เร่งสร้างรถไฟทางคู่ครอบคลุ่มทุกเส้นทางทั่วประเทศ (1)

เส้นทางรถไฟที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5  มีบทบาทสำคัญในการสร้างสยามประเทศทั้งการรักษาและแย่งชิงดินแดนในยุคประเทศตะวันตกล่าอาณานิคม  (ลัทธิล่าอาณานิคม - colonialism และสมัยอาณานิคมยุโรปอยู่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20)   จากนั้นพื้นที่-พรมแดนส่วนใหญ่ยืนยาวมาเป็นประเทศไทยที่เป็นรูปร่างดังเห็นในแผนที่  ต่อมาระบบถนนพัฒนาอย่างรวดเร็วในยุคสงครามเย็น  (Cold War)  

 

ทั้งนี้สงครามเย็นเป็นความต่อเนื่องสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองและการทหารหลังสงครามโลกครั้งที่สองระหว่างประเทศในกลุ่มตะวันตก (สหรัฐอเมริกา พันธมิตรนาโต้ ฯลฯ) และประเทศในกลุ่มตะวันออก (ที่ประกอบด้วยสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (รัสเซีย: Union of Soviet Socialist Republics - USSR) และพันธมิตรในสนธิสัญญาวอร์ซอ ระหว่าง พ.ศ. 2490 –2534หรือ ค.ศ. 1947 -1991)  กล่าวได้ว่าระบบถนนของประเทศไทยทันสมัยก้าวหน้าดีเลิศเป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชียและอยู่หัวแถวของประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน โดยมีอีกสถานะหนึ่งคือ เป็นถนนยุทธศาสตร์  ”เพื่อความมั่นคงทั้งภายในและภายนอกประเทศ”

 

ปัจจุบันการคมนาคมขนส่งระบบรางกลับมามีความสำคัญอย่างยิ่งอีกครั้ง ในกรณีประเทศไทยเทียบเคียงแล้วมีทั้งบริบทที่ย้อนแย้งกับการสร้างทางรถไฟเมื่อ 100 กว่าปีก่อน และบริบทที่คล้ายคลึงกันคือ เกี่ยวข้องกับ อิสรภาพ   ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ  สังคมวัฒนธรรม การเมืองการปกครองของประเทศ  กล่าวให้สั้นคือเกี่ยวข้องกับปัญหาอธิปไตยด้านต่างๆ ของประเทศ

ขนาดรางรถไฟ-ภาพสะท้อนการเมืองระหว่างประเทศ

ภาพปัจจุบันเส้นทางรถไฟในประเทศไทยเป็นขนาดรางกว้าง 1 เมตร มิเตอร์ เกจ (Metre gauge) แต่เริ่มแรกนั้นประเทศไทยใช้ทางรถไฟขนาดกว้าง 1.435 เมตร Standard Gauge หรือ European Standard Gauge (ESG.) เป็นรางรถไฟที่กำหนดเป็นมาตรฐานของกลุ่มในประเทศยุโรป  เส้นทางรถไฟ 1.435 เมตร สร้างระหว่างทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่  แต่หลังจากนั้นทางรถไฟส่วนใหญ่สร้างขนาด 1 เมตรอันเป็นขนาดเดียวกับประเทศอาณานิคมของจักรภพอังกฤษคือมาเลเซีย และพม่า

 

จากเงื่อนไขช่วงเวลาและสภาพแวดล้อมเช่นนั้น กล่าวได้ว่าการคมนาคมทางรถไฟของประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นในยุคล่าอาณานิคม ช่วงที่อังกฤษและฝรั่งเศสยึดครองดินแดนต่าง  ๆ ในย่านสุวรรณภูมิ  เมื่อมองประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลาง อังกฤษรุกคืบกลืนกินดินแดนมาจากทางตะวันตกของไทยคือ  อินเดีย  พม่า  แหลมมาลายู  ฝรั่งเศสยึดครองดินมาจากทางตะวันของไทยคือ เวียดนาม  กัมพูชาและลาว  ช่วงเวลาและยุคสมัยนั้น “ประเทศ”   ในความหมายของตะวันออกกับตะวันตกยังแตกต่างกัน  แต่เมื่ออิทธิพลทางกำลังทหารและเศรษฐกิจ  จนถึงวัฒนธรรมความรู้ของทางตะวันตกเหนือกว่า  มีกำลังรุกรานครอบงำ  จนกำหนดกติกาคำว่า “ประเทศ”

 

การช่วงชิง  รักษา เขตแดน ระหว่างผู้ครองอำนาจเดิมในอุษาคเนย์ และกับผู้ล่าอาณานิคม  “สยามประเทศ” จำเป็นต้องพยายาม “ช่วงชิง  รักษา”  เขตแดนของ “ตนเอง” ให้มากที่สุด   กำลังทหาร และความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญรองรับสนับสนุนภารกิจนี้

 

ความสำคัญของการคมนาคมขนส่งทางรถไฟมีนัยสำคัญในเรื่องนี้

 

ทั้งนี้กรมรถไฟตั้งขึ้น เมื่อพ.ศ. 2433  อยู่ในสังกัดกระทรวงโยธาธิการ และได้ถือเอาการเปิดเดินรถไฟเส้นทางรถไฟสาย กรุงเทพฯ-นครราชสีมา เมื่อวันที่  26 มีนาคม  2539  เป็นวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟ เส้นทางรถไฟสายอีสานมีส่วนในการ  “ช่วงชิง รักษา” เขตแดนประเทศไทย  รวมทั้งการปราบ “กบฏผีบุญ” ส่วนเส้นทางรถไฟสายเหนือรับบทบาทเดียวกันโดยมี  “กบฏเงี้ยว”  เป็นเป้าหมายที่ต้องทำลายเอาชนะ ส่วนทางรถไฟภาคใต้มีส่วนสนับสนุน   การ “เอาชนะ” เจ้าเมืองปัตตานี

 

กล่าวได้ว่ารถไฟไทยสร้างประเทศ (ในความหมายใหม่จากตะวันตกในช่วงสมัยยุครัชกาลที่ 5 – ยุคล่าอาณานิคม) การรักษา-ช่วงชิงดินแดน และการประกาศอาณาเขตที่แน่นอนของแต่ละ “ประเทศ”

 

 

ภาพรวมเส้นทางรถไฟไทย

การรถไฟแห่งประเทศไทย  (ร.ฟ.ท.) บริหารจัดการทางรถไฟรวม 4,041 กม. มีชุมทางใหญ่ที่สถานีกรุงเทพฯ (สถานีหัวลำโพง)  และสถานีบางซื่อ  เส้นทางรถไฟระหว่างเมืองเป็นระบบทางคู่ช่วงสถานีกรุงเทพ - สถานีชุมทางบ้านภาชี รวม 90 กิโลเมตร  เป็นเส้นทางรถไฟระบบสามทางช่วงสถานีรังสิต-ชุมทางบ้านภาชี

 

จากนั้นการรถไฟไทยได้สร้างทางคู่เพิ่มอีก 4 เส้นทาง ประกอบด้วย

ช่วงสถานีชุมทางตลิ่งชัน-สถานีนครปฐม ในเส้นทางสายใต้ ระยะทาง 56 กิโลเมตร

ช่วงสถานีหัวหมาก-สถานีชุมทางฉะเชิงเทรา ในเส้นทางสายตะวันออก ระยะทาง 45 กิโลเมตร

ช่วงสถานีชุมทางบ้านภาชี-สถานีลพบุรี ในเส้นทางสายเหนือ ระยะทาง 43 กิโลเมตร

ช่วงสถานีชุมทางบ้านภาชี - สถานีมาบกะเบา ในเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทาง 44 กิโลเมตร

นอกจากนี้แล้วเส้นทางรถไฟเป็นทางเดี่ยวทั้งหมด

 

ข้อมูลสังเขปเส้นทางรถไฟของประเทศเริ่มมีจุดรวมที่สถานีกรุงเทพ ผ่านสถานีสามเสน ชุมทางบางซื่อ (ทางแยกสู่สายใต้) บางเขน หลักสี่ ดอนเมือง รังสิต เชียงราก บางประอิน อยุธยา และสถานีชุมทางบ้านภาชี   สถานีบ้านภาชีเป็นสถานีทางแยกระหว่างสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ

 

ทางรถไฟสายเหนือ ตรงทางแยกจากสถานีชุมทางบ้านภาชี เส้นทางไปทางทิศเหนือ ผ่านสถานีท่าเรือ, ลพบุรี, บ้านหมี่, บ้านตาคลี, นครสวรรค์, ชุมแสง, บางมูลนาก, ตะพานหิน, พิจิตร, พิษณุโลก, ชุมทางบ้านดารา, อุตรดิตถ์, เด่นชัย, แม่เมาะ, นครลำปาง, ขุนตาน, ลำพูน ปลายทางที่สถานีเชียงใหม่ รวมระยะทาง 751 กิโลเมตร ลอดอุโมงค์ 4 อุโมงค์ คือ อุโมงค์ปางตูมขอบ, อุโมงค์เขาพลึง, อุโมงค์ห้วยแม่ลาน และอุโมงค์ขุนตานที่เป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศ ในระหว่างเส้นทางที่สถานีชุมทางบ้านดารามีทางแยกไปสุดสายที่ สถานีสวรรคโลก จ.สุโขทัย

ทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ  ตรงทางแยกสถานีชุมทางบ้านภาชี แล้วมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านสถานีสระบุรี, ชุมทางแก่งคอย, มวกเหล็ก, ปากช่อง, นครราชสีมา, ชุมทางถนนจิระ, บุรีรัมย์, ลำชี, สุรินทร์, อุทมพรพิสัย, ศรีสะเกษ, กันทรารมย์ แล้วไปสิ้นสุดที่สถานีอุบลราชธานี รวมระยะทาง 575 กิโลเมตร)  เส้นทางรถไฟสายอีสานที่สถานีชุมทางแก่งคอยมีทางแยก ผ่านสถานีแก่งเสือเต้น, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์, ลำนารายณ์, จตุรัส (จ.ชัยภูมิ) แล้วไปบรรจบกับเส้นทางจากนครราชสีมา ที่สถานีชุมทางบัวใหญ่

 

ที่สถานีชุมทางถนนจิระ มีทางแยกจากเส้นทางสายอุบลราชธานีไปทางทิศเหนือ ผ่านสถานีโนนสูง, บัวใหญ่, เมืองพล, บ้านไผ่, ขอนแก่น, น้ำพอง, กุมภวาปี, อุดรธานี แล้วไปสุดสายที่สถานีหนองคาย นอกจากนั้นยังมีการขยายทางรถไฟ ไปบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เพื่อรอเชื่อมต่อกับทางรถไฟจากประเทศลาวไปยังนครเวียงจันทน์ระยะทางถึงสถานีหนองคาย 624  กิโลเมตร)

 

ทางรถไฟสายตะวันออก  มีทางแยกออกจากเส้นทางสายเหนือ สายอีสาน ช่วงระหว่างสถานีกรุงเทพ - สถานีสามเสน บริเวณยมราช เลี้ยวผ่านไปยังสถานีมักกะสัน, คลองตัน, ลาดกระบัง, หัวตะเข้ จนถึงสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา จากนั้นแยกเป็น 2 เส้นทาง เส้นทางแรกไปทางทิศตะวันออก ผ่านสถานีชุมทางคลองสิบเก้า, ปราจีนบุรี, กบินทร์บุรี, สระแก้ว วัฒนานคร ไปสุดทางที่สถานีอรัญประเทศ และเชื่อมต่อกับทางรถไฟของประเทศกัมพูชาระยะทาง 254.5 กิโลเมตร   เส้นทางที่สองไปทางทิศใต้ ผ่านสถานีชลบุรี, บางพระ, ชุมทางศรีราชา, ชุมทางเขาชีจรรย์, บางละมุง, พัทยา, วัดญาณสังวราราม, สวนนงนุช สุดสายที่สถานีบ้านพลูตาหลวง และท่าเรือสัตหีบ ที่สถานีชุมทางศรีราชามีทางแยกไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และที่สถานีชุมทางเขาชีจรรย์ มีทางแยกไปยังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

 

ทางรถไฟสายใต้  เมื่อแรกสร้างมีจุดเริ่มต้นที่สถานีธนบุรี (สถานีบางกอกน้อย) ต่อมาได้สร้างทางแยกที่สถานีชุมทางบางซื่อและสร้างทางรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานพระรามหก และไปบรรจบกับทางรถไฟสายใต้ที่สถานีชุมทางตลิ่งชัน ทางสายนี้ผ่านสถานีนครชัยศรี, นครปฐม, ชุมทางหนองปลาดุก, บ้านโป่ง, ราชบุรี, เพชรบุรี, หัวหิน, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, ไชยา, ชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์, สุราษฎร์ธานี, ชุมทางทุ่งสง, ชุมทางเขาชุมทอง, พัทลุง, ชุมทางหาดใหญ ่(จ.สงขลา), เทพา, ปัตตานี (โคกโพธิ์), ยะลา, รือเสาะ, ตันหยงมัส (นราธิวาส), สุไหงปาดี สุดสายที่สถานีสุไหงโกลก (จ.นราธิวาส) และเชื่อมต่อกับทางรถไฟของประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ระยะทาง 1,159 กิโลเมตร

 

เส้นทางรถไฟสายใต้ที่สถานีชุมทางหนองปลาดุก มีเส้นทางแยกอยู่ 2 เส้นทาง เส้นทางแรก มุ่งไปทิศเหนือผ่านสถานีศรีสำราญ และสุดสายที่สถานีสุพรรณบุรี   เส้นทางที่สองไปทางทิศตะวันตก ผ่านสถานีกาญจนบุรี สะพานแควใหญ่ วังโพ และสุดสายที่สถานีน้ำตก

 

ที่สถานีชุมทางบ้านทุ่งโพธ์ มีเส้นทางแยกไปสุดสายที่สถานีคีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนที่สถานีชุมทางทุ่งสง มีเส้นทางแยกผ่านสถานี ห้วยยอด ตรัง และสุดสายที่สถานีกันตัง  ที่สถานีชุมทางเขาชุมทอง มีเส้นทางแยกไปสุดสายที่สถานีนครศรีธรรมราช และที่สถานีชุมทางหาดใหญ่ มีเส้นทางแยกไปสุดสายที่สถานีปาดังเบซาร์ และเชื่อมต่อกับทางรถไฟของประเทศมาเลเซีย ผ่านสถานีบัตเตอร์เวิรธ์ (ปีนัง) อิโปห์ ราวัง กรุงกัวลาลัมเปอร์ และสุดสายที่ประเทศสิงคโปร์ ระยะทางจากสถานีกรุงเทพ-สถานีปาดังเบซาร์ 974 กิโลเมตร

 

ทางรถไฟสายแม่กลอง   เส้นทางรถไฟสายเริ่มต้นที่สถานีวงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี ปลายทางที่สถานีมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ระยะทาง 31 กม. ส่วนเส้นทางอีกช่วงหนึ่งเริ่มต้นที่สถานีบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสาคร ไปสุดปลายทางที่สถานีแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นระยะทางอีก 33 กม.

 

จากพ.ศ. 2433 ถึง พ.ศ. 2559 รวมเวลา 129 ถึงเวลาเปลี่ยนผ่าน พัฒนาศักยภาพรถไฟไทยครั้งใหญ่

 

จุดโฟกัสอยู่ที่โครงการรถไฟทางคู่ขนาดราง 1  เมตร รวมทั้งการแก้ปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟกับเส้นทางถนน  การแก้ปัญหาสัญญาณจราจร  การเพิ่มหัวรถจักร และขบวนรถโดยสาร นอกจากนี้เป็นการประสานงานการบริหารระบบโลจิสติกส์ของประเทศระหว่างการคมนาคมขนส่งระบบราง  ถนน  ทางน้ำ และทางอากาศความสำเร็จของโครงการรถไฟทางคู่ขนาดราง  1 เมตรที่ต้องเกิดขึ้นในระยะเวลาไล่เรี่ยกันทุกเส้นทาง

(ยังมีต่อ)