ทบทวนเขตเศรษฐกิจเศษชายแดนและอีอีซี
  • 11 มิถุนายน 2020 at 11:35
  • 5016
  • 0

ข้อมูลการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษควรบันทึกเอาไว้เพื่อเลือกมาใช้ประโยชน์ตามพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง  ข้อมูลลักษณะเป็นทางการนำมาจาก มติคณะรัฐมนตรีวันที่  9 มิถุนายน 2563 เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ….

การเชื่อมโยงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

สศช. เสนอว่า ตามที่คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 มีมติให้ความเห็นชอบกรอบแนวคิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง-ภาคตะวันตก เพื่อเป็นพื้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมาย และมอบหมายให้ สศช. จัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. …. โดยแก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2558 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 แล้ว

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจและมติคณะรัฐมนตรี (21 พฤษภาคม 2556 และ 4 กุมภาพันธ์ 2563) สศช. จึงได้ยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ขึ้น ซึ่งร่างระเบียบในเรื่องนี้จะเป็นกลไกในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ในการบริหารจัดการ กำกับติดตาม และสนับสนุนการดำเนินงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อันจะทำให้การบริหารจัดการและขับเคลื่อนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษทั้งหมดอย่างบูรณาการ มีประสิทธิภาพและต่อเนื่องทั้งพื้นที่ที่ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน และพื้นที่ที่มีศักยภาพเพิ่มเติมจึงได้เสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ

 

สาระสำคัญของร่างระเบียบ 

1. กำหนดบทนิยามคำว่า “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” หมายถึง พื้นที่ดังต่อไปนี้ 

1.1 พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง ได้แก่  

(1) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี 

(2) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย

(3) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก

(4) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด

(5) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม

(6) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส

(7) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร

(8) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา

(9) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว

(10) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย 

1.2 พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC)

 1.3 พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC – Creative LANNA)

1.4 พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC - Bioeconomy) 

1.5 พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ภาคตะวันตก (Central-Western Economic Corridor : CWEC)  และบริเวณพื้นที่อื่นใดที่กำหนดเพิ่มเติมโดยคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และให้ถือว่าเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ที่ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบันสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยให้ระเบียบ                   สำนักนายกรัฐมนตรีฯ นี้ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวก่อนวันที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ นี้ใช้บังคับ

ตั้งคณะกรรมการ “กพศ.” ดูแล

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ” เรียกโดยย่อว่า “ กพศ.” มีอำนาจหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบายแนวทางการดำเนินงานและการบริหารการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย 

2.1 นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 

2.2 รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ

2.3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นกรรมการ

2.4 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ

2.5 ประธานกรรมการหอการค้าไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการ  

2.6 ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวนไม่เกินสามคนเป็นกรรมการ 

ให้เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ได้รับมอบหมายหนึ่งคน และเจ้าหน้าที่ สศช. ที่ได้รับมอบหมายหนึ่งคน เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ  

ให้ สศช. ทำหน้าที่เลขานุการของ กพศ. รับผิดชอบในด้านวิชาการและธุรการ ตลอดจนอำนวยการในการปฏิบัติหน้าที่ของ กพศ. และปฏิบัติการอื่นตามที่ กพศ. มอบหมาย

 

ข้อสังเกต

ในปัจจุบันความคืบหน้าของกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยังไม่โดดเด่นถึงระดับจุดประกายความหวังใหม่ให้เศรษฐกิจไทย  อย่างไรก็ตามหลังจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ดีขึ้น จนถึงระดับไว้วางใจ ไม่ว่าเป็นเพราะมีวัคซีนป้องกัน  มียารักษา การดูแลที่ทำให้หายจากโรคได้รวดเร็ว ไม่มีคนเสียชีวิต(จำนวนมาก) มีมาตรดูแลป้องกันที่ดีไม่มีคนป่วยเป็นจำนวนมาก  การเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ย่อมมีมากขึ้น  ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ย่อมมีมาตรการเร่งรัดให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นเช่นกัน  รวมทั้งนำเรื่องมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นมิติการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายหลังวิกฤติโรคระบาดโควิด 19

#