กรศ.ชงตั้ง "กองทุนสิ่งแวดล้อม" เก็บค่าธรรมเนียมนักลงทุน ใน พ.ร.บ. EEC สกัดแรงต้านจากประชาชนในพื้นที่ แง้มรูปแบบคล้าย "กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า" ดูแลสภาพแวดล้อม สนับสนุนด้านการศึกษา พัฒนาระบบสาธารณสุขให้ชุมชน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ว่า ภายใต้ พ.ร.บ.การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ "พ.ร.บ. EEC" จะมีการจัดตั้ง "กองทุนพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลงทุน EEC" ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนในเขตอุตสาหกรรม 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ควบคู่ไปกับการลงทุน ซึ่งไม่เพียงการสร้างหรือรักษาสภาพแวดล้อม แต่ยังต้องเข้าไปสนับสนุนด้านการศึกษา การให้ทุนเรียน รวมถึงพัฒนาระบบสาธารณสุขให้ชุมชน ที่สำคัญจะต้องเป็นประโยชน์กับคนในพื้นที่มากที่สุด

โดยเงินกองทุนจะมาจากการเก็บค่าธรรมเนียมที่ให้บริการกับนักลงทุนและจำเป็นต้องมีการตั้งผู้บริหารจัดการกองทุนขึ้นมาดูแลเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม รูปแบบและวงเงินกองทุนนั้นจะยังต้องรอความชัดเจนจาก พ.ร.บ. EEC ที่จะประกาศออกมาภายในปี 2560 นี้

นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ. EEC จะให้อำนาจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment -SEA) ในพื้นที่ EEC ครอบคลุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม-เขตอุตสาหกรรม-เขตประกอบการอุตสาหกรรม-สวนอุตสาหกรรมโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขต

ซึ่งมีผลเทียบเท่ากับรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA) ของ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หาก EEC ผ่านรายงาน SEA แล้วไม่จำเป็นต้องจัดทำรายงาน EIA อีกนั่นเอง

สำหรับเป้าหมายการลงทุนใน EEC นั้น ภายใน 5 ปี จะอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) จำนวน 500,000 ล้านบาท, การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 400,000 ล้านบาท, การก่อสร้างเมืองใหม่-โรงพยาบาล-โรงเรียน-ที่อยู่อาศัย 400,000 ล้านบาท และการท่องเที่ยวคุณภาพ/เชิงคุณภาพอีก 200,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังกันพื้นที่ 1,000 ไร่ ไว้สำหรับสร้างศูนย์นวัตกรรมภาคตะวันออก (EECi) เบื้องต้นได้หารือกับทาง ปตท.เพื่อแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง สร้าง EECi รูปแบบจะคล้ายนิคมอุตสาหกรรมและให้บริษัทเอกชนที่ทำด้านวิจัยเข้ามาลงทุน รวมถึงบริษัทที่มีศูนย์วิจัยอยู่แล้วให้มาอยู่รวมกัน โดยมีสิทธิประโยชน์ด้านภาษีบุคคลธรรมดาที่ 17% รวมถึงสิทธิประโยชน์ให้กับรายบริษัทจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่จะใช้จูงใจด้วยการยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี อีกส่วนคือ ศูนย์ดิจิทัลภาคตะวันออก (EECd) แหล่งรวมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ พื้นที่ 621 ไร่ ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ของ กสท. โทรคมนาคม (CAT) มูลค่าโครงการ 68,000 ล้านบาท รัฐลงทุน 20% เอกชนลงทุน 80%

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (ครศ.) กล่าวว่า กองทุนนี้ถือเป็นกองทุนพิเศษ และเป็นครั้งแรกที่มีการตั้งกองทุนใน พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เนื่องจากในพื้นที่ EEC เป็นจุดศูนย์รวมของภาคการผลิตโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้อนุมัติเพิ่มพื้นที่สีม่วงจากพื้นที่สีเขียวรวมทั้งหมด 180,000 ไร่ ในระยะ 5 ปีแรกของโครงการพัฒนาและลงทุนจะใช้พื้นที่ 50,000 ไร่ ซึ่งจะเป็นส่วนของพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่เตรียมรับนักลงทุนไว้

สำหรับพื้นที่อุตสาหกรรม 180,000 ไร่ นั่นหมายถึงจะมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าชุมชนอาจมีความกังวลเรื่องของมลพิษทั้งทางน้ำ อากาศ เสียง รวมถึงคุณภาพชีวิตสิ่งแวดล้อมโดยรอบทั้งหมด ดังนั้นกองทุนดังกล่าวจะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในพื้นที่นี้อย่างมากทั้งเยียวยา ฟื้นฟูพื้นที่ให้กับชุมชนและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ EEC และจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนว่าการลงทุนหรือการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมายจะต้องมีการดูแลชุมชนควบคู่กันไปเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้พื้นที่โซนภาคตะวันออกจะเคยทำ EIA และ EHIA แล้วตอนเกิดโครงการใหญ่อย่างอีสเทิร์นซีบอร์ด และโครงการ EEC จำเป็นต้องทำ SEA (เทียบเท่า EIA) ไม่ได้กังวลว่าชุมชนในพื้นที่จะรุกขึ้นมาต่อต้าน เนื่องจากเป็นเครื่องจักรเทคโนโลยีขั้นสูง มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ค่าธรรมเนียมที่จะเก็บเข้ากองทุนนั้น คือ Service Charge เบื้องต้นเป็นการหารือในหลักการ ส่วนรายละเอียดจะเก็บอัตราเท่าไรนั้น คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ครศ.) จะเป็นผู้กำหนด รวมถึงหารือว่าจะเก็บเฉพาะรายใหม่ที่ลงทุนในเขตส่งเสริม



ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์