ปี 2560 ถือเป็นขวบปีแรกของ "รถไฟขบวนที่ 12" หรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่มีระยะเวลา 5 ปี (2560-2564) หลังประกาศใช้เมื่อเดือน ต.ค. 2559 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดสัมมนาประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเป็นเวทีสร้างการรับรู้ความเข้าใจกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะปานกลางและระยะยาว แต่ทุกเป้าหมายก็ยังมีประเด็นความท้าทาย และการจะไปให้ถึงเป้าหมายได้มากน้อยแค่ไหน

ปักธงก้าวสู่ ปท.พัฒนาแล้ว

"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ประกาศบนเวทีว่า ประเทศไทยกำลังเดินไปสู่เส้นชัย หลังจากหยุดเดิน หรือกระทั่งเดินถอยหลังมาเป็นเวลานาน ซึ่งการเดินไปสู่เส้นชัย สอดคล้องกับโรดแมป ขั้นที่ 1-3 ของรัฐบาลชุดนี้ ภายใต้วิสัยทัศน์นำประเทศไปสู่อนาคตอย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน และก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2579 โดยปัจจุบันกำลังเดินอยู่ในขั้นที่ 2 ก่อนจะส่งไม้ต่อให้รัฐบาลชุดต่อไป โดยรัฐบาลได้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผน 12 ก็คือแผน 5 ปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติ

"เรามีร่างพระราชบัญญัติจัดทำยุทธศาสตร์ และร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศออกมาแล้ว โรดแมปขั้นที่ 2 มี 2 อย่าง คือการเตรียมการในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศจะมีคณะกรรมการ 2 คณะ เพื่อรักษาความต่อเนื่อง ซึ่งคณะกรรมการต่าง ๆจะเริ่มทำงานได้ก็ประมาณเดือน ส.ค.นี้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า 9 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลเดินตามแผน 12 มาตลอด และหาก 5 ปีนี้สามารถเดินได้ตามแผนทั้งหมด ก็จะสามารถส่งไม้ต่อไปสู่แผน 13 แผน 14 และ แผน 15 กระทั่งทำให้ประเทศไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีในระยะ 20 ปีได้อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้

ไมล์สโตน 5 ปีของแผน 12

"ดร.ปรเมธี วิมลศิริ" เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า แผน 12 

เป็นการวางรากฐาน 5 ปีแรก ยึดโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3) ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาส ความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม 5) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6) ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

แผน 12 มีเป้าหมายหรือ "ไมล์สโตน" ระยะ 5 ปี โดยจะมีทั้งการดูแลคนไทยตลอดช่วงชีวิต ด้วยการปรับเปลี่ยนฐานการผลิต สร้างกลไกสนับสนุนการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้มีความสมบูรณ์เชื่อมโยงภายในประเทศ เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และเชื่อมโยงในภูมิภาค ขณะเดียวกันก็เอื้อให้เกิดความสะดวกในการลงทุน ทำธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

พร้อมกับการผลักดันการลงทุนของภาคเอกชนทางด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพิ่มมากขึ้นและมีการนำไปใช้ในภาคส่วนต่างๆ ขณะที่ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจประเทศไทยมุ่งมั่นจะขึ้นไปเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน

วาดฝันเศรษฐกิจโต 5% ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เป้าหมายชี้วัดที่สำคัญ คือ การขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจในช่วง 5 ปี ที่ตั้งเป้าการเติบโตไว้ 5% ต่อปี ซึ่งจะทำให้คนไทยมีรายได้ต่อหัวขยับมาอยู่ที่ 8,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ยอมรับว่าปี 2560 ซึ่งเป็นปีแรกของแผน ซึ่งคงมีปัจจัยลบที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวไม่ถึง 5%

"ไมล์สโตนตามแผน 12 มีเป้าหมายการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ 5% แต่ว่าในปีแรกยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ สหรัฐอเมริกาก็เพิ่งจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากฐานเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัว ฉะนั้นในปีแรกตามแผน เศรษฐกิจไทยคงยังไม่ถึง 5% แต่ก็มีสัญญาณดีขึ้นเรื่อย ๆ ปีนี้ก็อาจจะโตได้ 3.5% หรือเกินกว่านี้ ซึ่งก็เป็นฐานที่เร่งขึ้นมาจากปีก่อน และปัจจัยลบที่เริ่มหมดไป ทั้งภัยแล้ง เศรษฐกิจโลกที่กระทบในปีก่อน ดังนั้นปีนี้เศรษฐกิจก็น่าจะดีกว่า 2-3 ปีที่เป็นมา" ดร.ปรเมธีกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากเร่งสร้างโอกาสในการลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) หรือสร้างฐานโอกาสใหม่ ๆ ได้ ก็ย่อมมีความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ใกล้เคียงเป้าหมายมากขึ้น

ดร.ปรเมธีกล่าวอีกว่าขณะนี้แผน12 ผ่านมากว่า 9 เดือนแล้ว แต่ละยุทธศาสตร์ก็มีความก้าวหน้าไปได้ดี โดยทาง สศช. จะประเมินผลเมื่อครบปีอีกที อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแผน 12 มีการตั้งประเด็นท้าทายค่อนข้างมาก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วคงไม่เกิดขึ้นง่าย ซึ่งในการประเมินผลก็ต้องพิจารณาข้อจำกัดด้วย

"ในปีแรก บางเรื่อง บางตัวชี้วัดอาจจะคาดหวังได้ยาก อย่างความเหลื่อมล้ำ หรือการเติบโตเศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกอยู่ แต่ถ้าให้ประเมินช่วงที่ผ่านมา ส่วนตัวถือว่าพอใจมาก เพราะรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายต่าง ๆ ที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ แต่ว่าการปฏิบัติก็คงต้องผลักดันให้ไปได้เร็วขึ้นอีก อย่างเช่น การดูแลเรื่องการออมของประชาชน หรือการสร้างสตาร์ตอัพ" ดร.ปรเมธีกล่าว

จี้เตรียมพร้อมรับปัญหาแรงงานขาด

สำหรับปัจจัยผลกระทบด้านแรงงานต่อแผน12ดร.ปรเมธียืนยันว่า ในแผน 12 ได้ตั้งโจทย์ไว้อยู่แล้วว่า แนวโน้มแรงงานจะมีลดน้อยลง โดยทุกภาคส่วนต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์แรงงานขาดแคลน แต่หากผู้ที่ติดตามปัญหานี้มาก่อนจะมีทางรับมือ และจะถูกผลกระทบน้อยกว่าคนอื่นในกรณีที่เริ่มขาดแรงงาน หรือกรณีที่แรงงานต่างด้าวกลับประเทศกะทันหันเหมือนในขณะนี้

"เรื่องแรงงานอยู่ในโจทย์ อยู่ในการเตรียมพร้อมอยู่แล้ว ก็ต้องปรับตัวด้วย แรงงานน้อยลง ก็ต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือมีการใช้เครื่องมือเครื่องจักรเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตมากขึ้น ขณะที่แรงงานต่างด้าวก็ต้องจัดระบบให้ชัดเจนขึ้น ไม่ใช่อย่างที่ผ่านมาที่ไม่สามารถจัดระบบข้อมูลต่าง ๆ ได้ ก็ต้องเตรียมสำหรับอนาคต ช่วงนี้คงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อเข้าสู่ระบบ" เลขาธิการ สศช.กล่าว

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ยังชะลอตัวจะกระทบต่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจของแผน 12 มากแค่ไหน เลขาธิการ สศช.ยอมรับว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เอกชนยังชะลอการลงทุน แต่ภาคอื่น ๆ ก็ขยายตัวดีขึ้นเกือบทุกภาคแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การส่งออก ภาคเกษตร

ดังนั้นการลงทุนเอกชนก็น่าจะตามมา หลังจากนี้เห็นได้จากเมื่อการส่งออกขยายตัวได้ดี ส่งผลให้ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เคยติดลบ ก็เริ่มกลับมาเป็นบวกในเดือน พ.ค. ขณะที่การขออนุมัติพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น จึงเชื่อว่าการลงทุนเอกชนจะเริ่มฟื้นตัวตามมา

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์