พลังแห่งความเชื่อมั่นมาจากความจริงปัจจุบันที่ผลักดันหรือฉุดรั้งอนาคต
  • 20 กรกฎาคม 2019 at 19:02
  • 1229
  • 0

 

ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้วคืออดีต  ความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นคือปัจจุบัน  ความจริงที่เชื่อว่าอาจเกิดขึ้นคือ “อนาคต”   ประโยชน์จากความเป็นจริงในอดีตมากน้อยเพียงใดอยู่ที่มุมมอง การวิเคราะห์ เก็บรับบทเรียน ประโยชน์จากความเป็นจริงในปัจจุบันคือการประยุกต์ปรับตัว  ส่วนความเชื่อมั่นต่ออนาคตเป็นอย่างไรย่อมส่งผลในการเตรียมตัว  เมื่อเตรียมตัวย่อมมีผลต่อปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้คือพลังแห่งความเชื่อมั่น

ความเชื่อมั่นเฉพาะบุคคลมีพลังระดับหนึ่ง  ความเชื่อมั่นรวมหมู่พลังย่อมเพิ่มขึ้น  ความเชื่อมั่นของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพลังมากกว่าผลสะเทือนย่อมมากตามไปด้วย

เรื่องเช่นนี้ส่งผลต่อการตัดสินใจต่างๆ ทั้งการลงทุนภาคอุตสาหกรรม การลงทุนธุรกิจ SME  การลงทุนอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์  การบริโภค  การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ  เป็นต้น

ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ค่ากลางคือ 100

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index: TISI)  จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  จัดทำเป็นดัชนีประจำเดือนโดยจัดส่งแบบสอบถามให้สมาชิกสภาอุตสาหกรรมตอบ ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม  อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่  และแบ่งตามภูมิภาคเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมภาคกลาง  ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้  ที่สำคัญจุดหลักอยู่ที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศร้อยละ 80 ส่วนที่เหลือร้อยละ 20 เน้นตลาดต่างประเทศ

การอ่านค่าดัชนี

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ(TISI) มีค่าอยู่ระหว่าง 0 - 200 ซึ่งมีความหมายดังนี้

ค่าดัชนีที่อยู่ระดับต่ำกว่า  100  แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นว่าภาวการณ์ด้านนั้นๆ จะมีสภาพแย่ลง หรืออยู่ในระดับที่ไม่ดี

ค่าดัชนีที่อยู่ระดับ 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นว่าภาวการณ์ด้านนั้นๆ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรืออยู่ในสภาพทรงตัวในระดับเดิม

ค่าดัชนีที่อยู่ระดับสูงกว่า  100แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นว่าภาวการณ์ด้านนั้นๆ จะมีสภาพดีขึ้น หรืออยู่ในระดับที่ดีกว่าเดิม

การใช้ประโยชน์นอกจากเข้าใจความหมายของค่าดัชนีแล้ว อีกจุดหนึ่งที่สำคัญคือการเปรียบเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา (เปรียบเทียบเดือนที่ผ่านมา)  เพราะเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มที่ควรใส่ใจ

 

ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 62  ลดลงเพื่อเพิ่มขึ้น?

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึง ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2562 ว่า  อยู่ที่ระดับ 94.5 ปรับตัวลดลงจาก 95.9 ในเดือนพฤษภาคม 2562 โดยเป็นการปรับตัวลดลงในองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายนปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้การดำเนินนโยบายภาครัฐ และการใช้จ่ายงบประมาณชะลอตัว กระทบต่อการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ส่งผลด้านลบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของภาคการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก ทำให้ประเทศผู้นำเข้าขอลดราคาสินค้าลง

นอกจากนี้ ปัญหาความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความยืดเยื้อของสงครามการค้าและความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งนอกจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการจะปรับตัวลดลงแล้ว หลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2562 ลงด้วยเช่นกัน

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 101.3 โดยลดลงจาก 102.9 ในเดือนพฤษภาคม 2562 เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อในประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาค ทั้งนี้รัฐบาลใหม่ควรเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการบริโภคและการใช้จ่ายภายในประเทศ รวมทั้งเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังนี้

ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาคเอกชนได้มีข้อเสนอแนะไปยังภาครัฐว่าควรออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากกว่าประเทศคู่ค้า เพื่อให้การส่งออกของไทยสามารถแข่งขันได้ และควรพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ

มิถุนายน 2562 ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดรอบ 21 เดือน

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและหอการค้าไทย การจัดทำได้ออกแบบสอบถามตัวอย่างจากประชาชนทั่วประเทศเป็นจำนวนประมาณ 2,250 คน แบ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลราวร้อยละ 40 และต่างจังหวัดร้อยละ 60 และพยายามให้เป็นเพศชายและเพศหญิงใกล้เคียงกัน   (ดัชนีเดือนมิถุนายน 2562 ออกแบบสอบถามตัวอย่างจากประชาชนทั่วประเทศเป็นจำนวน 2,246 คน แยกเป็นกลุ่มตัวอย่างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 40.2 และต่างจังหวัด ร้อยละ 59.8 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชาย และเพศหญิงประมาณร้อยละ 49.8 และ 50.2 ตามลลำดับ)

การอ่านค่าดัชนี ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมีค่าอยู่ระหว่าง 0-200 ซึ่งมีความหมายดังนี้

1) ถ้าดัชนีอยู่ในระดับที่สูงกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคมีความเห็นว่าภาวการณ์ด้านนั้นๆ จะดีขึ้นหรืออยู่ในระดับดี

2) ถ้าดัชนีอยู่ในระดับ 100 แสดงว่าผู้บริโภคมีความเห็นว่าภาวการณ์ด้านนั้นๆ ไม่เปลี่ยนแปลงหรือทรงตัวในระดับปานกลาง

3) ถ้าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำ กว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคมีความเห็นว่าภาวการณ์ด้านนั้นๆ จะแย่ลงหรืออยู่ในระดับไม่ดี

การใช้ประโยชน์จากค่าดัชนีมักพิจารณาจากการเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดือนที่ผ่านมา เพื่อดูแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงเป็นสำคัญ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า ไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2562 อยู่ที่ระดับ 76.4 ลดจาก 77.7 ถือเป็นการลดต่อเนื่องเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 21 เดือนนับตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2560 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 51.3 ลดจาก 52.3 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต อยู่ที่ 87.4 ลดจาก 88.8 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 63.4 ลดจาก 64.8 สาเหตุจากความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองในอนาคต กังวลภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า กำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัว ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เพิ่มความรุนแรงขึ้น การส่งออกชะลอ ราคาสินค้าเกษตรหลายตัวยังทรงตัวในระดับต่ำ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย กล่าวว่าผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับการเมืองในอนาคตมากพอสมควร สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางการเมืองต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ แต่หากรัฐบาลใหม่จัดตั้งได้ตามกรอบเวลา หรือภายในเดือนกรกฎาคม 2562 และเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อว่าจะช่วยสร้างความมั่นใจผู้บริโภคให้ฟื้นตัวแน่นอน”

ทั้งนี้ ทางศูนย์ได้ประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 3.5% เพราะต้องรอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในการฟื้นความเชื่อมั่นประชาชนก่อน เบื้องต้นต้องการเสนอให้รัฐบาลใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% รวมทั้งต้องการให้เร่งอัดฉีดเม็ดเงินนับแสนล้านบาทเข้าสู่ระบบ โดยมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพราะผู้มีรายได้น้อยมักใช้จ่ายอย่างรวดเร็ว และต้องมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว หลังคาดการณ์ว่า เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวจะหายไปราว 20,000 ล้านบาท เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่น SME ภาคการค้าและบริการ  ไม่สู้ดี

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.) เผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (TSSI) ประจำเดือนพฤษภาคม 2562  จากผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการของ SME ทั่วประเทศ จำนวน 1,400 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนี TSSI ประจำเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 87.2 ปรับตัวลดลงจากเดือนเมษายน 2562 ที่อยู่ระดับ 100.0 ซึ่งความเชื่อมั่นที่ลดลงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าฐานที่ 100 สะท้อนถึงผู้ประกอบการมีความมั่นเชื่อต่อการดำเนินธุรกิจหดตัวลง และยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย

(การอ่านความหมายเช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ค่าฐาน 100 เหมือนกัน)

ดัชนี TSSI เดือนพฤษภาคม 2562 ปรับตัวลดลงจากเดือนเมษายน ด้วยองค์ประกอบด้านยอดจำหน่าย และกำไรปรับตัวลดลงมาก เนื่องจากในช่วงเดือนเดือนเมษายนเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยปกติประเทศไทยจะได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงดังกล่าว จึงส่งผลให้เดือนพฤษภาคมนี้ประชาชนชนส่วนใหญ่มีการใช้จ่ายเข้าสู่ภาวะปกติ คือ ระมัดระวังในการใช้จ่ายอย่างเดิม ทั้งนี้เพราะสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่มีความชัดเจนและยังไม่สามารถดำเนินนโยบายต่างๆ ได้ อีกทั้งปัจจัยภายนอก เช่น สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ยังคงเป็นปัจจัยบั่นทอนการส่งออกของไทย รวมทั้งบั่นทอนกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เกิดจากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง และในบางพื้นที่เริ่มประสบปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อผลิตทางการเกษตรซึ่งบั่นทอนกำลังซื้อของภาคการเกษตรที่มีอยู่น้อยให้น้อยลงไปอีก ประกอบกับเดือนนี้เป็นช่วงการถือศีลอดของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามและต้องงดเว้นกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ส่งผลให้มีการใช่จ่ายต่างๆ ลดลงสำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม และนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวทั้งในและต่างประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการของ SME จำแนกตามสาขาธุรกิจ พบว่า สาขาธุรกิจ ส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางธุรกิจโดยรวมอยู่ในระดับลดลง คือ ค่าดัชนีปรับตัวลดลงและมีค่าน้อยกว่า ค่าฐานที่ 100 จะมีเพียงสาขาธุรกิจ ค้าส่งสินค้าเกษตร วัสดุก่อสร้าง ค้าปลีกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ที่ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในระดับที่เพิ่มขึ้น แต่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นยังคงอยู่ต่ำกว่าค่าฐานที่ 100

สำหรับดัชนี TSSI คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 100.8 ผู้ประกอบการมีความเห็นว่าอีก 3 เดือนข้างหน้าจะขายสินค้าและบริการ รวมถึงมีกำไรลดลงเมื่อเทียบกับเดือนนี้ เนื่องจากในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ในช่วงมรสุมพัดผ่านประเทศไทยโดยทั่วกัน อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยเกื้อหนุนในการกระตุ้น การใช้จ่ายในช่วงเดือนสิงหาคมคือวันแม่แห่งชาติ ซึ่งเป็นวันหยุดติดต่อกัน และมักจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวสูงกว่าปกติ อีกทั้งภาครัฐและเอกชนมักมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับวันแม่ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นการบริโภคได้บางส่วน

ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SME ภาคการค้าและบริการ จำนวน 1,400 วิสาหกิจทั่วประเทศ สำรวจระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 – 11 มิถุนายน 2562 ในเรื่อง “ปัญหาที่ส่งผล กระทบต่อธุรกิจและปัญหาที่ต้องการเร่งแก้ไข” พบว่า ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของผู้ประกอบการสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ค่าวัตถุดิบในการประกอบการที่สูงขึ้น 2) ราคาสาธารณูปโภคสูงขึ้น 3) ราคาเชื้อเพลิงสูงขึ้น 4) ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น และ 5) ค่าขนส่งสูงขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย : มองอนาคตงดงาม

(ค่ากลางดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 50  การอ่านความหมายเช่นเดียวกับค่ากลางที่ 100  สรุปสั้นๆ คือ สูงกว่า  50  เชื่อว่าดีขึ้น  เท่ากับ 50 เสมอตัว  ต่อกว่า 50 ไม่เชื่อว่าจะดีขึ้น หรือความเชื่อมั่นลดลง  อย่างไรก็ตามการใช้ประโยชน์เน้นเปรียบเทียบดูแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงเป็นสำคัญ)

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์  เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯ - ปริมณฑล ไตรมาส 2 ปี 2562 (REIC Housing Developer’s Sentiment Index : HDSI) ในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ไตรมาส 2 ปี 2562 มีค่าเท่ากับ 42.2 จุด (ต่ำกว่าค่ากลางดัชนีที่ 50.0 จุด) ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 50.4 จุด  สะท้อนให้เห็นถึงระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการฯ ที่ลดลงจากความไม่มั่นใจต่อทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทยในปัจจุบัน ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่ยังรอความชัดเจนในเชิงนโยบายที่จะมีผลธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวมจากรัฐบาลชุดใหม่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ

ตัวเลขดัชนีฯ ที่ลดลงอย่างชัดเจนในไตรมาสนี้ เป็นผลจากโมเมนตัมของระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Listed Companies  ที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าอย่างชัดเจน จาก 52.2 จุด ลดลงเหลือ 41.9 จุด และเป็นค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ต่ำกว่าค่ากลางอีกครั้ง ของผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Listed Companies นับจากไตรมาส 1 ปี 2557 ซึ่งมีค่าดัชนีฯ อยู่ที่ 45.5 จุด ซึ่งเป็นช่วงที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในระหว่างนั้น

ส่วนผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Non-listed Companies ก็มีความเชื่อมั่นลดลงในไตรมาสนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเช่นกัน โดยมีค่าดัชนีเท่ากับ 42.7 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 47.7 จุด อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่าค่ากลางที่ 50.0 จุดมาอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2558

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) ในไตรมาส 2 ปี 2562 มีค่าเท่ากับ 58.0 ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 58.4 จุด แต่ยังคงสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 จุด แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อทิศทางของธุรกิจการพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยยังให้ความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจจะมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นภายหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว

ผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 61.3 จุด เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 59.9 จุด ผู้ประกอบการฯ กลุ่มนี้ให้ความเชื่อมั่นว่า ภายหลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้น และจะส่งผลให้ยอดขายและผลประกอบการของบริษัทขยายตัวขึ้น

ในขณะที่ผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 53.1 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 56.1 จุด แต่ยังคงสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 จุด สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการฯ กลุ่มนี้ก็ยังคงให้ความเชื่อมั่นว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน แต่ยังคงลดลงกว่าไตรมาสก่อนหน้า

เครดิตเรตติ้ง ผลพวงต่างประเทศมองไทย

“ต่างประเทศมองไทยดีขึ้น”   ประจักษ์พยานในเรื่องนี้คือ เมื่อวันที่ 19  กรกฎาคม  2562  บริษัทจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือฟิทช์ เรตติ้ง ปรับเพิ่ม Outlook หรือมุมมองประเทศไทยขึ้นเป็น Positive จากระดับ Stable หรือมีเสถียรภาพของระบบการเงินประเทศไทยและรัฐบาลใหม่ โดยยังคงอัตราความน่าเชื่อถือที่ BBB+ แต่แนะจับตาการบริหารงานของรัฐบาลใหม่ ใน 1-2 ปี และการเติบโตของ GDP ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมองว่าเป็นบวกต่อมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงทิศทางเงินทุนไหลเข้า

ผลที่เกิดขึ้นทันทีคือการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้น.ส.ธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้าวันที่  19 กรกฎาคม 2562 ปรับตัวขึ้นกว่า 10 จุด เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่ต่างปรับตัวขึ้นกัน ขานรับประธานเฟด สาขานิวยอร์ก ส่งสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุกหลังจากที่เศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งเป็นการป้องกันไว้ก่อน ขณะที่ตลาดบ้านรับได้รับปัจจัยบวกจาก "ฟิทช์ เรตติ้งส์" ได้ปรับมุมมองประเทศไทยจาก "คงที่" เป็น "บวก" แม้ยังคงอันดับเครดิตประเทศในระดับเดิม BBB+ แต่ก็นับเป็นมุมมองที่ดีขึ้นหลังจากที่ไทยได้มีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว

ปกติการอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) เป็นการประเมินความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ โดย “สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agencies)” ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)  ทั้งนี้ในประเทศไทยมี 2 แห่งคือ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด  (ในขณะที่หลายประเทศยอมรับการจัดอันดับของ 3 สถาบันใหญ่ หนึ่งในนั้นก็มี Fitch ด้วย แต่อีก 2 องค์กรคือ Moody’s Investor Service และ Standard and Poor’s)

ตราสารหนี้ที่อันดับเครดิตยิ่งสูง ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ก็ยิ่งต่ำ อันดับความน่าเชื่อถือแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ Investment Grade หรือ กลุ่มน่าลงทุน (AAA ถึง BBB-) และ Speculative Grade หรือกลุ่มเก็งกำไร (BB+- ลงไปจนถึง D)

นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มอันดับเครดิต (Outlook) แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่

1) Positive หมายถึง อันดับเครดิตอาจปรับขึ้น

2) Stable หมายถึง อันดับเครดิตอาจไม่เปลี่ยนแปลง

3) Negative หมายถึง อันดับเครดิตอาจปรับลดลง

4) Developing หมายถึง อันดับเครดิตอาจปรับขึ้น ปรับลดลง หรือไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อ Outlook เป็นบวก Positive จึงกล่าวได้ว่า  ต่างประเทศมองไทยดีขึ้น นอกจากผลบวกเกิดขึ้นทันทีกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ   จากนั้นคาดหมายได้ว่า  ดัชนีความเชื่อมั่นต่างๆ ที่เกิดจากการสำรวจในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2562  ควรดีขึ้น

การลงทุนจริงย่อมดีขึ้น  เงินหมุนเวียนในตลาดผ่านกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคควรดีขึ้น

“ดีขึ้น” หรือไม่ ส่วนหนึ่งเกิดพลังจากความเชื่อมั่น  แต่จุดสำคัญอยู่ที่รัฐบาลชุดใหม่ที่พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี  จะสามารถนำพาให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารจัดการกระทรวงต่างๆ  สามารถสร้างผลงานให้เกิดขึ้นได้รวดเร็วมากน้อยเพียงใด

โครงการต่างๆ  เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง  ความเชื่อมั่นย่อมดี  แต่ถ้าหากโครงการส่วนใหญ่ ต้องมีการ “ทบทวน”  -  “ตรวจสอบ”  “แก้ไขปรับปรุง”   ที่ทำให้ล่าช้าออกไป

พลังของความเชื่อมั่นย่อมลดลง  การลงทุน  การบริโภค และอื่นๆ ย่อมลดลง  Positive ที่ต่างประเทศมอง ก็อาจไม่มีผลให้ประเทศไทยเลื่อนขั้นสู่ระดับ “A”

ความเป็นจริงก็คือ การกระทำในปัจจุบันย่อมมีผลต่ออนาคตเสมอ  และมีผลต่อความเชื่อมั่นในปัจจุบันและอนาคตอย่างปฏิเสธไม่ได้

#