เพิ่มประสิทธิภาพทางด่วนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานของ กทพ

การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งให้ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน  โครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและทางด่วน-ทางพิเศษ เป็นหัวใจสำคัญ

เร่งรัดบทบาทของ Thailand Future fund

บทบาทของ Thailand Future fund ล่าสุดควรเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 พฤษภาคม 2560  เรื่อง การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future fund) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. โครงสร้างรูปแบบกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future fund) (กองทุนรวมฯ) เพื่อการระดมทุนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

2. หลักการและเงื่อนไขข้อกำหนดของสัญญาโอนและรับสิทธิโอนในรายได้ (Revenue Transfer Agreement : RTA) และขอความร่วมมือกระทรวงคมนาคม (คค.) กำกับให้ กทพ. นำหลักการและเงื่อนไขข้อกำหนดหลักของสัญญาRTA ไปเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องและนำเสนอสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาโดยเร็วต่อไป

3. การลงทุนของ กค. ในกองทุนรวมฯ โดยนำเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายหน่วยลงทุน ประเภท ข. ของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ฝากเข้าบัญชีเงินฝากเพื่อการซื้อหุ้น เพื่อนำไปซื้อหน่วยลงทุน A ของกองทุนรวมฯ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีเงินส่วนที่เหลือเห็นสมควรให้คงไว้ในบัญชีเงินฝากเพื่อการซื้อหุ้นเพื่อรองรับการบริหารจัดการหลักทรัพย์ของรัฐในอนาคตต่อไป

4. มาตรการในการสร้างแรงจูงใจในการนำโครงสร้างพื้นฐานของ กทพ. มาระดมผ่านกองทุนรวมฯ และสำหรับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการคำนวณกำไรเพื่อการจัดสรรโบนัส มอบหมาย กค. พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

5. ขอความร่วมมือ คค. กำกับ กทพ. ให้ดำเนินการในเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ สำหรับการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของ กทพ. ในโครงการทางพิเศษพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ E-W Corridor  ด้านตะวันออก แล้วเสร็จโดยเร็ว

 

ข้อมูลเฉพาะทางพิเศษพระราม 3 –วงแหวนรอบนอก

โครงการก่อสร้างทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ ระยะทาง 19 กิโลเมตร  วงเงินลงทุนประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท  แนวเส้นทางเริ่มต้นที่ กม.10+700 ถนนพระราม 2 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรสร้างซ้อนทับบนทางด่วนขั้นที่ 1 จนถึงถนนพระราม 3 ใกล้แยกต่างระดับบางโคล่และบรรจบกับทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาวางแผนสร้างสะพานใหม่ขนานกับสะพานพระราม 9 ขนาด 8 ช่องจราจร  ตามแผนกำหนดเริ่มเวนคืนและก่อสร้างปี 2560 ใช้เวลาเวนคืน 18 เดือน ตั้งแต่มิถุนายน 2560-พฤศจิกายน 2561 ส่วนการก่อสร้างใช้เวลา 39 เดือน เริ่มจากเดือนพฤษภาคม 2560-กรกฎาคม 2563

 

ข้อมูลพื้นฐานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ

ช่วงเริ่มต้นโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือในตอนแรก วางแผนสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทางรวมประมาณ 42.9 กม. แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ตอน ดังนี้

N1 เริ่มต้นแนวสายทางจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก บริเวณ กม.38+500 (ใกล้แยกต่างระดับบางใหญ่ ไปสิ้นสุดที่บริเวณสี่แยกเกษตรศาสตร์ ถนนพหลโยธิน ระยะทางประมาณ 19.2 กิโลเมตร

N2 เริ่มต้นที่สี่แยกเกษตรศาสตร์ แนวสายทางซ้อนทับบนเกาะกลางถนนประเสริฐมนูกิจ (ถนนเกษตร-นวมินทร์) ของกรมทางหลวง ถึงถนนนวมินทร์ระยะทางประมาณ 9.2 กิโลเมตร ตัดกับทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์

N3 เริ่มต้นจากถนนนวมินทร์ ตัดผ่านถนนเสรีไทย และถนนรามคําแหง สิ้นสุดโครงการที่ ถนนกรุงเทพ–ชลบุรีสายใหม่ บริเวณถนนศรีนครินทร์  ซึ่งเป็นจุดบรรจบระหว่างทางพิเศษศรีรัช ส่วน D กับถนนกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ (Motorway) ระยะทางประมาณ 12.5 กิโลเมตร

E-W Corridor มีจุดต้นทางที่ทางแยกซึ่งเป็นจุดบรรจบของ ถนนประเสริฐมนูกิจกับถนนนวมินทร์ วางตัวในแนวตะวันตก-ตะวันออก ซ้อนทับกับทางหลวงหมายเลข 351 ไปบรรจบกับถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทางประมาณ 2.7 กิโลเมตร

ล่าสุดตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แผนโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือเหลือเฉพาะช่วง N2 (N2 เริ่มต้นที่สี่แยกเกษตรศาสตร์ แนวสายทางซ้อนทับบนเกาะกลางถนนประเสริฐมนูกิจ (ถนนเกษตร-นวมินทร์) ของกรมทางหลวง ถึงถนนนวมินทร์ระยะทางประมาณ 9.2 กิโลเมตร ตัดกับทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์) และ E-W Corridor

#

 

บัญชีสยาม