LNG

 

ผลทางกฎหมายจากมติครม.

มติคณะรัฐมนตรีวันที่  11 มิถุนายน  2562 เรื่อง  ขอปรับปรุงหลักการของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบการปรับปรุงหลักการของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3   ช่วงที่ 1 โดย

1) เปลี่ยนแปลงจำนวนเงินร่วมลงทุนของรัฐ หักค่าสิทธิการร่วมลงทุนจากเอกชนสุทธิ 710 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 30 ปี

2) เปลี่ยนแปลงผลตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จากการร่วมลงทุนกับเอกชนช่วงที่ 1 และช่วงที่ 2 รวมเท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิประมาณ 6,721 ล้านบาท (อัตราคิดลดร้อยละ 6.48)

2. เห็นชอบผลการเจรจาต่อรองกับผู้ยื่นข้อเสนอตามที่เสนอ และให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ เจรจาร่างสัญญาร่วมลงทุนกับผู้ยื่นข้อเสนอ และเสนอผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

 

สาระสำคัญของเรื่อง

1. คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้มีการประชุมครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เวลา 15.00 – 16.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบการเปลี่ยนแปลงหลักการของโครงการฯ ผลการเจรจาและผลการดำเนินการของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 21 พฤษภาคม 2562 แล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.1 คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาความเห็นของสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และข้อสังเกตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 21 พฤษภาคม 2562 และประกอบการดำเนินการ ดังนี้

1) คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการเจรจาต่อรองกับผู้ยื่นข้อเสนอ อีก 3 ครั้ง (วันที่ 22 24 และ 27 พฤษภาคม)  รวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง เป็นการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ จำนวน 8 ครั้ง และการประชุมคณะทำงานย่อยที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ มอบหมาย จำนวน 1 ครั้ง โดยผลการเจรจาต่อรองกับผู้ยื่นข้อเสนอจนถึงที่สุดแล้ว ผู้ยื่นข้อเสนอขอรับเงินร่วมลงทุนของรัฐ จำนวน 1,010 ล้านบาทต่อปี และจ่ายค่าสิทธิการร่วมลงทุน จำนวน 300 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นจำนวนเงินร่วมลงทุนสุทธิ เป็นระยะเวลา 30 ปี รวมเป็นเงิน 21,300 ล้านบาท ซึ่งผลการเจรจาเป็นไปตามที่ กพอ.  มีมติเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 และคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562

2) ผลการเจรจาต่อรองข้างต้นส่งผลให้ กนอ. สามารถลดรายจ่ายลงได้เป็น จำนวนเงินสุทธิ 24,180 ล้านบาท โดยผู้ยื่นข้อเสนอเริ่มต้นให้ กนอ. จ่ายเงินร่วมลงทุนของรัฐสุทธิ 1,516 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 30 ปี รวมเป็นเงินที่ กนอ. ต้องชำระสุทธิ 45,480 ล้านบาท

3) ผลการเจรจาต่อรองกับผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้เจรจาจนถึงที่สุดแล้ว ผู้ยื่นข้อเสนอได้ขอรับเงินร่วมลงทุนสุทธิจำนวน 710 ล้านบาทต่อปี ซึ่งยังสูงกว่าเงินร่วมลงทุนสุทธิที่ ครม. ให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 โดยมีสาเหตุมาจาก

1) สมมติฐานอัตราคิดลดที่ร้อยละ 2.5 เป็นอัตราต้นทุนทางการเงินของรัฐ ซึ่งใช้เป็นสมมติฐานเบื้องต้น (Reference Price) ในการกำหนดจำนวนเงินร่วมลงทุนของรัฐในแต่ละปีในการเริ่มเจรจากับเอกชน ซึ่งอัตราดังกล่าวไม่สะท้อนถึงข้อเท็จจริงในส่วนของต้นทุนทางการเงินของเอกชนจากการที่เอกชนเป็นผู้จัดหาเงินเพื่อมาลงทุน

(2) ในกรณีดังกล่าวที่ปรึกษาทางการเงินได้สรุปว่าต้นทุนในการระดมทุนของภาคเอกชนในธุรกิจที่ใกล้เคียงกับโครงการนี้ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5-6 ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เจรจาต่อรองอัตราคิดลดดังกล่าวลงเหลือร้อยละ 4.69

ทั้งนี้ ผลจากการปรับปรุงหลักการของโครงการฯ สามารถสรุปได้ ดังนี้

1.จำนวนเงินร่วมลงทุนของรัฐ (ต่อปี)   ครม. มีมติเห็นชอบ(30 ต.ค. 61) 616.36 ล้านบาท ครม. มีมติรับทราบ1,020 ล้านบาท กพอ. มีมติรับทราบผลการเจรจากับผู้ยื่นข้อเสนออีกครั้ง(27 พ.ค. 62) 1,010 ล้านบาท

2.ค่าสิทธิการร่วมลงทุน (ต่อปี)ครม. มีมติเห็นชอบ(30 ต.ค. 61)100  ล้านบาท  ครม. มีมติรับทราบ 300ล้านบาท    กพอ. มีมติรับทราบผลการเจรจากับผู้ยื่นข้อเสนออีกครั้ง(27 พ.ค. 62) 300  ล้านบาท

3.จำนวนเงินร่วมลงทุนสุทธิ (ต่อปี)ครม. มีมติเห็นชอบ(30 ต.ค. 61) 516.36 ล้านบาท ครม. มีมติรับทราบ 720 ล้านบาท  กพอ. มีมติรับทราบผลการเจรจากับผู้ยื่นข้อเสนออีกครั้ง(27 พ.ค. 62)  710  ล้านบาท

4.ระยะเวลาร่วมลงทุน (ปี)  ครม. มีมติเห็นชอบ(30 ต.ค. 61) 30  ปี ครม. มีมติรับทราบ 30 ปี กพอ. มีมติรับทราบผลการเจรจากับผู้ยื่นข้อเสนออีกครั้ง(27 พ.ค. 62 )30  ปี

5.อัตราคิดลดเงินร่วมลงทุนของรัฐ (ร้อยละ) ครม. มีมติเห็นชอบ(30 ต.ค. 61)  2.50 ครม. มีมติรับทราบ4.80 กพอ. มีมติรับทราบผลการเจรจากับผู้ยื่นข้อเสนออีกครั้ง(27 พ.ค. 62)4.69

6.อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ของ กนอ. (ร้อยละ) ครม. มีมติเห็นชอบ(30 ต.ค. 61) 11.80  ครม. มีมติรับทราบ 9.14  กพอ. มีมติรับทราบผลการเจรจากับผู้ยื่นข้อเสนออีกครั้ง(27 พ.ค. 62)  9.21

7.อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ของ เอกชน (ร้อยละ)  ครม. มีมติเห็นชอบ(30 ต.ค. 61) 10.06  ครม. มีมติรับทราบ 10.75 กพอ. มีมติรับทราบผลการเจรจากับผู้ยื่นข้อเสนออีกครั้ง(27 พ.ค. 62) 10.73

8.มูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์สุทธิของโครงการ (NPV) ของ กนอ. จากการร่วมลงทุนกับเอกชน ช่วงที่ 1 และช่วงที่ 2 ณ อัตราคิดลดร้อยละ 6.48 ครม. มีมติเห็นชอบ(30 ต.ค. 61) 9,311 ล้านบาท ครม. มีมติรับทราบ   6,606 ล้านบาท กพอ. มีมติรับทราบผลการเจรจากับผู้ยื่นข้อเสนออีกครั้ง(27 พ.ค. 62)6,721 ล้านบาท

9.มูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์สุทธิของโครงการ (NPV) ของ เอกชน  ณ อัตราคิดลดร้อยละ 7.47 ครม. มีมติเห็นชอบ(30 ต.ค. 61) 12,981 ล้านบาท ครม. มีมติรับทราบ 14,371  ล้านบาท กพอ. มีมติรับทราบผลการเจรจากับผู้ยื่นข้อเสนออีกครั้ง(27 พ.ค. 62)14,298  ล้านบาท

 

1.2 ความเห็นและมติที่ประชุม กพอ. ครั้งที่ 5/2562 ดังนี้

1) ความเห็นที่ประชุม

(1) ให้นำผลการเจรจาและผลการดำเนินการของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 21 พฤษภาคม 2562 เสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

(2) ขอให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ปรับความเห็นที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการขอปรับปรุงหลักการของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ที่ สกพอ. เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม  2562 ให้สอดคล้องกับความเห็นที่ประชุมในวันนี้ โดยเฉพาะข้อสังเกตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และความเห็นสำนักงบประมาณเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

(3) นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรรมการ มีหนังสือลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ถึงประธาน กพอ. ขอไม่ร่วมลงมติเกี่ยวกับโครงการฯ เนื่องจากมีการปฏิบัติงานอันอาจก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest)

2) มติที่ประชุม

(1) รับทราบผลการเจรจาต่อรองกับผู้ยื่นข้อเสนออีกครั้งหนึ่ง ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 21 พฤษภาคม 2562  ของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ตามที่เสนอ

(2) ให้นำเสนอผลการเจรจาและผลการดำเนินการของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 21 พฤษภาคม 2562  ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติปรับปรุงหลักการของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ต่อไป

 

2. การประชุมชี้แจงข้อมูลการขอปรับปรุงหลักการของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สกพอ. ในฐานะหน่วยงานหลักรับผิดชอบโครงการฯ ร่วมกับ กนอ. ได้จัดให้มีการประชุมชี้แจงข้อมูลการขอปรับปรุงหลักการของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ร่วมกับ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงบประมาณ และผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562 เวลา 9.30 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ EEC ชั้น 3 อาคาร กสท. โทรคมนาคม บางรัก โดยมีเลขาธิการ สกพอ. เป็นประธาน เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและหลักการโครงการฯ ให้เข้าใจตรงกันในทุกประเด็น โดยที่ประชุมทุกฝ่ายรับทราบและเห็นชอบคำชี้แจงโดยไม่มีความเห็นเพิ่มเติม

 

ขยายความ

มติครม. ที่เป็นลายลักษณ์อักษรจาก  https://www.thaigov.go.th/news/contents/index/23  ตามที่นำเสนอข้างต้น มีการสรุปและขยายความโดย โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบการขอปรับปรุงหลักการของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ  โดยให้มีการปรับปรุงจำนวนเงินร่วมลงทุนของรัฐในโครงการนี้ตามที่การนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้มีการเจรจาเพิ่มเติมกับภาคเอกชนผู้ชนะการประมูลในโครงการ ได้แก่ กลุ่มบริษัทกิจการร่วมค้า บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และบริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล (บริษัทลูกกลุ่ม ปตท.) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอไปก่อนหน้านี้

สาระสำคัญคือการให้เปลี่ยนแปลงจำนวนเงินร่วมลงทุนของรัฐ หักค่าให้สิทธิการร่วมลงทุนของภาคเอกชนจากเดิมที่ กนอ.ต้องจ่ายให้ภาคเอกชน 720 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 30 ปี ปรับเปลี่ยนเป็น กนอ.ร่วมลงทุนปีละ 710 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 30 ปี รวมวงเงิน 21,300 ล้านบาท

ทั้งนี้ ส่งผลให้ผลตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำของ กนอ.จากการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนช่วงที่ 1 และช่วงที่ 2 รวมเท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 6,721 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ กนอ.จะได้รับอยู่ที่ 6,606 ล้านบาท โดยเป็นผลตอบแทนในช่วงโครงการช่วงที่ 1 อยู่ที่ 139 ล้านบาท

ส่วนผลตอบแทนโครงการช่วงที่ 2 กนอ.จะได้รับ 6,582 ล้านบาท โดยการเจรจานี้เป็นการคิดตามสมมุติฐานอัตราคิดลดจากอัตราดอกเบี้ยที่ภาคเอกชนสามารถกู้ได้ที่ประมาณ 4% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าในครั้งที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2561 ซึ่งเคยใช้อัตราส่วนเงินกู้ 2.5% ต่อปีซึ่งเป็นอัตราส่วนที่เป็นการกู้ยืมระหว่างภาครัฐหรือเป็นไปตามสัดส่วนเงินกู้พันธบัตรรัฐบาล (Reference Price)

ทั้งนี้ ผลตอบแทนทางการเงินของ กนอ.ตลอดโครงการคิดเป็นอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 9.21% ส่วนผลตอบแทนของภาคเอกชนที่ชนะการประมูลหลังการต่อรองลดลงจากเดิม 14,371 ล้านบาท เป็น 14,298 ล้านบาท คิดเป็น FIRR 10.73%

นายณัฐพร กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปให้มีการเจรจาร่างสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนและเสนอผลการเจรจาสัญญาให้กับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และ ครม.พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

นอกจากนี้ กนอ.ได้นำเสนอรายละเอียดของโครงการให้ที่ประชุม ครม.รับทราบว่าโครงการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 เป็นโครงการสำคัญในอีอีซีมีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568 มูลค่าการก่อสร้างโครงการรวม 55,400 ล้านบาท โดยเป็นโครงการร่วมลงทุนระห่างเอกชนกับภาครัฐ

ทั้งนี้ กนอ.ร่วมลงทุนตลอดทั้งโครงการวงเงินรวม 27,714.64 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าธรรมเนียมการใช้ประโยชน์ที่ดิน 199.76 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ท่าเทียบเรือ 1,100.15 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการ 1534.20 ล้านบาท ต้นทุนค่าบริการสาธารณูปโภค 490.69 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายตามมาตรการผลกระทบสิ่งแวดล้อม 89.84 ล้านบาท และเงินที่กนอ.ร่วมลงทุนในโครงการในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 24,300 ล้านบาท

รวมทั้งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จโครงการนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพการขนส่งท่าเทียบเรือก๊าซจำนวน 3 ท่า ในพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่าประมาณ 1,415 เมตร สามารถรองรับสินค้าได้รวมกว่า 10.8 ล้านตันต่อปี ส่วนท่าเรือสินค้าเหลวมีท่าเทียบเรือจำนวน 2 ท่า มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร รองรับสินค้าได้ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี คลังสินค้าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องโดยมีพื้นที่หลังท่าประมาณ 150 ไร่ โดยรายละเอียดเป็นไปตามที่ กนอ.กำหนดภายหลัง

 

ปตท. พร้อมด้านวงเงินลงทุน

ข้อมูลจาก ปตท. นางสาวพรรณพร ศาสนนันท์ ผู้จัดการฝ่ายผู้ลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างทบทวนแผนการลงทุน 5 ปีใหม่ (2562-66) จากเดิมที่ตั้งงบลงทุนที่ 1.67แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการรีวิวงบลงทุนทุกครึ่งปี ซึ่งงบลงทุนเดิมจะเน้นลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติราว 45% เช่น การลงทุนท่อก๊าซฯ เส้นที่ 5 โครงการสร้างสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ระยะ 2 เป็นต้น

ส่วนความคืบหน้าการร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 (ช่วงที่ 1)วงเงินลงทุน 5.54 หมื่นล้านบาทนั้น ขณะนี้เตรียมถมทะเลเพื่อพัฒนาทำคลัง LNG หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบปรับสัดส่วนรัฐร่วมลงทุนโครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 แล้ว

โครงการดังกล่าว บริษัทกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีที แทงค์ ได้ยื่นประมูลเพียงรายเดียว โดยบริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ถือหุ้นใหญ่ 70% และบริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินอลในกลุ่ม ปตท.จะถือหุ้น 30%

ส่วนโครงการท่าเทียบเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ในโครงการนี้อยู่ระหว่างเจรจากับพาร์ตเนอร์ คือ กัลฟ์ฯ คาดว่า ปตท.จะถือหุ้นราว 30%

สำหรับแหล่งเงินทุนนั้น บริษัทมีกระแสเงินสดในมือราว 1 แสนล้านบาท ดังนั้นในปีนี้จึงไม่มีแผนออกหุ้นกู้แต่อย่างใด

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยให้เอกชนเข้าร่วมทุน เป็นการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ที่ตั้งโครงการ   ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่หน้าท่า 550 ไร่ และพื้นที่หลังท่า 450 ไร่ ความยาวหน้าท่ารวมกัน 2,229 เมตร

สภาพแวดล้อมที่ตั้งโครงการปัจจุบัน  ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นท่าเรือน้ำลึกที่ดำเนินการตามมาตรฐานสากลและเป็นท่าเรืออุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุด ในปี พ.ศ. 2559 มีปริมาณการขนถ่ายสินค้าผ่านท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดประมาณ 43 ล้านตันต่อปี โดยมีสัดส่วนสินค้าประเภทน้ำมันและก๊าซประมาณร้อยละ 57 ถ่านหินประมาณร้อยละ 18 เคมีภัณฑ์ประมาณร้อยละ 16 และอื่น ๆ ประมาณร้อยละ 9 มูลค่าสินค้าที่ขนถ่ายผ่านท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดทั้งสิ้นประมาณ 430 ล้านบาท  โดยมีผู้ประกอบการจำนวน 12 ราย จำนวนท่าเทียบเรือให้บริการ 32 ท่า ซึ่งเป็นผู้ให้บริการท่าเทียบเรือเฉพาะกิจ จำนวน 9 ราย และผู้ให้บริการท่าเทียบเรือสาธารณะ จำนวน 3 ราย โดยในปัจจุบันมีการใช้งานเต็มศักยภาพแล้วจึงมีความจำเป็นต้องขยายท่าเรือ

วัตถุประสงค์ของโครงการ  เพิ่มความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งหลังจากดำเนินการพัฒนาแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับสินค้าผ่านท่า (สินค้าด้านปิโตรเคมี และก๊าซธรรมชาติ) ได้เพิ่มอีก 19 ล้านตันต่อปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า

องค์ประกอบโครงการ  โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยให้เอกชนเข้าร่วมทุน ประกอบด้วย

งานถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่ เพื่อรองรับการก่อสร้างท่าเทียบเรือสินค้าเหลว ก๊าซธรรมชาติ และ พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมด้านพลังงาน

งานขุดลอกร่องน้ำและแอ่งกลับเรือความลึก 16 เมตร

งานระบบสาธารณูโภค

งานอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือบริเวณท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3

สำหรับการพัฒนาเพื่อรองรับสินค้าเหลว สินค้าเทกองและสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ แบ่งออกเป็น 6 ส่วน คือ (1) ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว 2 ท่า มีพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร (2) ท่าเทียบเรือก๊าซ 3 ท่า มีพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 1,415 เมตร  (3) ท่าเทียบเรือบริการ (4) คลังสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติ 150 ไร่ (5) บ่อเก็บกักตะกอน 450 ไร่ และ (6) เขื่อนกันคลื่น 2 ช่วง ความยาวรวม 1,627 เมตร

มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นในงานโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เท่ากับ 10,154 ล้านบาท

ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ (ก่อสร้างและให้บริการ) ให้เอกชนร่วมทุนฯ  ประมาณ 30 - 50 ปี ขึ้นอยู่กับผลการศึกษา

#