ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ยุทธศาสตร์เป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องมีแผนงาน และโครงการต่าง ๆ รองรับ  กล่าวได้ว่ามียุทธศาสตร์ที่ดีก็ต้องมียุทธวิธีที่ถูกต้องถึงเกิดผลลัพธ์ตามที่ต้องการ

ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีข้อมูลพื้นฐานจากมติคณะรับมนตรีวันที่   21 มกราคม 2563 เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2562

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2562 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอดังนี้

 

อ.จะนะ เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต

1. รับทราบ จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่

1.1 การประกาศกำหนดให้อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในฐานะเมืองต้นแบบที่ 4 “เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

1.2 การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กรณีเร่งรัดออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

1.3 การพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน กรณีครอบครัวนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ

1.4 การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ /ความมั่นคง/การจัดการที่ดิน

2. เห็นชอบ จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่

2.1 เห็นชอบในหลักการของแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับแผนงานดังกล่าว ไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

2.2 เห็นชอบในหลักการของกรอบแนวทางการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงผ่าน “โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

2.3 มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตามแผนการบริหารจัดการที่ดินสำหรับการดำเนินงานในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาสตามที่ กพต. เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำเสนอผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบในเรื่องต่าง ๆ เช่น

1) การประกาศให้อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในฐานะเมืองต้นแบบที่ 4 “เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยได้เสนอคณะรัฐมนตรีขอความเห็นชอบในหลักการของแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เนื่องจากเขตพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับแรงงานในพื้นที่จำนวนมาก และมีความพร้อมด้านกายภาพจากลักษณะทางกายภาพที่เป็นพื้นที่ชายฝั่ง จึงมีความเหมาะสมที่จะดำเนินการท่าเรือน้ำลึก เพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นสามารถใช้ประโยชน์จากการนำเข้าและส่งออกสินค้าได้อย่างสะดวก โดยสาระสำคัญของแผนเร่งด่วนการลงทุนฯ ครอบคลุม 4 แผนงาน สรุปได้ ดังนี้

 

แผนงาน

รายละเอียด

ด้านผังเมือง : ปรับปรุงผังการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ (1) ตำบลนาทับ (2) ตำบลตลิ่งชัน และ (3) ตำบลสะกอม ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่พัฒนาโครงการ ได้รับการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นที่สีเขียวและสีเขียวคาดขาวทำให้ไม่สามารถจัดตั้งโรงงานและการประกอบอุตสาหกรรม

บางประเภท ส่งผลให้เอกชนที่สนใจไม่สามารถลงทุนในโครงการได้

- ให้ ศอ.บต. มีอำนาจปรับปรุงผังการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ 3 ตำบล และให้ประกาศใช้ผังการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้รับการปรับปรุงแล้วใน 12 เดือน

- ให้ ศอ.บต. สามารถดำเนินการยกเว้นกฎหมายผังเมืองในการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินของ 3 ตำบล เพื่อให้สามารถเกิดการลงทุนในพื้นที่ได้ทันที

ด้านโครงข่ายการขนส่งสินค้าทางน้ำ (ท่าเรือ) : เป็นโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาติดข้อจำกัดด้านงานมวลชลสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อม

ให้ ศอ.บต เชิญชวนเอกชนที่สนใจและมีความพร้อมในการร่วมพัฒนาและเสนอโครงการให้ภาครัฐพิจารณา

ด้านโครงข่ายการขนส่งสินค้าทางบก (ถนนและราง) : ถนนส่วนใหญ่ในพื้นที่ตำบลที่อยู่ในเขตพื้นที่พัฒนาโครงการฯ เดิมมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนและการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ทำให้ไม่สามารถรองรับความต้องการเดินทางของบุคลากรที่เป็นแรงงานและการขนส่งสินค้า

ให้ ศอ.บต. ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาและ/หรือสำนักงานจังหวัดสงขลาจัดทำแผนแม่บทด้านการขนส่งและจราจรจังหวัดสงขลาและส่งมอบแผนงาน/โครงการตามแผนแม่บทดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งงบประมาณต่อไป

ด้านพลังงาน : การสร้างโรงไฟฟ้ามั่นคงภาคใต้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 930 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าที่จะสร้างใหม่ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,700 เมกะวัตต์

การกำหนดพื้นที่เพื่อจัดตั้งโรงไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง

 

2) การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กรณีเร่งรัดออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น การจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาที่ดินป่าสงวน

3) การพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนกรณีครอบครัวนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ โดยให้ความช่วยเหลือเยียวยาเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 1,568,400 บาท

4) การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำหน้าที่พิจารณากำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อให้รัฐบาลตกลงใจในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาทั้งระบบแก่ทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

 

ตั้งธงเสริมความมั่นคง/เขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส

รวมทั้งเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. กรอบแนวทางการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงผ่าน “โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของ ศอ.บต. เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน หมู่บ้าน และตำบล โดยมี “สภาสันติสุขตำบล” เป็นกลไกในการบริหารราชการระดับตำบล ซึ่งนายอำเภอแต่งตั้ง ประกอบด้วย 5 ภาคส่วน ได้แก่ (1) ภาคส่วนราชการที่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ตำบล (2) ผู้ปกครองท้องที่ในตำบล (3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (4) ผู้นำศาสนาทุกศาสนาในพื้นที่ตำบล และ (5) ภาคประชาชน โดยการดำเนินการของสภาฯ สรุปได้ ดังนี้

 

การดำเนินการของสภาสันติสุขตำบล

ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยนายอำเภอ

คณะกรรมการบริหาร

งานตำบลแบบบูรณาการจัดทำแผนตำบล (ปลัดอำเภอเป็นประธาน)

สภาฯ พิจารณาและให้

ข้อเสนอแนะ รวมทั้ง

ข้อคิดเห็นต่าง ๆ

เพื่อขับเคลื่อน

การสร้างความเข้มแข็ง

ให้กับประชาชน

และหมู่บ้าน

นายอำเภออนุมัติแผนตำบล

รวมถึงกำกับดูแลโครงการและรายงานความก้าวหน้าต่อ ศอ.บต.

คณะทำงานในการตรวจติดตามการดำเนินงานของสภาฯ ที่จัดตั้งโดย ศอ.บต. ดำเนินการตรวจสอบในเรื่องต่าง ๆ เช่น ผลการเบิกจ่ายเงินตามโครงการที่เกี่ยวข้อง

โดยมีศูนย์ประสานงานโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานระดับอำเภอและตำบล รวมถึงเสนอแนะและยับยั้งการดำเนินงานที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสียหายอย่างร้ายแรง หรือกระทบต่อการดำเนินชีวิตวิถีชีวิตของประชาชนและกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

 

2. แผนการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส ซึ่งเป็นแผนบริหารจัดการที่ดินสำหรับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาสโดยการจัดซื้อที่ดินจากบริษัทเอกชนจำนวน 1,683 ไร่ ในพื้นที่อำเภอยี่งอ และอำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส เพื่อบริหารจัดการที่ดินดังกล่าวโดยได้มีการแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเช่า จำนวน 600 ไร่ ในพื้นที่ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมตามอำนาจหน้าที่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ส่วนที่ 2 ให้เอกชนเช่า โดยกรมธนารักษ์เปิดประมูลเพื่อสรรหาผู้ลงทุนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด เนื้อที่รวม 1,003 ไร่ ประกอบด้วย 1) พื้นที่ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 454 ไร่ และ 2) พื้นที่ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส เนื้อที่ 548 ไร่

ส่วนที่ 3 เป็นพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ของทางราชการ ในพื้นที่ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส พื้นที่รวม 79 ไร่ เช่น ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมและการลงทุนและการพัฒนาและส่งเสริมนักธุรกิจรุ่นใหม่ยุค 4.0 เป็นต้น

โดยมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เช่น 1) ศอ.บต. เป็นหน่วยงานจัดซื้อที่ดินเอกชน และให้แจ้งกรมธนารักษ์เพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ 2) กรมธนารักษ์ ที่ดินขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี 3) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส เป็นต้น

ข้อสังเกต

ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงขั้นต้นจากการผ่านมติคณะรัฐมนตรีในระดับต่างๆ (เห็นชอบ/รับทราบและพิจารณา) ยังมีงานรูปธรรมอีกมากซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการแผนงาน และโครงการต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จ  “ยุทธศาสตร์ที่สวยงาม” ถึงเป็นจริง

#