เอกชนแห่ขยายลงทุนรับโครงการยักษ์คมนาคม 2 ล้านล้าน "อิตาเลียนไทย" ขยายโรงงานผลิตชิ้นส่วนคอนกรีต - โครงเหล็กวิหารแดง เผยงานในมือปีนี้ทะลัก 3 แสนล้าน หนุนรายได้แตะ 8 หมื่นล้าน พร้อมลุยประมูลทางคู่ 5 สายเวอร์ชั่นใหม่ ด้าน ซี.ไอ.กรุ๊ป ผู้ผลิตห้องเย็นแตกไลน์ผุดโรงซ่อมป้อนงานรถไฟ

นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ได้ลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตโรงงานผลิตชิ้นส่วนทั้งโครงเหล็ก ราง และคอนกรีตที่ อ.วิหารแดง จ.สระบุรี เพื่อรองรับงานประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่ปีนี้จะมีเปิดประมูลก่อสร้างจำนวนมาก ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ ทางด่วนและมอเตอร์เวย์ ที่บริษัทได้งาน เช่น สายสีส้ม รวมทั้งงานใหม่ที่จะเข้าร่วมประมูลเข้ามาเพิ่มเติมอย่างน้อย 20-25% ของมูลค่างานที่ออกมากว่า 1 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันมีงานก่อสร้างในมือกว่า 300 โครงการ

แบ็กล็อกแตะ 3 แสนล้าน

"ปีนี้งานในมือ (แบ็กล็อก) จะแตะ 3 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีงานรอเซ็น 1 แสนล้านบาท รับรู้รายได้ 3 ปี ปัจจุบันมีรายได้ที่ 6 หมื่นล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะเป็น 8 หมื่นล้านบาท โดยเพิ่งได้งานใหญ่ต่างประเทศที่บังกลาเทศ เป็นโครงการรถไฟฟ้ายกระดับมูลค่า 700 ล้านเหรียญ และงานที่โมซัมบิกอีก 350 ล้านเหรียญ"สำหรับงานในประเทศภายในเดือน พ.ค.นี้ จะเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) สัญญาที่ 2 เป็นการก่อสร้างอุโมงค์ ส่วนแรงงานจะโยกคนจากสายสีน้ำเงินสัญญาที่ 1 ที่แล้วเสร็จพอดี

นอกจากนี้ มีงานอีกหลายไซต์ที่จะแล้วเสร็จปีนี้ ทำให้บริหารจัดการแรงงานได้โดยที่ไม่ขาดช่วง ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีแรงงานทั้งหมด 6 หมื่นคน แต่หากงานในมือเพิ่มมากขึ้นก็สามารถขอเพิ่มโควตาแรงงานต่างชาติจากกระทรวงแรงงานได้ หรือไม่ก็ซับคอนแทรกเตอร์ให้รับเหมารายอื่น

พร้อมประมูลทางคู่-สุวรรณภูมิ

นายเปรมชัยกล่าวว่าสำหรับงานใหม่ที่กำลังรอลุ้นประมูลมีงานรถไฟทางคู่ 5 สาย มูลค่ารวมกว่า 9.7 หมื่นล้านบาท ที่สะดุดเล็กน้อยเนื่องจากมีการตรวจสอบเพิ่ม แต่คาดว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะแก้ปัญหาจบลงโดยเร็ว ไม่ว่าจะเดินหน้าต่อหรือเปิดประมูลใหม่บริษัทก็พร้อม นอกจากนี้ ยังรอผลเสนอราคาโครงการ APM สนามบินสุวรรณภูมิมี 2 รายยื่นประมูล ซึ่งบริษัทร่วมกับบริษัทมิตซูบิชิ ซัพพลายเออร์ ประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วม รวมถึงสนใจร่วมประมูลงานก่อสร้างสุวรรณภูมิเฟส 2 ในสัญญาอื่นที่เหลือ

โครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก งานรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายส่วนที่เหลือ มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ งานบริหารด่านเก็บเงินค่าผ่านทางและจุดพักรถมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช บางใหญ่-กาญจนบุรี และลงทุน PPP โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่รัฐกำลังเร่งผลักดันรับกับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) 

ปัจจัยเสี่ยงผู้รับเหมาปีนี้คือเหล็กปรับขึ้นจาก 14 บาท/กก.เป็น 19 บาท/กก. จากราคาเหล็กโลกที่ผันผวน เหล็กขาดตลาด กระทบต้นทุนก่อสร้าง แต่รัฐไม่มีการปรับราคากลางเพิ่ม ทำให้ผู้รับเหมาต้องบริหารจัดการต้นทุนเอง เช่น ซื้อลอตใหญ่

ซี.ไอ.ฯตั้งโรงซ่อมรถไฟครบวงจร

ด้านนายอารีย์ พุ่มเสนาะ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซี.ไอ.กรุ๊ป เปิดเผยว่า ได้จัดตั้ง บจ.สยามเรลเวย์ ดีเวลลอปเม้นท์ ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท คาดว่าใช้เงินลงทุนไม่เกิน 500 ล้านบาท รองรับการทำธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงระบบราง จากปัจจุบันมีธุรกิจหลัก คือ ออกแบบผลิตภัณฑ์ พัฒนาระบบทำความเย็น และตรวจสอบคุณภาพอากาศในอาคารขนาดใหญ่ ปี 2560 จะมีรายได้ 1,500 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจหลัก 1,000 ล้านบาท ธุรกิจใหม่ 500 ล้านบาท ปี 2559 รายได้ 1,000 ล้านบาท

นายเศกบุษย์ บัวดวง กรรมการบริหาร บจ.สยามเรลเวย์ ดีเวลลอปเม้นท์กล่าวว่า ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีโรงซ่อม 5 แห่งได้แก่ มักกะสัน บางซื่อ นครราชสีมา อุตรดิตถ์ และทุ่งสง โดยมีหัวรถจักรที่ไว้สำหรับลาก-จูง 200 คัน ใช้งานได้ 160 คัน รอซ่อม 40 คัน คิดเป็นวงเงิน 1,600 ล้านบาท นอกจากนี้ มีรถโบกี้ขนส่งสินค้า 8 ล้อ 3,127 คัน ต้องเข้าซ่อมบำรุงใหญ่ปี 2560 จำนวน 220 คัน ปี 2561 จำนวน 245 คัน ปี 2562 จำนวน 346 คัน ปี 2563 จำนวน 647 คัน และปี 2564 จำนวน 316 คัน

โดย ร.ฟ.ท.จะเปิดประมูลให้เช่ารถจักรดีเซลไฟฟ้า 50 คัน พร้อมการบำรุงรักษา วงเงิน 6,151 ล้านบาท โดยเช่าระยะเวลา 15 ปี สาระสำคัญของทีโออาร์ให้ผู้เสนอราคาจัดหาโรงซ่อมบำรุงรักษาและซ่อมแซมหัวรถจักรของตนเอง หรือมีศูนย์ซ่อมเป็นพันธมิตร ซึ่งบริษัทพร้อมเข้าประมูล คาดว่าจะประกวดราคากลางปี 2560

รับงานซ่อมรัฐ-เอกชน

"บริษัทเล็งเห็นโอกาสจึงได้จัดหาที่ดิน 30 ไร่บริเวณ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ติดกับสถานีรถไฟบางน้ำเปรี้ยว ซึ่งเหมาะกับการสร้างศูนย์ซ่อม เพราะใกล้สถานีรถไฟ เป็นหนึ่งในทางคู่ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และเป็นพื้นที่ใน EEC ทำให้มีโอกาสจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI"

ทั้งนี้ ศูนย์ซ่อมรถไฟประกอบด้วย โรงซ่อม 2 โรง 13 รางซ่อม รองรับการซ่อมบำรุงไม่น้อยกว่า 60 คัน ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน พร้อมเปิดให้บริการปลายปี 2561 โดยในปี 2562 คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ 900 ล้านบาทประกอบด้วย หัวรถจักรของ ร.ฟ.ท. 8 คัน 320 ล้านบาท รถโดยสาร 250 คัน 450 ล้านบาท รถโบกี้ขนส่งสินค้า 376 คัน 94 ล้านบาท งานเอกชน 10 ล้านบาท และซ่อมรถไฟของกองทัพบกอีก 30 ล้านบาท

 

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์