ศึกษาล่วงหน้า ร่างพ.ร.บ.โรคติดต่อ (ฉบับใหม่)
  • 23 ธันวาคม 2020 at 14:11
  • 2104
  • 0

สาระสำคัญของ (ร่าง) พระราชบัญญัติโรคติดต่อ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจไว้ล่วงหน้า การทำเช่นนี้มีประโยชน์ในการบริหารจัดการธุรกิจ บริการจัดการชุมชน จนถึงดูแลชีวิตส่วนตัวและครอบครัว

 

กฎหมายที่สมควรมา

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 มีมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

 

2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่ สธ. เสนอ

3. ให้ สธ. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย

ทั้งนี้ สธ. เสนอว่า

1. ด้วยในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ได้แพร่อย่างรวดเร็วและกว้างขวางไปทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic) ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และประกาศให้ท้องที่นอกราชอาณาจักรบางท้องที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย รวมทั้งได้มีการอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และได้ออกข้อกำหนด ประกาศและคำสั่งตามพระราชกำหนดดังกล่าวเพื่อให้ส่วนราชการนำไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

2. โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปเป็นระยะเวลานาน ซึ่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สามารถรองรับหรือใช้บังคับกับบางสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หรือโรคติดต่อได้ ทำให้มาตรการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งหากมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตามข้อ 1. แล้ว ย่อมส่งผลให้ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่ได้ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ถูกยกเลิกตามไปด้วย ดังนั้น เพื่อให้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 สามารถใช้ดำเนินการในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด 19 หรือโรคติดต่อได้อย่างทันสถานการณ์และมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ให้มีความครอบคลุมและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ รวมทั้งกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่ให้แยกกัก หรือกักกันโรค หรือผู้ที่ไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคเมื่อพบว่าตนเป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อ เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศหลีกเลี่ยงการกักตัวโดยหน่วยงานของรัฐ

3. สธ. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้โดยจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค (www.ddc.moph.go.th) ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2563 และระหว่างวันที่ 4 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 13 กันยายน 2563 และ สธ. ได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย พร้อมทั้งได้เปิดเผยเอกสารดังกล่าวแล้ว

จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ

 

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้อธิบดีกรมควบคุมโรคมีอำนาจประกาศท้องที่หรือเมืองท่านอกราชอาณาจักรที่พบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด เฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือฉุกเฉินอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่อไม่ให้แพร่เข้ามาในราชอาณาจักร

2. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการได้มา เข้าถึง การเก็บรักษา การนำไปใช้         การกำกับดูแล หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ผู้ที่เป็นผู้สัมผัสโรค หรือผู้ที่เป็นพาหะ

3. กำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีอำนาจกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่กักกันหรือแยกกักโรค รวมทั้งมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวจะมีอำนาจดำเนินการในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข หรือในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเกิดขึ้น และโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดดังกล่าวได้แพร่อย่างรวดเร็วหรือกว้างขวาง

4. กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีอำนาจสั่งการหรือมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในพื้นที่ของตน รวมทั้งมีอำนาจสั่งการผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใด ให้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด

5. กำหนดเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร และคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออกให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

6. กำหนดให้ในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หรือโรคระบาดเกิดขึ้น ให้ผู้ที่พบว่าตนเป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคดังกล่าวมีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

7. กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีอำนาจออกคำสั่งห้ามผู้ใดทำกิจกรรมหรือกิจการที่อาจก่อให้การแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด รวมทั้งมีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าของ    ผู้ครอบครอง หรือผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่ใด ๆ ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด

8. กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด หรือกรณีที่โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดได้แพร่อย่างรวดเร็วหรือกว้างขวาง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งให้ผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใดดำเนินการหรือละเว้นการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

9. กำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตามคำสั่งหรือข้อกำหนดตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้

 

 

เพิ่มเติม

เมื่อกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้และมีผลบังคับ พอหวังได้ว่าการบริหารจัดการของภาครัฐจะใช้กฎหมายและกลไกต่าง ๆ อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์

#