มาตรการภาษีจูงใจผู้เชี่ยวชาญทำงานโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

ความสำเร็จจากโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกทีมีพลวัตรอย่างสำคัญในการทำให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยก้าวรุดหน้า  เป็น “แรงบันดาลใจ”  และ “ต้นแบบ” ให้แก่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก  โครงการนี้เป็นหวังและฝันของรัฐบาลปัจจุบัน (ชุดที่มีพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นนายกรัฐมนตรี) ฝันและหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยับเขยื้อนเดินหน้าในอัตราเติบโตที่สูงมากขึ้น  ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการสนับสนุนอย่างเต็มที่

มาตรการสนับสนุนด้านภาษี

นอกจากเร่งสร้างความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งแล้ว  ความพร้อมด้านคนเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องส่งเสริมสนับสนุน  ดังนั้นจึงเกิดมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ..)              พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อจูงใจผู้มีความสามารถสูงระดับโลกให้มาทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .......... (มาตรการภาษีเพื่อจูงใจผู้มีความสามารถสูงระดับโลกให้มาทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างกฎหมาย

1. กำหนดให้ผู้มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ซึ่งทำงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการที่อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือกิจการที่อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร (เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส ฯลฯ) ที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวในอัตราร้อยละ 17 ของเงินได้ตามกรณีดังต่อไปนี้

1.1 กรณีคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากรสำหรับเงินได้พึงประเมินนั้นแล้วต้องเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายมากกว่าร้อยละ 17 ของเงินได้

1.2 กรณีคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากรสำหรับเงินได้พึงประเมินนั้นแล้วต้องเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเท่ากับหรือน้อยกว่าร้อยละ 17 ของเงินได้ แต่ยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 17 ของเงินได้

2. กำหนดให้ผู้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 17 ของเงินได้ตามข้อ 1 ไว้แล้ว เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการ ไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะกรณีไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืนหรือไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และกรณีมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ดอกเบี้ย เงินปันผล ฯลฯ) และมาตรา 40 (8) (เงินได้อื่น ๆ ) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากรไว้แล้วด้วยและมีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48 (3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร จะใช้สิทธิได้เมื่อไม่นำเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากรนั้นไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืนและไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

3. ผู้มีเงินได้ที่จะได้รับสิทธิตามข้อ 1 และข้อ 2 ต้องมีคุณสมบัติและเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนด

สิบอุตสาหกรรมเป้าหมาย

10 กลุ่มอุตสาหกรรม เป้าหมายที่จะได้รับสิทธิดังกล่าวดังกล่าว ประกอบด้วย

1.อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร

2.อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน ผลิตพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด

3.อุตสาหกรรมฐานเทคโนโลยีชีวภาพ

4.อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข

5.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

6.อุตสาหกรรมวัสดุก้าวหน้า

7.อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่อง นุ่งห่ม และเครื่องประดับ

8.อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

9.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ บริการสารสนเทศ

และ 10.อุตสาหกรรมฐานการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรืออุตสาหกรรมใหม่

ประโยชน์จูงใจอื่น ๆ ที่มีผลแล้ว

อุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งสิบดังกล่าวนั้น รัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีประโยชน์อื่น ๆ อีก ที่มีผลบังคับแล้ว เช่น พระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีให้ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ วันที่ 14 มกราคม 2560  ประโยชน์นี้เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการสร้างการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนเทคโนโลยี การวิจัยและการพัฒนา เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ระดับสูงต่อเนื่อง

เงื่อนไขสำคัญสำหรับการยกเว้นภาษี 5 ปีนั้นนี้ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการต้องจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม  2558  ถึงวันที่ 31 ธันวาคม  2563 เท่านั้น และต้องประกอบการอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจที่รัฐบาลอนุญาต มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 30 ล้านบาท ซึ่งต้องเป็นรายได้จากการขายสินค้าและบริการในเขตเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมด

การยกเว้นภาษีให้กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 10 กลุ่ม เป็นเวลา 5 ปี เพื่อเป็นการต่อยอดจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กิจการดังกล่าวได้รับจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ที่จะมีการยกเว้นภาษีเป็นเวลา 8 ปี ซึ่งจะทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายได้เว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลานานถึง 13 ปี โดยรัฐบาลมั่นใจว่าจะดึงดูดให้มีการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ของเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีต่อๆ ไป

ความคืบหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

ความคืบหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ล่าสุดคือ ร่างพ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยความคืบหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

รัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เป็นอย่างมาก โดยกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมโดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ควบคู่กับยกระดับเส้นทางคมนาคมพื้นฐานทั้งทางบก เรือ และอากาศ โดยเบื้องต้น EEC ครอบคลุมเขตพื้นที่ ๓ จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งถือเป็นพื้นที่เริ่มต้นสำคัญในการผลักดันประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) มีมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท โดยมี 15 โครงการเป้าหมายเบื้องต้น เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมให้เหมาะสมทั้งสินค้าและประชาชนอาทิ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด รถไฟความเร็วสูงและมอเตอร์เวย์สายใหม่

ทั้งนี้รัฐบาลมุ่งหวังให้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (ECC) คือ เครื่องจักรกลใหม่ในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศแบบก้าวกระโดด ยังสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและประโยชน์เชิงสังคมทั้งในระดับชุมชน ประเทศ และCLMVและ AEC จากการประเมินคาดได้ว่า EEC จะทำให้ GDP ประเทศขยายตัวร้อยละ 5 ต่อปี เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1 แสนคนต่อปี และจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านคนต่อปีด้วย

นัยบ่งชี้ความสำคัญของโครงการ  EEC  อีกประการหนึ่งคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) พร้อมทั้งมีการจัดตั้ง ศูนย์ One Stop Service ในพื้นที่ การนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในการเดินหน้าขับเคลื่อน EEC ในฐานะยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศ บนพื้นฐานการเติบโตเศรษฐกิจและสังคมอย่างรอบด้าน (Inclusive Growth) ทั้งเพิ่มรายได้ของประชาชาติ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปพร้อมๆ กัน

#

 

บัญชีสยาม