งานวิจัยปริญญานิพนธ์ศึกษาเปรียบเทียบปริมาณการใช้เหล็กเส้น  3 มาตรฐานด้วยวิธีกำลังชี้ชัด เหล็กเส้นชั้นคุณภาพสูงกว่าประหยัดปริมาณเหล็ก  ลดการใช้เหล็กลง ขณะที่ความมั่นคงแข็งแรงได้เท่ากันเมื่อหน้าตัดโครงสร้างคอนกรีตคงที่

นักศึกษา ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้วิจัยโดยทำโครงงานเปรียบเทียบการออกแบบอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กโดยวิธีกำลัง 3 มาตรฐานคือ  1.มาตรฐานกฎกระทรวง  2.มาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง  3.มาตรฐานสมาคมคอนกรีตอเมริกา นักศึกษาผู้วิจัยประกอบด้วย 1. นส.กมลวรรณ  อรุณมนี  2. นายนิติ  วงศ์ซื่อสัตย์ โดยมีรศ.ดร.สายันต์ สิริมนตรี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2559

นส.กมลวรรณ  อรุณมนี  กล่าวว่า การศึกษาเปรียบเทียบทั้ง 3 มาตรฐานนั้นเพราะแต่ละมาตรฐานมีค่า Factor  แตกต่างกัน   เมื่อต้องการศึกษาเปรียบเทียบถึงการใช้ปริมาณเหล็กในโครงสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กจึงต้องศึกษาทั้ง 3 มาตรฐาน  เพื่อให้การเปรียบเทียบการใช้เหล็กเส้น SD30  SD 40  และ SD 50 มีความครบถ้วนสมบูรณ์เพราะสามารถเทียบเคียงผลลัพธ์ในแต่ละมาตรฐานได้

นายนิติ  วงศ์ซื่อสัตย์ เสริมว่า  งานวิจัยมีสาระสำคัญคือ การศึกษาเปรียบเทียบปริมาณเหล็กเสริมในโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก กรณีศึกษา อาคาร 7 ชั้น โดยแบ่งตามวิธีการออกแบบ ตามกฎกระทรวง มาตรฐานกรมโยธาและผังเมือง และสมาคมคอนกรีตอเมริกา และยังแบ่งตามคุณภาพชั้นเหล็กเสริม SD 30  SD40 และ SD50 โดยกำหนดให้หน้าตัดโครงสร้างคอนกรีตคงที่

นส.กมลวรรณ  อรุณมนี   กล่าวถึงผลลัพธ์ ในการศึกษาว่า  ได้ศึกษาโครงสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 7 ชั้น แต่ละชั้นมีความสูง  3 เมตร เพื่อดูปริมาณเหล็กที่ใช้ในแต่ละชั้นคุณภาพเมื่อกำหนดให้หน้าตัดโครงสร้างคอนกรีตคงที่ และมีความมั่นคงแข็งแรงเท่ากัน  ข้อมูลที่ชี้ชัดเจนว่าคือ เมื่อใช้เหล็กชั้นคุณภาพ SD 50 สามารถประหยัดปริมาณเหล็กได้กว่าร้อยละ 30  เมื่อเทียบกับ เหล็กชั้นคุณภาพ SD 30  และเมื่อเทียบเหล็กชั้นคุณภาพ SD 50  กับ SD 40  สามารถประหยัดปริมาณเหล็กได้กว่าร้อยละ 20  ทั้งนี้มีความมั่นคงแข็งแรงเท่ากัน จากผลการศึกษานี้โอกาสที่งานก่อสร้างโครงสร้างคอนกรีตเสริมนั้นจะหันมาใช้เหล็กชั้นคุณภาพ SD 50  เพิ่มขึ้น เพราะประหยัดเหล็กเส้นก่อสร้าง  มีผลช่วยให้งานก่อสร้างรวดเร็วมากขึ้น  ลดต้นทุนรวมการก่อสร้าง

 

งานวิจัยที่นำเสนอนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยปริญญานิพนธ์ (Senior Project) จากบริษัท   ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด  (มหาชน)

รศ.ดร.นคร ภู่วโรดม  หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา  คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้กล่าวเสริมว่า  งานวิจัยปริญญานิพนธ์ของนักศึกษาเมื่อผ่านการตรวจสอบพิจารณาและอนุมัติของทางภาควิชาแล้ว  ขั้นตอนต่อไปคือพิมพ์งานนั้นออกมา  มีการขอหมายเลข ISBN  และถือว่าเป็นงานวิชาการที่นำไปอ้างอิงได้

 

#