"คิงส์เกตฯ" บริษัทแม่เหมืองทองคำชาตรี "อัคราฯ" อ้างข้อตกลง FTA ไทย-ออสเตรเลีย ขอยุติปัญหาเหมืองทองถูกปิด ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศชี้ แค่คำขู่-ดิสเครดิต เชื่อฟ้องไม่ได้เพราะความตกลงไม่มีข้อผูกพันเรื่องการระงับข้อพิพาท (ISDS) ส่วนการตั้งอนุญาโตตุลาการต้องไปดูสัญญา ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางออก


บริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ในจังหวัดพิจิตร และเพชรบูรณ์ ได้ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทยเพื่อแจ้งให้ทราบว่า รัฐบาลไทยกำลังละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) หลังจากที่รัฐบาลมีคำสั่งให้เหมืองแร่ทองคำชาตรีของบริษัทยุติการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา

โดยแถลงการณ์ของบริษัทคิงส์เกตฯระบุว่า ก่อนที่เหมืองจะถูกปิด บริษัทได้ใช้เวลากว่า 11 เดือน ในการขอเข้าพบรัฐบาลไทยเพื่อปรึกษาหารือกรณีที่เหมืองของบริษัทถูกปิด แต่ไม่ได้รับการตอบกลับทั้งจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม บริษัทจะให้เวลารัฐบาลไทยอีก 3 เดือนนับจากนี้ เพื่อหาข้อยุติเรื่องที่เกิดขึ้น และหากพ้น 3 เดือนไปแล้วยังไม่ได้ข้อยุติอีก บริษัทคิงส์เกตฯก็จะนำกรณีนี้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศต่อไป

ด้านแหล่งข่าวหอการค้าได้ให้ความเห็นกรณีนี้ว่าหากพิจารณาตามหลักการที่ระบุในความตกลง TAFTA ในบทบัญญัติเรื่องการเปิดเสรีภาคการลงทุนกลุ่มที่ไม่ใช่บริการ ฝ่ายไทยตกลงที่จะเปิดเสรีธุรกิจด้านเหมืองแร่ (การทำเหมืองแร่บนบกและในทะเล) ให้คนออสเตรเลียร่วมทุนกับคนไทยในธุรกิจนี้ได้ โดยคนออสเตรเลียถือหุ้นไม่เกิน 60% หรือมากกว่าการให้สิทธิพิเศษกับนักลงทุนจากประเทศอื่น ๆ 

แต่ทว่าในความตกลงฉบับนี้ไม่ได้มีข้อผูกพันเกี่ยวกับการใช้ กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐบาล (Investor-State Dispute Settlement : ISDS) ซึ่งเป็นเรื่องการคุ้มครองนักลงทุน ดังนั้นบริษัทคิงส์เกตฯจึงไม่น่าจะฟ้องรัฐบาลไทยโดยผ่านกลไกระงับข้อพิพาท ISDS ได้ รวมไปถึงการใช้กลไกระงับข้อพิพาท ISDS ในองค์การการค้าโลก (WTO) ด้วย เนื่องจากประเทศไทยไม่มีความผูกพันเรื่องนี้เช่นกัน 

"เท่าที่ทราบ ความตกลง ISDS มีเพียงความตกลงของประเทศสหรัฐกับประเทศอื่น และสหภาพยุโรปกับประเทศอื่น ในส่วนที่กำลังเจรจาอยู่ในความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP) ซึ่งทั้งไทยและออสเตรเลียต่างก็เป็นสมาชิกอยู่นั้น มีการหารือกันว่าจะใส่ประเด็นนี้เข้าไปในข้อตกลง แต่การเจรจา RCEP ก็ยังไม่จบ ดังนั้นโอกาสที่ Kingsgate จะใช้ช่องทางนี้ฟ้องรัฐบาลไทยจึงเป็นไปได้น้อย ส่วนการตั้งอนุญาโตตุลาการกรณีนี้ก็ไม่เหมือนกรณีโฮปเวลล์แน่นอน เพราะในเคสนั้นมีการระบุในเรื่องให้นักลงทุนฟ้องรัฐไว้ในสัญญาได้ แต่เรื่องเหมืองทองเท่าที่ทราบไม่มีการระบุอย่างนั้น" แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนการตั้งอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเพื่อให้ความเป็นธรรมกับนักลงทุนโดยทั่วไป ปกติจะประกอบด้วยการตั้ง ผู้พิพากษาที่มาจาก 3 ส่วนคือ จากฝั่งของนักลงทุน จากฝั่งรัฐบาลไทย และคนกลาง โดยคณะอนุญาโตตุลาการจะมีหน้าที่พิจารณาข้อเท็จจริงและลงความเห็นตัดสินฝ่ายใดได้ 2 ต่อ 1 ฝ่ายนั้นจะเป็นฝ่ายชนะ 

อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุน รวมถึงบริษัทคิงส์เกตฯ ต้องการทำธุรกิจต่อไปก็อาจจะใช้ช่องทางอื่น เช่น การฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง หรือการร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอความคุ้มครองกรณีที่ไม่ได้รับความยุติธรรมในการประกอบธุรกิจ แต่นั่นหมายถึงว่า บริษัทคิงส์เกตฯจะต้องมี

หลักฐานว่า มลพิษที่เหมืองทองคำปล่อยออกสู่ภายนอกนั้น "ไม่ได้" มีปริมาณมากจนส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ตามข้อกล่าวหาของภาคประชาสังคม "ซึ่งจะต้องมีข้อพิสูจน์ที่เป็นที่ยอมรับของทั้ง 2 ฝ่าย"

"มองว่าการกระทำของคิงส์เกตฯที่หยิบยกเอาข้อตกลง FTA ไทย-ออสเตรเลียขึ้นมาโดยอ้างว่า รัฐบาลไทยทำผิดข้อตกลง น่าจะเป็นการดิสเครดิตมากกว่า อย่างน้อยในแง่ของความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะสิ่งที่บริษัทต้องการก็คือ การได้เปิดเหมืองทองคำชาตรีต่อไป"

ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ กำลังรวบรวมข้อมูลและศึกษาความตกลง TAFTA เพื่อประเมินผลกระทบและแนวทางดำเนินการต่อสู้ต่อไป

ใช้ไม้ตายงัด ม.44 ระงับเหมืองทองคำ

บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ทองคำบริเวณพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ จังหวัดพิจิตร-เพชรบูรณ์-พิษณุโลก มาตั้งแต่ปี 2544 สถานะก่อนถูกคำสั่งให้ยุติการทำเหมืองอยู่ระหว่างการขอต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมและประทานบัตรที่กำลังจะหมดอายุลง

โดยที่ผ่านมาบริษัทได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (มีการปนเปื้อนของเหล็ก-แมงกานีส-สารหนูในระดับสูง) โดยในเดือนตุลาคม 2558 นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ กระทรวงอุตสาหกรรม-กระทรวงสาธารณสุข-กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามมาด้วยข้อสรุปของคณะกรรมการในเดือนเมษายน 2559 ว่า พื้นที่บริเวณเหมืองแร่ทองคำมีการปนเปื้อนสูง รวมทั้งคุณภาพน้ำ-ดิน-น้ำใต้ดิน การตรวจสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ พบค่าแมงกานีส-สารหนู-ไซยาไนด์เกินกว่าค่ามาตรฐาน

ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ การปนเปื้อนดังกล่าวมีทั้งที่เกิดขึ้นก่อนการทำเหมืองและช่วงทำเหมือง แต่ไม่สามารถเปรียบเทียบได้ เพราะก่อนหน้าการทำเหมืองไม่มีการตรวจและจัดเก็บตัวอย่างข้อมูลในพื้นที่และการตรวจสุขภาพของประชาชนมาก่อนแต่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ได้ใช้สรุปที่ว่า"พื้นที่ในการทำเหมืองของบริษัทอัคราฯ เป็นแหล่งที่มีโลหะหนักและสารหนูอยู่ในปริมาณที่สูง" มีคำสั่งให้ "ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ คำขอต่ออายุประทานบัตร และให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมออกไปแค่ถึงสิ้นปี 2559" เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ในเดือนพฤษภาคม 2559 

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ออกคำสั่ง คสช.ที่ 72/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ตั้งคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ และให้ผู้มีอำนาจ "ระงับ" การอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ การต่ออายุประทานบัตร การต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำไว้ก่อน จนกว่าคณะกรรมการจะมีมติเป็นอย่างอื่น ส่งผลให้เหมืองทองคำในประเทศทุกแห่งถูกระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 

 

 

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์