เร่งสร้างรถไฟทางคู่ครอบคลุ่มทุกเส้นทางทั่วประเทศ (2)

เมื่อได้ทบทวนภาพรวมรถไฟทางคู่ที่มีอยู่ ณ พ.ศ. 2560  มาดูภาพรวมโครงการรถไฟทางคู่ที่กำลังดำเนินงานอยู่ในช่วงเวลานี้

ทางคู่เส้นทางสายเหนือ – อีสาน

เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจภาพรวมรถไฟทางคู่ (ขนาดรางที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน / 1.00 เมตร) ให้ชัดเจนมากขึ้นควรเชื่อมโยงโครงการรถไฟทางคู่ทั้งหมดกับเส้นทางเดิมที่มีอยู่เข้าด้วยกัน เพื่อให้เห็นว่า เส้นทางรถไฟแต่ละเส้นนั้น  มีทางคู่ยาวไกลไปถึงไหน และเมื่อไหร่ถึงมีทางคู่หรือสองทางเพิ่มจนถึงมีสามทาง สี่ทางหรือมากกว่านั้นในขอบเขตทั่วประเทศ และตามความจำเป็น

 

เส้นทางรถไฟสายเหนือ และสายอีสาน ช่วงสถานีกรุงเทพฯ (สถานีหัวลำโพง)  และสถานีบางซื่อ  จนถึงสถานีชุมทางบ้านภาชี รวม 90 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟระบบสามทาง และสองทาง โดยช่วงสถานีบ้านภาชีไปสถานีลพบุรีเป็นระบบสองทาง

 

เส้นทางรถไฟทางคู่สายเหนือที่มีโครงการสร้างขยายเพิ่มคือ   โครงการรถไฟทางคู่จากสถานีลพบุรีไปสถานีปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร วงเงิน 24,840 ล้านบาท

 

สรุปเส้นทางรถไฟสายเหนือ เป็นทางคู่วิ่งขึ้น-ล่องแยกจากกันจากกรุงเทพฯไปจนถึงสถานีปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์

 

เส้นทางส่วนที่ยังขาดอยู่มีโครงการรองรับคือ โครงการรถไฟทางคู่ปากน้ำโพ-เด่นชัย และเด่นชัย-เชียงราย  เป็นการขยายเส้นทางรถไฟไปถึงฝั่งแม่น้ำโขง (ในอดีตมีพันธสัญญากับฝรั่งเศสทางรถไฟสายเหนือและสายอีสาน ไม่สามารถสร้างถึงริมแม่น้ำโขงได้)

 

ส่วนสายตะวันออกเฉียงเหนือมีรถไฟทางคู่ช่วงสถานีชุมทางบ้านภาชี – สถานีมาบกะเบา ที่กำลังดำเนินการได้แก่ การสร้างรถไฟทางคู่ช่วง มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 131 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ

 

- ช่วงที่ 1 มาบกะเบา-ปางอโศก ระยะทาง 32 กิโลเมตร เริ่มต้นบริเวณสถานีมาบกะเบา จังหวัดสระบุรี กม.134+250   มีโครงสร้างทางรถไฟยกระดับช่วง กม.147+800 ถึง กม.152+650 รวมระยะทาง 4.8 กิโลเมตร  เส้นทางช่วงนี้มีอุโมงค์รถไฟ 2 ช่วง ได้แก่ กม.136+250 ถึง กม.141+800 และ กม.144+850 ถึง กม.145+100 รวมระยะทาง 6 กิโลเมตร

 

- ช่วงที่ 2 จากปางอโศก-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 101 กิโลเมตร เริ่มต้นที่สถานีปางอโศก กม.165+199.639 โดยก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มอีก 1 ทาง ขนานไปกับแนวทางรถไฟเดิม สิ้นสุดที่สถานีชุมทางถนนจิระ จังหวัดนครราชสีมา บริเวณ กม.270+000 และมีอุโมงค์บริเวณหลังสถานีคลองขนานจิตร บริเวณ กม.198+400 ถึง กม.199+550

 

สถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ เป็นสถานีรถไฟชั้น 1 อยู่ห่างจากสถานีรถไฟกรุงเทพ 266 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เป็นชุมทางรถไฟแยกไปหนองคาย (ผ่านขอนแก่น)  และอุบลราชธานี

 

ที่สถานีชุมทางถนนจิระมีโครงการรถไฟทางคู่จากชุมทางถนนจิระ – สถานีขอนแก่น เป็นโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ใหม่ แนวเส้นทางมีระยะทาง 185 กิโลเมตร ก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่ม 1 ทาง ตำแหน่งด้านขวาทางด้านตะวันออกขนานไปกับทางรถไฟเดิม เริ่มต้นที่บริเวณสถานีชุมทางถนนจิระ ถึงสถานีขอนแก่น

 

- โครงสร้างทางวิ่งรถไฟเป็นทางวิ่งระดับพื้นทั้งหมด ยกเว้นช่วงบริเวณสถานีขอนแก่นสร้างเป็นทางรถไฟยกระดับ ระยะทางประมาณ 5.4 กิโลเมตร

 

- ย่านเก็บกองและขนถ่ายตู้สินค้า (CY)  ในโครงการมีตำแหน่งของ CY 3 แห่ง ได้แก่ สถานีบ้านกระโดน สถานีบัวใหญ่ และสถานีท่าพระ โดยในส่วนของสถานีบ้านกระโดนเป็นตำแหน่งที่ถูกกำหนดให้ก่อสร้างใหม่ ย้ายจากจุด CY เดิมจากสถานีบ้านเกาะ เพื่อรองรับการขนส่งที่จะเติบโตในอนาคตและหลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมชนเมืองของสถานีบ้านเกาะ

 

สรุปคือเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือเป็นทางคู่จากกรุงเทพฯไปถึงขอนแก่น  (เลยจากขอนแก่นไปหนองคายยังเป็นทางเดี่ยว)  และจากแยกชุมทางถนนจิระไปอุบลราชธานียังเป็นทางเดี่ยว ดังนั้นต้องเร่งรัดการขยายทางคู่จากขอนแก่นถึงหนองคายเชื่อมต่อกับลาว และเร่งดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ชุมทางถนนจิระ –อุบลราชธานี

 

ทางคู่เส้นทางรถไฟสายตะวันออก

เส้นทางรถไฟสายตะวันออกเป็นทางคู่จากสถานีกรุงเทพไปถึงสถานีฉะเชิงเทรา สถานีนี้ตั้งอยู่ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นสถานีรถไฟชั้น 1 บนทางรถไฟสายตะวันออก  สถานีชุมทางฉะเชิงเทราเป็นจุดรับส่งผู้โดยสารถึงสถานีรถไฟอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วและสถานีรถไฟบ้านพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี สถานีฉะเชิงเทรามีจำนวน 9 ทางเป็น 1 ใน 10 ของสถานีรถไฟขนาดใหญ่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และเป็นสถานีที่ขบวนรถไฟสินค้าที่มาจากสายชายฝั่งทะเลตะวันออกมาแวะเพื่อเปลี่ยนเส้นทางไปยังเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายเหนือ

 

จากสถานีฉะเชิงเทรามีโครงการรถไฟทางคู่ดังนี้

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย (สระบุรี) มีรายละเอียดคือ

- ก่อสร้างทางใหม่อีก 1 ทาง เริ่มจากสถานีฉะเชิงเทรา (กม.61+190) ถึงสถานีแก่งคอย (กม.167+800) รวมระยะทางประมาณ 106 กม.

- จัดเตรียมและเวนคืนที่ดินประมาณ 119 ไร่ บริเวณนอกย่านสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา ชุมทางบ้านภาชี และชุมทางแก่งคอย เพื่อการก่อสร้างทางคู่เลี่ยงเมือง (Chord Line)

- ก่อสร้างทางคู่เลี่ยงเมืองจำนวน 2 ทาง ในพื้นที่ที่เวนคืนบริเวณนอกย่านสถานี เพื่อใช้เป็นทางคู่เลี่ยงเมือง รวม 3 แห่ง ระยะทางประมาณ 7.1 กม. ได้แก่ ที่ชุมทางฉะเชิงเทราระหว่าง กม.61+190 ถึง กม.62+600 เชื่อมสายคลองสิบเก้า-แก่งคอยกับสายฉะเชิงเทรา-สัตหีบ ระยะทาง 1.41 กม. ที่ชุมทางบ้านภาชีระหว่าง กม.92+000 ถึง กม.93+600 เชื่อมสายเหนือกับสายตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทาง 1.60 กม. ที่ชุมทางแก่งคอยระหว่าง กม.163+350 ถึง กม.167+400เชื่อมสายตะวันออกเฉียงเหนือกับสายคลองสิบเก้า - แก่งคอยระยะทาง 4.05 กม.

- ก่อสร้างอุโมงค์บริเวณเขาพระพุทธฉาย ขนานไปกับอุโมงค์เดิม กม.147+100 ถึง กม.148+307 ระยะทางประมาณ 1.2 กม.

- ก่อสร้างสถานีเพิ่มเติมจำนวน 1 สถานี ได้แก่ สถานีไผ่นาบุญ ที่ กม.162+819 ระหว่างสถานีบุใหญ่และสถานีแก่งคอย เพื่อใช้เป็นสถานีควบคุมระบบอาณัติสัญญาณ (Block Post Station) รวมทั้งอาคารประกอบสถานีอื่น ๆ ที่มีอยู่เดิมเพื่อความสมบูรณ์

- ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมสำหรับทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา - คลองสิบเก้า - แก่งคอย และ ทางคู่เลี่ยงเมือง

 

โครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออกอีกโครงการหนึ่งคือ โครงการรถไฟทางคู่ สถานีชุมทางฉะเชิงเทรา – สถานีศรีราชา – แหลมฉบัง มีรายละเอียดคือ  ก่อสร้างทางรถไฟใหม่คู่ขนานไปกับทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออกในปัจจุบัน จากฉะเชิงเทราไปศรีราชาและสุดปลายทางที่สถานีแหลมฉบัง ผ่านสถานีฉะเชิงเทรา ดอนสีนนท์ พานทอง ชลบุรี บางพระ ศรีราชา และแหลมฉบัง ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และชลบุรี

 

ในอนาคตอันใกล้เส้นทางรถไฟสายตะวันออกเป็นระบบทางคู่จากกรุงเทพฯไปจนถึงสถานีแหลมฉบัง  นอกจากนี้ยังมีเส้นทางรถไฟทางคู่จากแหลมฉบังเชื่อมโยงไปยังสระบุรี (สถานีแก่งคอย)  ที่ต่อเชื่อมไปยังเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือและสายเหนือ

 

การรื้อฟื้นและการพัฒนาที่กำลังเร่งดำเนินการอีกโครงการหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายตะวันออกคือ เส้นทางสายอรัญประเทศ-ปอยเปต  เชื่อมโยงไทย-กัมพูชา และเสริมให้เป็นสองทางเพื่อเพิ่มศักยภาพการคมนาคมขนส่งทางราง อีกทั้งเชื่อมโยงไปยังประเทศเวียดนาม

 

ทั้งนี้ได้สร้างสะพานรถไฟคลองลึก-ปอยเปตใหม่โดยวางศิลาฤกษ์ไปแล้วเมื่อวันที่  25 กรกฎาคม 2557 ทั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงก่อสร้างทางใหม่ตั้งแต่สถานีรถไฟชุมทางคลองสิบเก้า จ.ฉะเชิงเรา จนถึงสะพานรถไฟคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว รวมระยะทางกว่า 176 กม. ใช้งบประมาณ 2,808 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จและเปิดบริการในปี 2559

 

ทางคู่เส้นทางรถไฟสายตะวันตก และสายใต้

เส้นทางรถไฟทางคู่สายตะวันตกและสายใต้มีไปถึงสถานีนครปฐม ปี 2559  รัฐบาลเร่งดำเนินการโครงการรถไฟทางคู่ให้สายตะวันตกและสายใต้ดังนี้

 

โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม -หัวหิน เป็นโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ใหม่ แนวเส้นทางมีระยะทาง 170 กิโลเมตร โดยก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่ม 1 ทาง ขนานไปกับทางรถไฟเดิม เขตทางกว้าง 60 เมตรเส้นทางวิ่งไปตามแนวเส้นทางรถไฟเดิมตลอดสายทาง เริ่มต้นที่ กม.47+700 บริเวณสถานีนครปฐม แนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศตะวันตกถึงชุมทางหนองปลาดุก ระยะทาง 16.5 กิโลเมตร จากนั้นแนวเส้นทางเลี้ยวซ้ายลงใต้ ผ่านจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี สิ้นสุดที่ กม.217+700 เลยสถานีหัวหินไปประมาณ 4 กิโลเมตร

โครงการรถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กิโลเมตร และโครงการรถไฟทางคู่ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร

เมื่อโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จเส้นทางรถไฟสายใต้เป็นทางคู่ทางกรุงเทพฯไปถึงจังหวัดชุมพร

 

อย่างไรก็ตามยังมีโครงการสร้างทางคู่ให้เส้นทางรถไฟสายใต้ไปจนสุดชายแดนกล่าวคือ มีโครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี พร้อมกับการพัฒนาจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง เชื่อมฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน-มาเลเซีย  โดยมีโครงการรถไฟทางคู่สุราษฎร์ฯ – หาดใหญ่ และหาดใหญ่-สุไหงโกลก รองรับ ทั้งนี้ประเทศเพื่อนบ้านรอบไทยทั้งหมดใช้ทางรถไฟขนาดรางกว้าง  1 เมตรอยู่แล้ว

 

พลังเศรษฐกิจจากรถไฟทางคู่ขนาดรางกว้าง  1 เมตร ย่อมส่งเสริมให้การพัฒนาการคมนาคมขนส่งระบบรางระหว่างเมือง ระหว่างประเทศก้าวไปได้เร็วมากขึ้น  มีพื้นฐานที่ดีสอดคล้องกับของเดิมที่มีอยู่โดยไม่ทำให้โครงการพัฒนาระบบรางใหม่ ”ฆ่า” โครงข่ายเส้นทางรถไฟที่มีอยู่เดิม  เมื่อมีความเข้มแข็งมากขึ้น  เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น ย่อมมีกำลังของตนเองและพิจารณาความเหมาะสมสอดคล้องในการสร้างรถไฟความเร็วสูงบริการในประเทศ และเชื่อมโยงระหว่างประเทศ

(ยังมีต่อ)