G 20 สร้างเศรษฐกิจดิจิทัล และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
  • 29 มิถุนายน 2019 at 10:37
  • 1245
  • 0

การพบปะประชุมร่วมกันระดับผู้นำประเทศไม่ว่าเป็นทวิภาคีหรือพหุภาคี ”แทบจะเป็นพิธีกรรม”  แสดงถึงการจบสิ้นการเจรจา  ต่อรอง ถกเถียงของทีมงานด้านต่างๆ  ของแต่ละประเทศ  การพบปะของผู้นำ  การร่วมประชุม  ร่วมแสดงมติรับรองแถลงการณ์  และพิธีกรรมต่างๆ  เป็นการรับรองผลการทำงานของทีมงานที่ผ่านมา   แต่อย่างไรก็ตามระหว่างการประชุม  การพบปะของทีมงาน  และการพบปะของผู้นำประเทศ ย่อมมีเรื่องใหญ่-เรื่องเล็ก และเรื่องปลีกย่อยแต่สำคัญให้ดำเนินการต่อเนื่อง

การประชุมผู้นำ G20 ประจำปี 2562 ณ นครโอซากา  ก็เช่นกัน

 

G20 หนุนเศรษฐกิจดิจิทัล

หลักการเป็นอย่างไรดูได้จากมติคณะรัฐมนตรี วันที่  25  มิถุนายน  2562 เรื่อง การเข้าร่วมการประชุมผู้นำ G20 ประจำปี 2562 ซึ่งจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ผู้นำ G20  ณ นครโอซากา และร่างแถลงการณ์โอซากาว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อการเข้าร่วมการประชุมผู้นำ G20 ประจำปี 2562 ซึ่งจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ผู้นำ G20 (G20 Osaka  Leaders’ Declaration) ณ นครโอซากา และเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์โอซากาว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล (Osaka Declaration on Digital Economy)  ซึ่งจะมีการรับรองโดยผู้นำประเทศที่เข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับข้างต้นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ทั้ง 2 ฉบับ มีดังนี้

1. สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ผู้นำ G20 ประจำปี 2562

(1) แสดงเจตนารมณ์ของผู้นำประเทศสมาชิก G20 ในการแสวงหาแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก และกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ เพื่อสร้างโลกที่ยั่งยืนและที่ทุกคนมีส่วนร่วมโดยเน้นความร่วมมือในการปรับปรุงกฎระเบียบระหว่างประเทศให้สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน

(2) ย้ำความสำคัญของการประสานนโยบายของประเทศสมาชิกเพื่อรับมือกับความท้าทายหลัก ๆ ที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโลก สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งผ่านการส่งเสริมการค้าเสรีและนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงการนำเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบดิจิทัล และการต่อต้านการทุจริตและปัญหาคอร์รัปชั่น

(3) ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้สูงวัย เยาวชน สตรี และคนพิการ โดยเน้นการส่งเสริมพฤฒพลังของผู้สูงอายุเพื่อให้สามารถมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานแม้ว่าจะมีอายุสูงขึ้น ส่งเสริมให้ประเด็นด้านเพศเป็นกระแสหลักในทุกแง่มุมของนโยบายลดช่องว่างระหว่างเพศในตลาดแรงงาน ส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการให้แก่สตรีและเยาวชน

(4) ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร โดยการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ การลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ปรับปรุงภาวะโภชนาการ สำหรับประชากรโลกที่เพิ่มจำนวนขึ้น ให้ความสำคัญกับการใช้และเข้าถึงเทคโนโลยี พัฒนาห่วงโซ่มูลค่าด้านเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น

(5) คงบทบาทนำในการสนับสนุนการอนุวัติวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และวาระปฏิบัติการแอดดิสอาบาบา รวมถึงจะสนับสนุนความพยายามของประเทศกำลังพัฒนาในการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

(6) มุ่งมั่นที่จะลงทุนในทุนมนุษย์และส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพที่ทุกคนเข้าถึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) โดยย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือใต้ ใต้ และไตรภาคีในมิตินี้

(7) แสดงความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่การมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยให้ความสำคัญกับการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน การส่งเสริมสุขภาพและโภชนาการ เสริมสร้างศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ด้าน การสาธารณสุข และส่งเสริมการใช้งานดิจิทัลและเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการระดมเงินทุนสำหรับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศกำลังพัฒนาและการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพ

(8) ตระหนักถึงความจำเป็นในการจัดการกับความท้าทายระดับโลก ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนทรัพยากรและพลังงาน ขยะพลาสติกทางทะเล การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

(9) เน้นความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการอพยพและการถูกบังคับให้พลัดถิ่น ผ่านการร่วมมืออย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระดับโลกในการจัดการกับต้นตอของปัญหา โดยความร่วมมือกับประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

 

2. สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์โอซากาว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล

(1) เห็นพ้องว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัลได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อทุกมิติของเศรษฐกิจและแนวทางการดำรงชีวิต และยืนยันถึงความสำคัญของการปรับและสร้างกฎระเบียบใหม่ ๆ เพื่อให้ทันต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการหารือเชิงนโยบายระหว่างประเทศด้านดิจิทัล

(2) ประกาศการเปิดตัวของ โอซากาแทร็ก (Osaka Track)” ซึ่งเป็นกระบวนการที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความพยายามเพื่อจัดทำกฎระเบียบระหว่างประเทศ

(3)ให้ความสำคัญกับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกโดยเฉพาะการออกแถลงการณ์ร่วมการเริ่มเจรจาจัดทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของสมาชิกองค์การการค้าโลกบางประเทศ ที่เมืองดาวอส เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 และยืนยันความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันผลักดันพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการหารือที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมก่อนการประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก สมัยที่ 12 ในเดือนมิถุนายน 2563

 

ทั้งนี้ การประชุมผู้นำ G20 ประจำปี 2562 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 29 มิถุนายน 2562 ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น

ข้อมูลเสริม

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 28 มิถุนายน  2562  ตามเวลาท้องถิ่นนครโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ที่ห้องประชุมเต็มคณะ (Plenary Room) ชั้น 1 อาคาร 6 ศูนย์ประชุมอินเท็กซ์ โอซาก้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่ม G20 ช่วงแรกหัวข้อ “เศรษฐกิจโลก การค้าและการลงทุน”   โดยนายกรัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนมุมมองว่าภายหลังจากที่ไทยได้เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน พบว่าภาวะเศรษฐกิจโลกประสบกับความไม่แน่นอน เหตุมาจากปัจจัยหลักคือการขาดความเชื่อมั่นต่อระบบการค้าพหุพาคี นำไปสู่ความตึงเครียดทางการค้า ทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกมีความเปราะบาง และกระทบต่อบรรยากาศของความร่วมมือระหว่างประเทศที่สร้างสรรค์

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า แนวทางการแก้ไข สอดคล้องกับหัวข้อ วาระการเป็นประธานอาเซียนของไทย คือ ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน (Advancing Partnership for Sustainability)โดยทุกประเทศควรมองผลประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว และร่วมมือกันสร้างระบบเศรษฐกิจที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและยั่งยืน ทั้งนี้ ผู้นำอาเซียนได้รับรองเอกสารสำคัญที่ระบุถึงแนวทางความร่วมมือในอาเซียนกับหุ้นส่วนภายนอก 2 ฉบับ ได้แก่ วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน และมุมมองอาเซียนต่ออินโดแปซิฟิก ซึ่งย้ำถึงการส่งเสริมสันติภาพ และเสถียรภาพ การพัฒนาและก้าวไปด้วยกัน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายกรัฐมนตรี กล่าวเสนอแนวทางความร่วมมือระหว่างกัน

ประการแรก ย้ำหลักการเปิดเสรีทางการค้าและการรวมตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของโลก อาเซียนมีการรวมตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ไทยมุ่งมั่นให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP บรรลุผลภายในปีนี้ หวังว่า RCEP จะเป็นเขตการค้าเสรีที่ประกอบด้วยทั้งสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาที่ครอบคลุมร้อยละ 31.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก

ประการที่สอง เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการค้าพหุภาคี และพัฒนาความร่วมมือเพื่อส่งผลปฏิรูปไปยังองค์การ WTO ให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับประเด็นการค้ายุคใหม่ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ประการที่สาม สร้างความสอดคล้อง (synergy) ระหว่างประเทศ ภูมิภาค และกรอบความร่วมมือ ทั่วโลก ผ่านการส่งเสริมความเชื่อมโยงทุกระดับ โดยในระดับอาเซียน ไทยผลักดันแนวคิดความเชื่อมโยง อย่างไร้รอยต่อ (Seamless ASEAN) และขยายแนวคิด “connecting the connectivities” เพื่อเชื่อมโยงกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ACMECS ASEAN BIMSTEC ACD และ IORA เป็นต้น

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างหุ้นส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะกับภาคธุรกิจ เพื่อผลักดันแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ การลดความเหลื่อมล้ำ การรับมือกับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก สังคมผู้สูงอายุ การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่อาเซียนกำลังจัดตั้งที่ประเทศไทย ในปี 2562 นี้

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

กลุ่ม 20 (อังกฤษ: Group of Twenty) ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1999  (พ.ศ. 2542) เป็นกลุ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้บริหารธนาคารกลางจากประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 19 ประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ (กลุ่ม 8) คือ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี รัสเซีย และสหรัฐ และกลุ่มประเทศระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่อีก 11 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี กลุ่มประเทศเหล่านี้มีประชากรเกือบ 2 ใน 3 ของโลก ครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก และร้อยละ 75 ของการค้าโลก

ต่อมาในปี 2008 เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลก การประชุมระดับรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางต่างๆ ในกลุ่ม G20 จึงถูกยกระดับขึ้นเป็นการประชุมระดับประมุขแห่งรัฐและรัฐบาล เพื่อส่งเสริมความร่วมมือแก้ไขวิกฤตการณ์ที่ดียิ่งขึ้น โดยได้จัดการประชุมสุดยอดครั้งแรกที่กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. สหรัฐอเมริกา ในปีเดียวกัน

ในฐานะที่เป็นการประชุมไม่เป็นทางการ G20 จึงไม่มีสภาปกครองหรือหน่วยงานถาวร แต่ประเทศในกลุ่ม G20 จะผลัดกันขึ้นรับตำแหน่งประธานและเจ้าภาพการของประชุมสุดยอดในแต่ละครั้ง ตั้งแต่ปี 2008 จนถึงปัจจุบัน การประชุม G20 จัดขึ้นทั้งหมด 13 ครั้งแล้ว โดยผู้นำในกลุ่ม G20 เคยมาพบปะกัน 2 ครั้งที่กรุงลอนดอนและเมืองพิตต์สเบิร์กในปี 2009 เมืองโตรอนโตและกรุงโซลในปี 2010 หลังจากนั้นการประชุมสุดยอดผู้นำจึงเริ่มต้นในปี 2011 โดยจัดปีละครั้งในเมืองสำคัญต่างๆ ได้แก่ คานส์, โลส คาร์โบส, เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก, บริสเบน, อันตัลยา, หางโจว, ฮัมบูร์ก และบัวโนสไอเรส

หัวข้อหลักของการประชุมสุดที่จัดขึ้นเหล่านี้ มักเกี่ยวข้องกับการรับมือภาวะเศรษฐกิจถดถอย การควบคุมตลาดการเงินระหว่างประเทศ การต่อสู้การหลีกเลี่ยงภาษี และการส่งเสริมนโยบายการพัฒนา

ส่วนการประชุมสุดยอดที่จัดขึ้นในนครโอซากานั้น เน้นประเด็นด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระดับโลก ด้านนวัตกรรม ด้านการพัฒนา ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น การจ้างงาน การส่งเสริมสตรี และสุขภาพ เป็นต้น

#