นโยบายรัฐบาล 12 ด้าน สารพัดเรื่อง “ทำทันที” เพิ่มบารมีนายกฯ สะสางพันธนาการเก่า
  • 22 กรกฎาคม 2019 at 12:01
  • 1898
  • 0

หลังการจัดตั้งคณะรัฐบาลที่มาจาก “การเลือกตั้ง”  หลังจากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา  ตัวอักษรที่เรียบเรียงสวยงามตามเอกสารประกอบการแถลงนโยบายนั้น  มักมีผลต่อความนิยมทางการเมืองของประชาชนวงการและระดับชั้นต่างๆ  น้อยกว่าการดำเนินงานต่างๆ  ที่เห็นผลทันที  และยึดโยงกับนโยบายที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ระหว่างการหาเสียง เรื่องที่ต้องเกิดขึ้นทันใจ  “ทำทันที”  เช่นนี้ ประชาชนย่อมเรียกร้องต้องการจากทุกพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำ  และพรรคการเมืองสำคัญที่ร่วมตั้งรัฐบาลผสม

 

“หัวเรื่อง" - นโยบายหลัก 12  ข้อ  นโยบายเร่งด่วน  12  ข้อ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล  (20 กรกฎาคม 2562) แจ้งว่า นโยบายรัฐบาลเตรียมแถลงต่อรัฐสภา ความหนาประมาณ 40 หน้า แบ่งเป็น นโยบายหลัก 12 ด้าน ได้แก่

1 การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์

2 การสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยประเทศ และความสงบสุขประเทศ

3 การทำนุบำรุงศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม

4 การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก

5 การพัฒนาเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของไทย

6 การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ และการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค

7 การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก

8 การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนาศักยภาพคนไทยทุกช่วงวัย

9 การพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคม

10 การพื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

11 การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ

12 การป้องกันปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และกระบวนการยุติธรรม

ขณะที่หัวข้อของนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง ประกอบด้วย

1 การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน

2 การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

3 มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

4 การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม

5 การยกระดับศักยภาพของแรงงาน

6 การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต

7 การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21

8 การแก้ไขปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ ทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายราชการประจำ

9 การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

10 การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน

11 การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย

12 การสนับสนุนให้มีการศึกษา รับฟังความเห็นประชาชน และดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

พลังประชารัฐ มั่นใจนโยบาย “ทำทันที”

ในส่วนนโยบายที่รัฐบาลมุ่งมั่น “ทำทันที” ตามการเปิดเผยของ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ระบุว่า นโยบายของพรรคที่สามารถ “ทำได้ทันที” 3 นโยบาย ได้แก่ 1.นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นโยบายนี้ขึ้นกับกระทรวงการคลัง 2.นโยบายพักหนี้เกษตรกร และ 3.นโยบายมารดาประชารัฐ ถือเป็นนโยบายหลักของพรรค

ส่วนนโยบายที่ผมมองว่าจะต้องพูดคุยกันอย่างรอบคอบ คือ นโยบายเรื่องการเกษตร จากเดิมที่พรรคเสนอให้ราคาข้าวเปลือกเจ้าต้องได้รับเกิน 10,000 บาทต่อตัน ข้าวหอมมะลิต้องได้เกิน 15,000 บาทต่อตัน และเพิ่มค่าเก็บเกี่ยวจากไร่ละ 1,500 บาท เป็น 2,000 บาท ซึ่งนโยบายนี้เป็นงบฯที่ผูกพันและต้องคุยกับพรรคประชาธิปัตย์ว่า เห็นด้วยกับแนวทางนี้หรือไม่ หากไม่เห็นด้วยก็ต้องมาประสานหาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับได้” นายอุตตมกล่าว

นโยบาย “ทำทันที” ที่เป็นผลต่อเนื่องจากการหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สมัยที่ 2  ต้องพิสูจน์ด้วยการทำให้เป็นจริงมีหลายเรื่อง เช่น

การสานต่อ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือ “บัตรคนจน” จำนวน 14.5 ล้านคน

มารดาประชารัฐ” ตั้งครรภ์รับเดือนละ 3,000 บาท รวมสูงสุด 27,000 บาท (9 เดือน) ค่าคลอด 10,000 บาท ค่าดูแลเด็กเดือนละ 2,000 บาท จนครบ 6 ขวบ รวม 144,000 บาท รวมทั้งสิ้น 181,000 บาทต่อเด็ก 1 คน

เกษตรยั่งยืน” ข้าวเจ้า 12,000 บาทขึ้นไปต่อตัน ข้าวหอมมะลิ 18,000 บาทขึ้นไปต่อตัน อ้อย 1,000 บาทขึ้นไปต่อตัน ยางพารา 65 บาทขึ้นไปต่อกิโลกรัม

ค่าแรงขั้นต่ำ” 400-425 บาทต่อวัน อาชีวะ 18,000 บาทต่อเดือน ปริญญาตรี 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งในที่สุด “ตกผลึก” ที่ตัวเลข 400 บาท

 

“ทำทันที” ของประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่บริหารจัดการ 3 กระทรวงเศรษฐกิจ-สังคมสำคัญ คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีนโยบาย “ทำทันที” ได้แก่

นโยบายบัตรคนจนในรูปแบบของประชาธิปัตย์ ที่ประกาศในช่วงตอนการหาเสียงสรุปคือ “คนจน” ได้รับเงินสด-โอนเข้าบัญชี รายละ 800 บาทต่อเดือนรวมทั้งหมดใช้งบประมาณ 68,794 ล้านบาทต่อปี “เบี้ยคนพิการ” 1,000 บาทต่อเดือน 2 ล้านรายรวมเป็นงบประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี

นโยบาย “เกิดปั๊บรับสิทธิเงินแสน” วงเงิน 17,832 ล้านบาทต่อปี ประกอบด้วย ค่าคลอด 5,000 บาท ค่าเลี้ยงดู 1,000 บาทต่อเดือน จนถึง 8 ขวบ เมื่อโครงการดำเนินไปครบ 8 ปี ประเมินต้องใช้เงินเพิ่ม 59,000 ล้านบาทต่อปี

นโยบาย “ประกันรายได้พืชผลเกษตร” ข้าวต้องไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเกวียน ปาล์ม 4 บาทต่อกิโลกรัม ยางพาราไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม วงเงิน 100,000 ล้านบาทต่อปี  ในกรณีที่พืชผลทางการเกษตรตามโครงการประกันรายได้มีราคาตกต่ำที่สุดพร้อมกันในรอบปี รัฐบาลต้องใช้งบประมาณ 350,000 ล้านบาทต่อปี

นโยบาย “การประกันรายได้แรงงานขั้นต่ำ” ไม่ต่ำกว่า 120,000 บาทต่อปี วงเงิน 50,000 ล้านบาทต่อปี แต่ “วิธีการ” แตกต่างจากพลังประชารัฐ นั่นคือประชาธิปัตย์เตรียมนำ “โมเดลประกันราคา” มาใช้เพื่ออุดหนุน (subsidy) “ส่วนเกิน” จากบริษัท-ห้างร้านเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับภาคเอกชน ส่วนพลังประชารัฐเตรียมใช้วิธี “ยกระดับทักษะแรงงาน” ให้เป็น “แรงงานขั้นสูง”

นโยบาย  “เบี้ยยังชีพคนชรา” 1,000 บาทต่อเดือน 37,302 ล้านบาทต่อปี โดยจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละ 4.8% หรือ 393,600 คน ต้องใช้งบประมาณเพิ่ม ประมาณปีละ 4,700 ล้านบาท

นโยบาย  “เรียนฟรีถึง ปวส.” วงเงิน 23,852 ล้านบาทต่อปี “อาหารเช้า-กลางวันถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3)” วงเงิน 28,441 ล้านบาทต่อปี “เรียนสองภาษา” (English for All) วงเงิน 5,500 ล้านบาทต่อปี รวมถึง “ภาษาที่สาม” หรือภาษา “coding”

นโยบาย “ศูนย์เด็กเล็ก” วงเงิน 4,555 ล้านบาทต่อปี เพิ่มค่าตอบแทน อสม.-อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 739 ล้านบาทต่อปี “กองทุนน้ำชุมชน” 30,000 ล้านบาทต่อปี  และ “บ้านหลังแรก” 20,000 ล้านบาทต่อปี

 

ภูมิใจไทย แก้หนี้ กยศ. “กัญชาเสรี”

พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคตัวแปรสำคัญที่เป็นองค์ประกอบความมั่นคงมีเสถียรภาพของรัฐบาล มีนโยบาย “ทำทันที” ที่สำคัญประกอบด้วยการแก้หนี้ กยศ.  กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา มูลหนี้กว่า 5 แสนล้านบาท ด้วยมาตรการต่อเนื่อง 6 ประการคือ 1.ปลดภาระผู้ค้ำประกัน ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันอีกต่อไป 2.ไม่มีดอกเบี้ย 3.ไม่ต้องมีเบี้ยปรับ 4.ใช้ภาษีเงินได้ประจำปีมาหักลดยอดหนี้เงินกู้ได้ 5.ผ่อนคืนเงินต้น 10 ปี และ 6.พักหนี้ 5 ปี

ในส่วนนโยบาย “กัญชาเสรี” ที่กลายเป็น “คำขวัญนโยบาย” ของพรรคภูมิใจไทยนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลัง เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบรัฐบาล โดยขึ้นสักการะพระพรหมบนตึกไทยคู่ฟ้า และลงมาไหว้ศาลพระภูมิ ศาลตาศาลยาย พร้อมพาสื่อมวลชนชมห้องทำงานที่ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ว่า ขณะนี้ได้เตรียมพร้อมแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว รัฐมนตรีทุกคนในสังกัดพรรคภูมิใจไทยได้รับร่างนโยบายและได้เตรียมความพร้อมในการชี้แจงแล้วในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเอง ทั้งนี้นโยบายกัญชาเสรี ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนของนโยบายรัฐบาลนั้น ขณะนี้มีแผนงานที่กระทรวงสาธารณสุขแล้ว รอเพียงนโยบายที่ชัดเจน

ในส่วนนโยบายนโยบายกัญชา ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลด้วยใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นวาระเร่งด่วน ซึ่งต้องเริ่มทำใน 1 ปี และจะมีการพัฒนาต่อยอดไปเรื่อย ๆไม่มีวันสิ้นสุด เราหวังว่าในวันหนึ่งพืชชนิดนี้ที่มีสาร CBD ที่สกัดได้ ซึ่งเป็นสารที่ดีต่อร่างกาย สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ อีกหน่อยอาจจะเห็นกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญสร้างรายได้ให้กับประเทศและเกษตร ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ เพราะรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน

ส่วน นโยบายที่ให้ปลูกกัญชา บ้านละ 6 ต้น ตอนนี้ต้องเริ่มจากที่โรงพยาบาลผ่านเครือข่าย อสม. ที่เป็นองคาพยพต่างๆ พร้อมแล้ว รอเพียงการขับเคลื่อนเท่านั้น ซึ่งได้ให้นโยบายที่ชัดเจนไปแล้วว่าให้เริ่มต้น โดยทางปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานตนว่า กระทรวงมีความพร้อม มีการเซ็นเอ็มโอยูร่วมกับสถาบันทางการเกษตรหลายแห่ง รวมถึงได้ลงนามเอ็มโอยูกับองค์การเภสัช องค์การแพทย์ ซึ่งโรงพยาบาลเจ้าพระยาภัยภูเบศรก็ทำในส่วนที่เขาทำได้ ภายใต้กฎหมาย ตอนนี้ก็รอเอาออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์

นโยบายนั้นมีความชัดเจนอยู่แล้ว ยิ่งเป็นนโยบายที่นายกฯ ให้ความกรุณาจัดไว้อยู่ในวาระเร่งด่วน มันก็ชัดเจน ไม่ทำสิผิด ไม่ทำจะเจอกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือเปล่าก็ไม่รู้ เมื่อวาน(18 ก.ค.)ได้ไปที่กระทรวงได้แจ้งให้ข้าราชการไปแล้วว่า กรุณาอย่ามาพูดว่า ทำไมทำไม่ได้ต้องหาทางมาให้เสร็จ รัฐมนตรีไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ แล้วเห็นว่ากฎหมายเขียนว่า เสรี แต่กว่าจะทำได้ต้องกลับไปขอขั้นตอนเยอะแยะไปหมด เขียนเหมือนกลับว่าคงอำนาจรัฐไว้อีกเยอะ พรรคภูมิใจไทยเข้ามาลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน เพื่อปากท้องประชาชน เพราะฉะนั้นเจตนารมณ์นี้ต้องคงไว้

นอกจากนี้พรรคภูมิใจไทยยังนำเสนอการสร้างระบบแบ่งปันผลกำไรการเกษตร profit sharing หรือ “กำไรแบ่งปัน” เช่น ข้าว 70% : 15% : 15% ชาวนาได้เงิน 70% ข้าวขาว 7,900+800 = 8,700 หอมมะลิ 18,000+1,500 = 19,500 ราคาข้าวปี 2561+ส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนข้าว ปาล์มทะลายกิโลกรัมละ 5 บาท รวมถึงยกระดับ อสม.เป็นหมอประจำบ้านได้ค่าตอบแทน 2,500-10,000 บาท

 

พันธนาการเก่าที่ “รัฐบาล”  ต้องรับผิดชอบ

โดยปกติพันธนาการ ภาระที่รัฐและรัฐบาลต้องรับผิดชอบนั้นเป็นเรื่องต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีที่มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าเป็นรัฐต่อรัฐ หรือรัฐต่อภาคเอกชน  ดังนั้น “รัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์ 2”  จึงมีภาระ หรือมีพันธนาการที่ต้องสะสางอย่างต่อเนื่องที่สำคัญๆ เช่น

เรื่องต่อเนื่องจากคดี “ค่าโง่ทางด่วน” กรณีการต่อสัญญาสัมปทานให้กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ระยะเวลา 30 ปี เพื่อชดใช้ความเสียหายเป็นตัวเงิน 4.3 พันล้านบาทของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

ภาระจากคดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” กรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ชดใช้ค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นจำนวนเงิน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี

นอกจากนี้ยังมีคดีที่ยังไม่ถึงที่สุดเช่น คดีเหมืองทองอัครา ที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ในประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ออกแถลงการณ์ให้ทางการไทยยกเลิกระงับกิจการ รวมถึงเรียกร้องค่าชดเชย ซึ่งทางรัฐบาลไทยยืนยันจะไม่จ่ายค่าชดเชย ในเดือนถัดมาจึงเป็นเหตุให้ทาง คิงส์เกตฯ ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)   ทั้งนี้ในวันที่ 18-29 พฤศจิกายน 2562 ทางบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของอัครา ผู้ประกอบการ เหมืองแร่ทองคำชาตรี และรัฐบาลไทย มีกำหนดที่จะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนพยานตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นครั้งแรก ณ ประเทศสิงคโปร์

เมื่อมี “รัฐบาลใหม่”  ย่อมเกิด “ความหวังใหม่”  ขณะเดียวกันก็มีภาระเก่า-พันธนาการเดิมๆให้แก้ไขเสมอ  ผลงานที่เกิดขึ้น “อย่างทันใจ”  ย่อมเป็นตัวช่วยเสริมความนิยมให้ “รัฐบาลใหม่” นั้น

#