อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.25% ต่ำสุดรอบ 10 ปี หวังกระตุกเศรษฐกิจโตตามศักยภาพ
  • 7 พฤศจิกายน 2019 at 12:07
  • 268
  • 0

ตามปกติมาตรการอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย มีผลต่ออัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งมีผลต่อเนื่องถึงการลงทุนในภาคการผลิตจริง อุตสาหกรรม เกษตรกรรรม รวมทั้งพาณิชยกรรมและบริการ  นอกจากนี้ยังส่งผลต่อเนื่องถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ  การค้าขายระหว่างประเทศ และย้อนมากระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ การลงทุนซื้อขายหุ้นจดทะเบียน.

แนวคิดและประสบการณ์ดั่งเดิมคือ การขึ้นดอกเบี้ยเปรียบเสมือนการแตะเบรก-ห้ามล้อ เพื่อชะลอความเร็วในการขยายตัวทางเศรษฐกิจมิให้ร้อนแรงเกินจนเกิดผลเสีย  ส่วนการลดดอกเบี้ยคือการกระตุ้นการลงทุน เพราะ “ต้นทุนการเงิน” ลดลง  กระตุ้นการส่งออก เพราะมีส่วนทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง  ราคาสินค้าส่งออกจากไทยลดลงในเชิงเปรียบเทียบ

แต่ปัจจัยแวดล้อมใหม่ สถานการณ์ใหม่  เทคโนโลยีแวดล้อมใหม่ในปี 2562 ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรนั้น อีกไม่นานวัน ผลที่เกิดขึ้นจริงย่อมทำให้เกิดแนวทางวิเคราะห์เพิ่มเติมที่เหมาะสมมากขึ้น

แสงสว่างจากบางขุนพรหม

ธนาคารแห่งประเทศไทย(แบงก์ชาติ)ตั้งอยู่ย่านบางขุนพรหม ความเคลื่อนไหวของแบงก์ชาติจึงใช้สำนวนได้หลากหลาย  อาทิ ประกาศิตบางขุนพรหมกรณีสั่งห้ามต่างๆ  คำเตือนจากบางขุนพรหมกรณีเตือนทางเศรษฐกิจการเงินการคลัง  “แสงสว่างจากบางขุนพรหม”  ครั้งนี้มาจากการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดของแบงก์ชาติว่า สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใด

รายละเอียดจาก ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 65/2562  เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 7/2562 นั้นน่าสนโดยมีเนื้อหาเต็มดังต่อไปนี้

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562

คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ขณะที่ 2 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี

ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลงซึ่งส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย เสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม

กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ ส่วนกรรมการ 2 ท่าน เห็นว่าในภาวะปัจจุบันที่นโยบายการเงินอยู่ในระดับผ่อนคลายอยู่แล้ว การลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนัก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังจำเป็นต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีจำกัดเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต

หวังแก้จุดฝืด เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมิน

เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้น การส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้และจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดไว้ ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้า ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง

สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้ของครัวเรือนและการจ้างงานที่ปรับลดลงเร็วโดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการใช้จ่ายของภาครัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2562 และปี 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มชะลอลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ปรับลดลง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง ภาคเอกชนสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่องแต่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้านอัตราแลกเปลี่ยน คณะกรรมการฯ ยังกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในภาวะที่ความเสี่ยงด้านต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ สนับสนุนให้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และช่วยให้ภาคเอกชนบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมตามความจำเป็น

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคตโดยเฉพาะคุณภาพสินเชื่อของธุรกิจ SMEs ที่ด้อยลง คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติดตามพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ

พฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (micro prudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macro prudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสม

มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน

 

ลำดับเวลาอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น -ขาลง

การปรับลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ร้อยละ 1.25  เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 นั้นเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10ปี 8 เดือน ทั้งนี้เป็นการเปรียบเทียบนับหลังย้อนไปถึงเดือนเมษายน 2552  โดยหลังจากเดือนดังกล่าว กนง.มีมติให้ปรับขึ้นเป็น 1.50% ในเดือนกรกฎาคม 2553  ถือว่าเป็นช่วงเวลาอัตราดอกเบี้ย “ขาขึ้น”

จากนั้นก็ได้ทยอยปรับขึ้นอีกหลายครั้งจนอยู่ในระดับสูงสุดที่ 3.5% ในเดือนสิงหาคม 2554

หลังจากเดือนสิงหาคม 2554  เป็นช่วงเวลาอัตราดอกเบี้ย “ขาลง” กล่าวคือในเดือนพฤศจิกายน 2554 กนง.มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 3.5% ลงมาเหลือ 3.25%  หลังจากนั้น กนง.ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในอัตรา 0.25% อีก 7 ครั้ง เหลือ 1.5% ในเดือนเมษายน 2558 ก่อนที่จะปรับขึ้นเป็น 1.75% ในเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา

ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2562 กนง.ได้ปรับลดดอกเบี้ยลงมาเหลือ 1.5% และ 1.25% ในการประชุมล่าสุด

ข้อสังเกตเบื้องต้น หากเป็นทิศทางอัตราดอกเบี้ย “ขาลง” กบง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25%  สัก 2 ครั้ง จนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคงลดลงไปถึง  0.75%  แต่คงเกิดขึ้นยากเพราะประเทศไทยยัง “อนุรักษ์” กลัวอัตราดอกเบี้ยต่ำ และทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ (หลังจากหักอัตราเงินเฟ้อ)

จุดหลักอยู่ที่การปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริงท่ามกลางการแข่งขันที่หนักหน่วงมากขึ้น ทั้งจากการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ  สงครามการค้า  การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

#