ความคืบหน้าขนส่งมวลชนระบบรางภูเก็ต
  • 5 พฤศจิกายน 2020 at 17:22
  • 2273
  • 0

ข้อมูลความคืบหน้าล่าสุดของโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตติดตามได้จากมติคณะรัฐมนตรีวันที  3 พฤศจิกายน 2563 เรื่อง   ผลการดำเนินงานโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

 

แนวเส้นทางและระบบรถไฟฟ้า

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการดำเนินงานโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ  ดังนี้ 

สาระสำคัญ และข้อเท็จจริง

โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ตามผลการศึกษาออกแบบของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)  แบ่งเส้นทางออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง และระยะที่ 2 ช่วงสถานีรถไฟท่านุ่น – สถานีเมืองใหม่ ทั้งนี้ รฟม. ได้เริ่มดำเนินงานโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 เป็นลำดับแรก (ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)  ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 ตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยอ้างอิงแนวเส้นทางและแบบกรอบรายละเอียดตามผลการศึกษาออกแบบของสนข. เป็นหลัก มีสรุปผลการดำเนินงานด้านต่างๆ ดังนี้

1. การนำเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

1)รฟม. ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ รฟม 004/2491 ลงวันที่ 15 กันยายน 2560 มอบอำนาจให้ สนข. เป็นผู้นำเสนอขอความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตามข้อกำหนดและขอบเขตงานของที่ปรึกษาของ สนข. ตามข้อ 1.2 จนกว่าจะแล้วเสร็จ

2)สผ. ได้มีหนังสือที่ ทส 1009.4/1528 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 แจ้งผลการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ (คชก.) ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 ในการพิจารณารายงาน EIA โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ตามที่ สนข. เสนอ โดย คชก. ได้มีมติให้ปรับปรุงแก้ไขและจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมในรายงาน EIA ก่อนนำเสนอ คชก. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

2. การตราพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดภูเก็ต

พระราชกฤษฎีกากำหนดจังหวัดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดำเนินกิจการรถไฟฟ้า พ.ศ. 2562 เพื่อให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดพังงาและภูเก็ต ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2562 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 7 เมษายน 2562)

3. การจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

1)แนวเส้นทางโครงการ

โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 มีแนวเส้นทางเริ่มจากสถานีท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต โดยแนวเส้นทางช่วงนี้เป็นโครงสร้างยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 4031 จากนั้นลดระดับลงสู่ระดับดินที่ทางหลวงหมายเลข 4026 และปรับเป็นโครงสร้างยกระดับอีกครั้งเพื่อข้ามทางแยกสนามบินและอุโมงค์ทางลอดทางแยกสนามบิน เลี้ยวขวาแล้วจึงลดระดับลงสู่ระดับดินบนทางหลวงหมายเลข 402 เพื่อเข้าสู่เมืองภูเก็ตโดยแนวเส้นทางช่วงที่ผ่านอำเภอถลางจะลดระดับเป็นทางลอดใต้ดิน ระยะทางประมาณ    3 กิโลเมตร ก่อนจะปรับกลับขึ้นสู่ระดับดิน ผ่านอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี – ท้าวศรีสุนทร ต่อมาก่อนเส้นทางเข้าสู่แยกบางคูจะลดระดับเป็นทางลอดใต้ดินผ่านทางแยกบางคู (แยกบายพาสต์) ก่อนกลับขึ้นสู่ระดับดิน เข้าสู่สถานีขนส่งผ่านเข้าเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต ผ่านถนนภูเก็ต และข้ามสะพานเทพศรีสินธุ์ (คลองเกาะผี) เข้าสู่ถนนเจ้าฟ้าตะวันออก (ทางหลวงหมายเลข 4021) และไปสิ้นสุดเส้นทางใกล้กับท่าเรือฉลอง บริเวณห้าแยกฉลอง

ระยะทางรวมประมาณ 42 กิโลเมตร มีสถานีทั้งสิ้นจำนวน 21 สถานี ประกอบด้วย สถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี สถานียกระดับ 1 สถานี (สถานีท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต) และสถานีใต้ดิน 1 สถานี (สถานีถลาง)

ศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ตั้งอยู่บริเวณใกล้ห้างเทสโก้โลตัสถลาง อำเภอถลาง มีพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ และมีอาคารจอดรถ (Park & Ride) จำนวน 2 แห่ง ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2 (พื้นที่จอดรถยนต์ 147 คัน และจักรยานยนต์ 406 คัน) และสถานีฉลอง (พื้นที่จอดรถยนต์ 274 คัน และจักรยานยนต์ 63 คัน)  ในเบื้องต้นโครงการฯ มีความจำเป็นจะต้องจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินตามแนวเส้นทาง สถานีศูนย์ซ่อมบำรุง และอาคารจอดรถ  รวมทั้งสิ้น 52 แปลง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 65 ไร่ โดยต้องรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างรวมประมาณ 66 หลัง

2)ระบบรถไฟฟ้า

โครงการฯ ได้ออกแบบเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบาประเภท Tram แบบพื้นต่ำ (Light Rail Transit / Low Floor Tram) โดยตู้ขบวนรถมีความกว้าง 2.40 - 2.65 เมตร และความยาว 30 – 40 เมตร มีความเร็วสูงสุด  ไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นระบบล้อเหล็กหรือล้อยาง โดยหากเป็นระบบล้อเหล็กจะมีความกว้างของรางเป็น Meter Gauge หรือ Standard Gauge ก็ได้ สำหรับระบบจ่ายไฟฟ้าขับเคลื่อนเป็นระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือศีรษะ (Overhead Contact Line) และมีระบบแบตเตอรี่สำรองสำหรับขับเคลื่อนในระยะสั้น (ช่วงผ่านอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี – ท้าวศรีสุนทร และเขตเมืองเก่าภูเก็ต) หรือระบบจ่ายไฟฟ้าอื่นๆ ที่ปลอดภัยได้มาตรฐานและเคยใช้งานในโครงการอื่นได้ผลดี (Proven use) 

3)การคาดการณ์จำนวนผู้โดยสาร คาดการณ์จำนวนผู้โดยสาร ณ ปีเปิดให้บริการ ประมาณ 39,000 คน-เที่ยว/วัน

 

วงเงินลงทุนเบื้องต้น

4)กรอบวงเงินลงทุนโครงการเบื้องต้น

รายการ

กรอบวงเงิน (ล้านบาท)

1.                   ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน

1,449

 

2.                   ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์

50

 

3.                   ค่าก่อสร้างงานโยธา

24,774

 

4.                   ค่างานระบบรถไฟฟ้า

3,514

 

5.                   ค่าขบวนรถไฟฟ้า

2,921

 

6.                   ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง

1,065

 

7.                   Provisional Sum

1,428

 

รวมทั้งสิ้น

35,201

 

 

หมายเหตุ

1. ค่างานจัดกรรมสิทธ์ที่ดิน มีสมมติฐานดังนี้

ประมาณการจากราคาประเมินที่ดินเพื่อจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมธนารักษ์รอบบัญชี พ.ศ. 2559 - 2562 แล้วได้คิดเทียบเป็นราคาซื้อขายโดยปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 120 และปรับเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 30 ตามหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการกำหนดค่าทดแทนโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ของ รฟม.

สิ่งปลูกสร้าง ประมาณการจากราคาประเมินค่าก่อสร้างอาคารของสมาคมผู้ประเมินทรัพย์สินแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2559

ค่าทดแทนอื่นๆ ประกอบด้วย ค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ ค่าทดแทนเพิ่มกรณีซื้อที่ดิน/สิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือ ค่าทดแทนเพิ่มตามผลการพิจารณาอุทธรณ์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยประมาณการร้อยละ 20 ของค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

2. ราคาข้างต้น เป็นราคา ณ ปี พ.ศ. 2562

3. ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง ค่างานโยธา และค่า Provisional Sum ของงานโยธาโครงการ รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไว้แล้ว

4. ค่างานโยธารวมค่าเงินเฟ้อระหว่างการก่อสร้าง 2.5 % ต่อปี

5. ค่า Provisional sum ประมาณการร้อยละ 5 ของมูลค่า ไม่รวมเงินเฟ้อระหว่างการก่อสร้าง

6. ราคาข้างต้นเป็นราคาที่คำนวณเงินเฟ้อร้อยละ 2.5 แล้ว โดยมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการก่อสร้างโครงการในรายการดังนี้

งานเตรียมการทั่วไป

งานถนนและงานระบายน้ำ : งานทางวิ่งระดับดิน และงานปรับปรุงถนนและระบบระบายน้ำ

งานปรับปรุงสะพานเดิม

งานก่อสร้างทางรถไฟฟ้ารางเบาใต้ดิน : ก่อสร้างด้วยระบบขุดเปิด และก่อสร้างด้วยระบบขุดเจาะ

งานสถานี : สถานีท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต สถานีถลาง สถานีนอกเมือง (6 สถานี) รวมถึงงาน TSS งานช่องหนีไฟและช่องระบายอากาศ และงานลิฟท์และบันไดเลื่อน

งานสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทาง : บริเวณสถานี อาคารจอดแล้วจร

 

ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจและด้านการเงิน

5)ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ

ผลการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจของโครงการฯ เป็นดังนี้

ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR)

มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV)

อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C ratio)

13.11 %

2,319.92 ล้านบาท

1.12

หมายเหตุ : ใช้สมมติฐานตาม MRT Assessment Standardization ในการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ

  

6)ผลตอบแทนทางด้านการเงิน

ผลการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางด้านการเงินของโครงการฯ เป็นดังนี้

ผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR)

มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV)

2.34%

-11,022.15 ล้านบาท

 หมายเหตุ : ใช้สมมติฐานตาม MRT Assessment Standardization ในการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางด้านการเงิน

7)รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนของโครงการ

ผลการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบ PPP ที่เหมาะสมในเบื้องต้น พบว่า การให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ รูปแบบ PPP Net Cost มีความเหมาะสม โดย รฟม. จะดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป

8)การขอใช้พื้นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการก่อสร้างโครงการ

คค. ได้จัดประชุมร่วมกันระหว่าง รฟม. กรมทางหลวง (ทล.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคสำคัญการดำเนินโครงการฯ ระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 2562 จำนวนรวม 6 ครั้ง จนได้ข้อสรุปร่วมกันทั้งหมด โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการใช้พื้นที่ของ ทล. เพื่อดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตฯ โดยให้ ทล. และ รฟม. หารือในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องก่อนการพัฒนาโครงการฯ ต่อไป ทั้งนี้มอบให้ รฟม. เร่งทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมแบบรายละเอียด การให้เอกชนร่วมลงทุน และการศึกษาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงจากผลการหารือร่วมกันทั้ง 6 ครั้ง ตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องโดยเร็วต่อไป

9)แผนการดำเนินงานโครงการ

กิจกรรม

ระยะเวลาดำเนินการ

ครม. อนุมัติรูปแบบการลงทุนโครงการ

ต.ค. 64

สำรวจอสังหาริมทรัพย์/จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน

พ.ค. 66 – มิ.ย. 68

คัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการ

มี.ค. 65 – มี.ค. 66

เริ่มงานก่อสร้างโครงการ ติดตั้งงานระบบฯ ทดสอบระบบฯ

เม.ย. 66

เปิดให้บริการ

ก.ค. 69

หมายเหตุ : แผนการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งคณะกรรมการ รฟม. มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563

#