ทบทวนสภาพแวดล้อมอุตสาหกรรมก่อสร้าง หาทางอยู่รอดก่อน
  • 30 กันยายน 2020 at 18:19
  • 1652
  • 0

นั่งลงที่โต๊ะทำงาน ถอดหน้ากากอนามัยสูดลมหายใจให้เต็มปอด  เชิดหน้าเผชิญเดินต่อไป เรามาทบทวนสภาพแวดวงต่าง ๆ ของวงการอุตสาหกรรมก่อสร้างกันดูจากนอกสู่ใน ตั้งแต่สภาพเศรษฐกิจของไทยจนถึงปัจจัยที่ใกล้ชิดอุตสาหกรรมก่อสร้าง

โลกมองเศรษฐกิจไทย

ผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด เมื่อสรุปรวบรัด  เราได้รับรู้มุมมองจากธนาคารโลกต่อเศรษฐกิจไทยดังนี้

ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจไทยติดลบ 8.3% ในปี 2563 นี่เป็นอัตราติดลบที่มากสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19  และมีโอกาสติดลบสูงสุด 10.4%  ไม่เพียงเท่านี้ธนาคารโลกยังมองว่า ปี 2564 จีดีพีของไทยในกรณีที่แย่ที่สุดคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 3.5%  ส่วนเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกโดยรวมในปี 2563 อาจเพิ่มขึ้น 0.9% ซึ่งเป็นอัตราเพิ่มที่ต่ำสุดในรอบ 53 ปี ส่วนเรื่องที่น่าวิตกคือ โรคระบาดโควิด-19และผลกระทบต่อเนื่องจะทำให้เกิดคนจนทั้งกลุ่มใหม่และเก่าเกิดขึ้นรวมกันทั่วโลกอยู่ที่ 38 ล้านคน

ผากต้องการดูรายละเอียดของการประเมินดังกล่าวไปค้นหาได้จากรายงาน   From Containment to Recovery” (https://openknowledge.worldbank.org/bitstream/handle/10986/34497/9781464816413.pdf) รายงานนี้ได้ปรับปรุงข้อมูลด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP) ประจำเดือนตุลาคม 2563 โดยระบุว่ากิจกรรมของเศรษฐกิจภายในประเทศกำลังฟื้นตัวในบางประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

เรารู้กันดีว่า จุดที่บอบบางของ เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วยคือ การพึ่งพาประเทศอื่น ๆ ในโลกนี้อย่างมาก-หมายถึงการพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด – 19 ความต้องการของทั่วโลกนั้นยังคงต่ำอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงคาดได้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของของภูมิภาคนี้จะสูงขึ้นเพียง 0.9% ในปี 2563 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2510 หรือในรอบ 53 ปี ทั้งนี้สาธารณรัฐประชาชนจีนจะเติบโตขึ้น 2.0%อันเนื่องมาจากการเพิ่มการลงทุนของภาครัฐ ขณะเดียวกันจีนยังสามารถควบคุมอัตราการติดเชื้อใหม่ในระดับที่ต่ำได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

รายงานย้ำว่า โควิด-19 ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกใน 3 ด้านต่อประเทศกำลังพัฒนาของ EAP อย่างสำคัญคือ สถานการณ์โรคระบาดนั้นส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจโดยตรง และมีแรงกระแทกซ้ำจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกมีปัญหาชะลอตัวและส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่  ภาพสะท้อนเช่น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จีนมีผลผลิตที่หดตัวลง 1.8% และประเทศอื่นๆของภูมิภาคนี้หดตัวลง 4% โดยเฉลี่ย จุดหลักยอยู่ที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่สามารถฟื้นตัวได้ในเร็ววัน และการส่งออกหดตัวอย่างรุนแรง แม้ว่าเงินทุนระยะสั้นได้ไหลกลับเข้าสู่ภูมิภาคแต่ความไม่แน่นอนที่มีอยู่ทั่วโลกนั้นยังคงสกัดกั้นการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ อีกความสามารถของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่มากพอ

นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังผลเสียหายบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำคือ ความยากจนในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีโดยมีประชากร 38 ล้านคนที่อาจตกอยู่ในความยากจน หรือต้องกลับไปอยู่ในความยากจนอันเป็นผลมาจากโรคระบาดโควิด -19 ทั้งนี้อ้างอิงจากเส้นแบ่งความยากจนของระดับรายได้กลาง-สูงที่ 5.50 ดอลลาร์ต่อวัน หรือราว 177 บาทต่อวัน หรือ 5,280-5,300 บาทต่อเดือน

รายงานข่าวระบุว่านางวิคตอเรีย กวากวา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า “โควิด-19 ไม่เพียงแต่กระทบกลุ่มคนยากจนอย่างหนักหน่วงที่สุด แต่ยังสร้างคนจนกลุ่มใหม่ขึ้นมา โดยรายงานแจ้งเตือนว่าหากไม่มีการดำเนินการเพื่อรับมือในรูปแบบที่หลากหลาย โรคระบาดอาจทำให้การเติบโตของภูมิภาคน้อยลงในช่วงทศวรรษหน้า หรือช่วง 10 ปี คิดเป็น 1% ต่อปี ซึ่งกระทบต่อครัวเรือนยากจนมากที่สุด

ประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน ข้อมูลจากรายงาน EAP คาดการณ์ว่าอินโดนีเซียจะติดลบ 1.6% ในปี 2563  มาเลเซียติดลบ 4.9% ฟิลิปปินส์ติดลบ 6.9% กัมพูชาติดลบ 2% ลาวติดลบ 0.6% ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเวียดนามจะยังขยายตัวเป็นบวกได้ในปีนี้ โดยขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.8% เช่นเดียวกับเมียนมา ซึ่งธนาคารโลกประเมินว่าจะขยายตัวได้ในปีนี้ 0.5%

เศรษฐกิจไทย - พึ่งเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

เมื่อเราพุ่งตรงไปที่สถานการณ์เศรษฐกิจไทยกับโรคระบาดโควิด 19 รัฐบาลไทยดำเนินการเข้มงวดต่อการป้องกันโรคระบาดโควิด -19 ได้ผลดี ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศอยู่ในระดับต่ำมาก อย่างไรก็ตามเรา ๆ ท่าน ๆ ก็เห็นแล้วว่า “ต้นทุน” ของความสำเร็จนี้สูงมาก

ทั้งนี้มีเหตุปัจจัยหลายประการ เริ่มจากพื้นฐานแห่งรายได้สำคัญของประเทศมาจากรายได้จากการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง ปี 2562 ที่ผ่านมาไทยเรามีรายได้จากนักท่องเที่ยวราว 3.01 ล้านล้านบาทโดยกว่า 64% ของรายได้นี้มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยปี 2562 ชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในไทยสูงถึง 39.7 ล้านคน แต่เมื่อปี 2563 เกิดการโรคระบาดโควิด 19 ประเทศไทยใช้มาตรการเข้มงวด “ปิดบ้าน ปิดร้าน ปิดเมือง ปิดประเทศ” ในช่วงระยะนับเดือน ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2563 ปรับตัวลดลงอย่างมาก และส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมสูง

อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลมีความมั่นใจว่าสามารถ “ควบคุม” และรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 ได้ ดังนั้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563  ภาครัฐจึงเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น นอกเหนือจากมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ อันเป็นการพยุงเศรษฐกิจ  เมื่อโฟกัสที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นล่าสุดรัฐบาลออกมาตรการหลายอย่าง อาทิ

1) มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ (ลดค่าที่พัก, ค่าเดินทาง, ค่าใช้จ่าย)

2) การเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ ที่ประสงค์จะเดินทางมาพำนักระยะยาวในไทย (Special Tourist Visa)

แม้ว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาอาจเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้น แต่การเปิดโอกาสทีละน้อย และเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดโรคบาดโควิด- 19  ในช่วงถัดไป ควรเป็นเป็นทางเลือกที่เหมาะสม

เศรษฐกิจไทย – พึ่งรายได้จากการส่งออกมาก

ประเทศไทยมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยว เป็นสัดส่วน 72% ของ GDP  การส่งออกของไทยบอบซ้ำอย่างไรบ้างจากผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19

เรามาดูข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระบุว่า เดือนมกราคม – สิงหาคม  2563 หรือ 8 เดือนแรกปี 2563 การส่งออกไทยหดตัวร้อยละ 7.8 YoY  ทั้งนี้ส่งออกไทยในเดือนสิงหาคม 2563 หดตัวร้อยละ 7.9 YoY  อย่างไรก็ดี หากหักสินค้าเกี่ยวกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธฯ การส่งออกไทยเดือนสิงหาคม 2563 หดตัวที่ร้อยละ 14.1 YoY ซึ่งเป็นอัตราที่เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ 13.0 YoY โดยการส่งออกทองคำขยายตัวอย่างมากในเดือนสิงหาคม 2563 ที่ร้อยละ 71.5 YoY ขณะที่ในภาพรวม สินค้าประเภทอื่นทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถยนต์ เครื่องจักรกล เหล็ก แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป ยางพารา ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ข้าว และน้ำตาลทราย ขณะที่สินค้าที่การส่งออกยังคงขยายตัวได้ดียังคงเป็นสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (work from home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด และอาหารบางประเภท อาทิ ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทูน่ากระป๋อง อาหารสัตว์เลี้ยง ตู้เย็น ไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น

เมื่อพิจารณาตลาดส่งออกของไทย พบว่า สหรัฐฯ เป็นตลาดหลักตลาดเดียวที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยขยายตัวเป็นบวกในเดือนสิงหาคม 2563 ที่ร้อยละ 15.2 YoY แต่ก็เติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกของไทยไปยังตลาดหลักอื่นๆ ยังหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกไทยไปยังจีนหดตัวในอัตราที่เร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.0 YoY ในเดือนสิงหาคม 2563 อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ในจีนยังคงอ่อนแรง แม้ว่าเศรษฐกิจจีนโดยรวมมีการฟื้นตัว ประกอบได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่หลายแห่งทั่วประเทศ

แม้ว่าใน 8 เดือนแรก การส่งออกไทยหดตัวน้อยกว่าที่ประเมิน แต่ทิศทางการส่งออกไทยปี 2563 ยังเผชิญสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเสี่ยงสูง ประกอบกับทิศทางค่าเงินบาทที่มีความผันผวนอย่างมาก โดยสถานการณ์แพร่ระบาดยังคงมีความเสี่ยงจากการระบาดซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเข้าใกล้ฤดูหนาว ซึ่งในขณะนี้หลายประเทศในยุโรปก็เผชิญการแพร่ระบาดระลอกสองซึ่งดูเหมือนจะรุนแรงกว่าในรอบแรก เรื่องนี้ก่อให้เกิดความกังวลต่อการนำมาตรการล็อกดาวน์กลับมาใช้ นอกจากนี้ ประเด็นเบร็กซิท ที่มีแนวโน้มสูงว่าอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงในวันที่ 1 มกราคม 2564 จะสร้างความผันผวนแก่ตลาดเงินโลก ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มที่จะยกระดับความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันการค้าโลกและเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ดังนั้น ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของเศรษฐกิจโลก การส่งออกไทยน่าจะยังคงได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์โลกที่มีแนวโน้มอ่อนแรงอยู่ ขณะที่การส่งออกทองคำจะยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกไทยมีความผันผวน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการการส่งออกไทยปี 2563 หดตัวที่ร้อยละ 12.0 แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่มูลค่าการส่งออกไทยในปีนี้จะหดตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ดังกล่าว

การส่งออกของประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรม แต่เวลานี้ภาคอุตสาหกรรมของไทยอยู่ในแบบดั้งเดิมมาก ดังนี้จึงประสบกับความเสี่ยงเรื่อง Disruption จากเทคโนโลยีต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 อยู่ก่อนหน้า เมื่อเกิดโรคระบาดดังกล่าวขึ้น อัตราเร่งของการ Disruption จึงรวดเร็วมากขึ้นมาก มีผลกระทบทั้งการแข่งขันในปัจจุบัน และอนาคต รวมทั้งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯจากกองทุนและนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากแนวคิดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติให้น้ำหนักต่อการลงทุนในประเทศที่มีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีมากกว่า ซึ่งหากบริษัทจดทะเบียนของไทยยังมีการพัฒนาที่ช้า การจะคาดหวังให้เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญคงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก

เศรษฐกิจ-ผลกระทบจากการเมืองในประเทศ

สถานการณ์การเมืองในไทยกลับมาร้อนแรงขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 และมีโอกาสร้อนขึ้นอีกในต้นไตรมาสสี่ปีเดียวกัน พลังขับดันมาจากการชุมชนของกลุ่มนักเรียน นิสิต และนักศึกษาที่ต้องการเรียกร้องประชาธิปไตย และเมื่อพิจารณาท่าทีที่แสดงออกของบุคลากรการเมืองระดับต่างๆ ในภาครัฐและพรรคกลุ่มการเมืองแล้ว นักวิเคราะห์การเมืองยังวิตกว่าอาจเกิดเรื่องที่ไม่คาดฝัน  ขณะเดียวกันท่าทีเช่นนั้นกลับทำให้มีการชุมนุมที่ขยายวงกว้างมากขึ้น ขยายและยกระดับประเด็นทางการเมืองให้สูงขึ้น แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลแรงยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเสถียรภาพของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  เรื่องที่มองเห็นกันไม่ยากคือ ถ้าเหตุการณ์เหล่านี้ยังคงยืดเยื้อต่อไปย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจรวมถึงความเชื่อมั่นในตลาดทุนด้วย หากเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นวิกฤตที่เกิดขึ้นย่อมร้ายแรงกว่าวิกฤต 2540 แน่นอน

ตอนนี้ได้แต่หวังว่าจะมีปัจจัยบวกจากความคืบหน้าของวัคซีนป้องกันโรคโควิด- 19 สรุปเรื่องนี้สั้น ๆ ว่า ในปัจจุบันมีวัคซีนทยอยเข้าสู่การทดลอง Phase 3 แล้วจำนวน 9 ราย ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563  ซึ่งเป็นการทดลองในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ และใช้ประมาณ 4-6 เดือน เพื่อประเมินประสิทธิภาพและผลข้างเคียงจากวัคซีน ดังนั้น ในช่วงไตรมาสี่ปี 2563   จึงเป็นช่วงที่ควรเห็นผลเชิงบวกจากการทดลอง และหวังได้ว่าจะมีวัคซีนอย่างน้อย 1 รายการ ที่ผ่านเกณฑ์และสามารถผลิตใช้ในวงกว้างได้  หากเป็นเช่นนั้นความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจย่อมมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ความพยายามแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ

เป็นภารกิจพื้นฐานที่ภาครัฐโดยรัฐบาลและกลไกรัฐทั้งหลายทั้งปวงต้องมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เราสามารถสรุปโครงการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยสังเขปดังนี้

โครงการ

รายละเอียด

ระยะเวลา

วงเงิน (ล้านบาท)

1. มาตรการที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว ได้แก่

มาตรการคนละครึ่ง

1.100 บาท/คน/วัน รวมไม่เกิน 3,000 บาท

2.เพื่อใช้จ่ายซื้ออาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป ยกเว้นล็อตเตอรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และการบริการ

3.ร้านค้าที่สามารถเข้าร่วมได้คือ ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ร้านค้ารายย่อยทั่วไป ที่ไม่ใช่นิติบุคคล และไม่ใช่ร้านค้าสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจแฟรนไชส์

23 ต.ค.  – 31 ธ.ค. 63

 

30,000

เพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

เพิ่มวงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 500 บาท/คน/เดือน

 

ต.ค.-ธ.ค. 63

21,000

มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว Special Tourist Visa (STV)

เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าเงื่อนไข

1.เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มพักระยะยาว (Long Stay)

2.ปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค. และกักตัวในที่พัก 14วัน

3.ต้องเดินทางด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลาหรือเครื่องบินส่วนตัว

4) วีซ่า 90 วัน และต่ออายุได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 90 วัน รวมไม่เกิน270 วัน (90+90+90)

1 ต.ค. เป็นต้นไป -

 

 

2) มาตรการที่คาดว่าน่าจะได้รับการอนุมัติในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563

โครงการ

รายละเอียดมาตรการที่เอกชนเสนอ

กระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์

1.ลดค่าโอน-จดจำนองจาก 3% เหลือ 0.01% ปรับเพดานจากราคาที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็น 5 ล้านบาท

2. ปรับเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน (บ้าน BOI) จากเดิมกำหนดราคา 1-1.12 ล้านบาท เป็น 1.5-1.8 ล้านบาท

3) ปรับเปลี่ยนกฎหมายการจัดสรรที่ดิน บ้านเดี่ยวจาก 50 ตร.ว. เหลือ 40 ตร.ว., บ้านแฝด จาก 35 ตร.ว. เหลือ 30 ตร.ว.

4) ปรับปรุงเกณฑ์ EIA ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เดิมบังคับใช้กับหมู่บ้านพื้นที่ 100 ไร่ หรือ 500 แปลง เป็น 200 ไร่ หรือ 1000 แปลง  EIA อาคารชุด จากเดิม 79 ยูนิต ขึ้นไป เป็น 240 ยูนิต ขึ้นไป

 

ยังมีความพยายามออกมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจอื่นๆ อีก ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจต้องรอให้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่เสียก่อน

สภาพแวดล้อมใกล้ชิดอุตสาหกรรมก่อสร้าง

อันดับแรก งานก่อสร้างภาครัฐ สถานการณ์เศรษฐกิจขยายตัวติดลบเช่นนี้เป็นที่รู้กันว่า งานก่อสร้างภาครัฐเป็นพลังสำคัญในการกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง  นอกเหนือจากงานก่อสร้าง งานซ่อมบำรุงที่มีตามปกติของงบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว  งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลเป็นขวัญกำลังใจและพลังที่เป็นจริงในการกระตุ้นอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ตัวอย่างโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลที่เตรียมเปิดประมูล

1.รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท เป็นงานโยธา 9.6 หมื่นล้านบาท และงาน M&E 3.1 หมื่นล้านบาท อยู่ในขั้นตอนเตรียมเปิดประมูลแบบ PPP Net Cost กำหนดยื่นซองประมูล 6 พฤศจิกายน 2563

2.รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 1 แสนล้านบาท ครม.เห็นชอบ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินแล้ว กำหนดการประมูลแบบ PPP Gross Cost หลังจากประมูลสายสีส้มตะวันตก แบ่งเป็นงานโยธา 8 หมื่นล้านบาท และงาน M&E 2.7 หมื่นล้านบาท

3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ส่วนต่อขยายประกอบด้วย 3 เส้นทางคือ รังสิต-ธรรมศาสตร์ 6 พันล้านบาท ตลิ่งชัน-ศาลายา 9.9 พันล้านบาท และ ตลิ่งชัน-ศิริราช 4.6 พันล้านบาท เปลี่ยนเป็นแบบ PPP

4. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมประกาศร่าง TOR รถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง 1.5 แสนล้านบาท คือ สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ วงเงิน 8.5 หมื่นล้านบาท และ สาย บ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม 6.6 หมื่นล้านบาท กำหนดขายซองประมูลในเดือนพฤศจิกายน 2563  อย่างไรก็ตามมีข้อมูลเพิ่มเติมว่าภาครัฐเตรียมผลักดันโครงการรถไฟทางคู่เส้น ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 169 กิโลเมตรมูลค่าโครงการ 26,663.26 ล้านบาท ให้ดำเนินการประมูลเร็วขึ้นเพราะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับ สปป.ลาว ที่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมไปยังประเทศจีนตอนใต้ ที่กำหนดเปิดบริการในเดือนมกราคม 2564 โดยเส้นทางขอนแก่น-หนองคาย มีการออกแบบและได้รับอนุมัติ EIAแล้ว โดยคาดการณ์ปริมาณสินค้าในปี 2580 ที่ 12 ล้านตัน/ปี มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 19%

อันดับที่สอง งานก่อสร้างภาคเอกชน อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์  งานก่อสร้างตึกสูงคอนโดมิเนียม และมิกซ์ยูสโครงการใหม่ย่อมไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นน้อยมากในช่วงนี้ ส่วนที่ก่อสร้างลงเสาเข็มงานฐานรากไปแล้วย่อมดำเนินงานต่อไป  ขณะเดียวกันที่อยู่อาศัยที่ยังไปได้ค่อนข้างดีเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบ ทั้งรูปแบบบ้านเดี่ยว และทาวน์โฮมที่สร้างสรรค์รูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นรองรับความต้องการของผู้ซื้อที่ต้องการที่อยู่อาศัยซึ่งปลอดภัยจากโรคติดต่อ และสามารถ Work from home ได้อย่างได้ผลดี ภาพที่เกิดขึ้นของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์คือ ยอดขายที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงระดับบนปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสองปี 2563 แรงเหวี่ยงทางการตลาดเช่นนี้ต่อเนื่องมาในครึ่งปีหลัง 2563  ลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงหาซื้อบ้านแนวราบเพิ่มเติม แม้ว่ามีบางส่วนซื้อคอนโดมิเนียมทำเลดีที่ราคาลดลงมาถึงจุดที่น่าสนใจเพื่อเป็นการลงทุนในระยะยาว

ที่อยู่อาศัยระดับปานกลางถึงล่างตลาดฝืด จุดสำคัญยังมาจากมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวด รวมถึงความสามารถในการซื้อของกลุ่มเป้าหมายลดลงเพราะเศรษฐกิจซบเซา หนี้สินครัวเรือนสูง อัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าผู้ประกอบการลดราคาและส่งเสริมการขายเพื่อลดสต็อดลดต้นทุนมากกว่ากระตุ้นงานก่อสร้างใหม่หรือเน้นกำไร

อุตสาหกรรมก่อสร้าง-ต้นไม้คอยฝน และทนพายุ

จากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่กล่าวว่า อาจมีบริษัทธุรกิจในอุตสาหกรรมก่อสร้างเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่รักษาสถานะของตนเองให้อยู่ในจุดที่ดีได้ แม้ว่าโดยภาพรวมแล้วแทบทุกบริษัทในอุตสาหกรรมนี้มีผลประทบการที่ไม่อาจกล่าวได้ว่าดี  ดูตัวอย่างของกลุ่มบริษัทรับเหมาที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น  CK, ITD, STEC, UNIQ  ผลประกอบการในปี 2563 ล้วนมีแนวโน้มที่ไม่สดใส เช่น CK เหลือ Backlog น้อย 3.1 หมื่นล้านบาท จะกดดันกำไรในปีนี้ปรับลดลง, ITD ถูกกระทบจากภาระดอกเบี้ยจ่ายและค่าใช้จ่ายที่สูง จากโครงการที่ลงทุนไปแต่ยังไม่ออกผล STEC มีอัตรากำไรขั้นต้นใน Backlog ที่ต่ำเพียง 3%-5% แม้จะเหลือ Backlog ที่สูง 7 หมื่นล้านบาท UNIQ ได้รับผลกระทบจากภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูง และงานประมูลใหม่ประมูลต่ำกว่าราคากลางมาก

“ไม้ใหญ่” ระดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรมก่อสร้างยังเป็นเช่นนี้  ย่อมมิต้องกล่าวถึงไม้ต้นเล็กต้นน้อยว่าเป็นเช่นไร แต่อย่างไรก็ตาม แต่ละบริษัทต้องมีการจัดการที่ดีของตนเองเพื่ออยู่รอดต่อไป

Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ เคยมีการแนะนำผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้างว่า ควรเตรียมการสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจของตนเองดังนี้

 1.ดูแลและบริการจัดการ บุคลากร แรงงาน และพื้นที่หน้างาน เรื่องนี้เป็นพื้นฐานในการรับมือกับโรคระบาดโควิด -19และผลกระทบต่อเนื่อง มาตรการที่จำเป็นต้องทำต่อเนื่อง เช่น การตั้งจุดคัดกรองเพื่อตรวจวัดไข้ สังเกตการณ์ และคัดแยกพนักงานและแรงงาน ก่อนที่เข้าสู่ไซต์งาน แคมป์ที่พัก หรือสำนักงาน การทำความสะอาดพื้นที่ พ่นยา ฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ และใช้มาตรการที่ปลอดภัยในการเคลื่อนย้ายบุคลากรระหว่างการเดินทางไป/กลับจากไซต์งาน แคมป์ที่พัก หรือสำนักงาน มาตรการการเคลื่อนย้ายบุคลากรกรณีที่เกิดการติดเชื้อ รวมถึงการเตรียมแผนบุคลากรให้เพียงพอ (แรงงานต่างชาติ) เพื่อให้การก่อสร้างดำเนินต่อไปได้

2.เตรียมวัสดุก่อสร้างและเงินทุนหมุนเวียนที่เหมาะสม  นั่นคือ ผู้รับเหมาควรมีการบริหาร supply chain  ที่เหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาจากการขนส่งที่ล่าช้าหรือสินค้าขาดแคลน รวมถึงเงินสดรองรับ (cash cushion) เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน รวมถึงการบริหารจัดการวัสดุก่อสร้างให้เหมาะสมกับปริมาณและเวลาที่ต้องการอีกด้วย นอกจากนี้สถานการณ์โรคระบาดโควิด -19 และผลกระทบต่อเนื่องมีแนวโน้มทำให้การก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนงาน ซึ่งส่งผลถึงการเบิกจ่ายเงินตามงวดงานยาวนานขึ้น ผู้รับเหมาโดยเฉพาะรายกลางและรายเล็กที่มีสภาพคล่องต่ำควรมีการเตรียมความพร้อมด้านเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการใช้จ่ายที่เหมาะสม เช่น การติดต่อกับธนาคารพาณิชย์เพื่อพิจารณาจัดการกับวงเงินสินเชื่อเก่าและวงเงินสินเชื่อใหม่ที่มีดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) การบริหารลูกหนี้การค้า (account receivable) และเจ้าหนี้การค้า (account payable) การปรับแผนชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น

และ 3.เตรียมพร้อมเจรจากับเจ้าของโครงการในการประเมินความก้าวหน้าของการก่อสร้างเพื่อหาข้อสรุป นำไปสู่การลดข้อพิพาทจากสัญญาว่าจ้าง  ทั้งนี้หลายโครงการมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด -19 ผู้รับเหมาควรเตรียมพร้อมเจรจาชี้แจงกับเจ้าของโครงการเพื่อหาข้อสรุป ซึ่งนำไปสู่การลดข้อพิพาทจากสัญญาว่าจ้าง ผู้รับเหมาควรประเมินระยะเวลาที่จะล่าช้าออกไปพร้อมทั้งอธิบายสาเหตุของการส่งมอบงานล่าช้าให้ชัดเจน รวมถึงค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการส่งมอบงานที่ช้าลง เช่น ค่าเช่าเครื่องจักร ค่าแรง ราคาวัสดุก่อสร้างที่มีโอกาสปรับตัวขึ้นชั่วคราว จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดเสนอต่อเจ้าของโรงการเพื่อพิจารณาหาข้อสรุปเพื่อเจรจาหรือปรับเปลี่ยนสัญญาก่อสร้างต่อไป

แน่นอนว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างต้องหาทางอยู่รอด  การอยู่รอดของเจ้าของ ผู้ถือหุ้นใหญ่  อาจไม่ยาก แต่ถ้าหมายถึงการอยู่รอดของกิจการ  การอยู่รอดของพนักงานลูกจ้างทั้งหลาย และขยายไปถึงซัพพลายเออร์ด้วยแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ใหญ่โตมากขึ้น  (ตรงนี้อาจต้องถามเรื่องขนาดและชนิดของหัวใจกันดู)

แต่อีกด้านหนึ่งเวลาโดยสารเครื่องบินแล้วมีปัญหา  กระทั่งต้องใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ ต้องจำการสาธิตของเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบินไว้เสมอว่า  ให้ใส่หน้ากากออกซิเจนให้ตนเองก่อน แล้วจึงไปใส่ให้ผู้อื่น

#

 

#