พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้อนรับนายอังเคล กูเรีย เลขาธิการ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) และคณะ เพื่อหารือแนวทางการกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง OECD และประเทศไทย โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายสีหศักดิ์ พวกเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส เข้าร่วมหารือ ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

นอกจากได้หารือประเด็นความร่วมมือระหว่างกันในหัวข้อการปฏิรูปด้านดิจิตอล แล้ว ในโอกาสนี้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้ร่วมลงนามกับนายอังเคล กูเรีย ในหนังสือแสดงความร่วมมือ (Letter of Cooperation) โครงการ Country Programme (CP) เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมมือกับ OECD ในการใช้โครงการ Country Programme เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาและปฏิรูปประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ให้สอดคล้องและตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 รวมทั้งให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และกระชับความร่วมมือระหว่างกันอย่างบูรณาการ ซึ่งการทำโครงการCountry Programme นี้ จะเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การตัดสินใจของไทยในอนาคต เกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิก OECD องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา โดยไทยจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน และเป็นประเทศที่สามของเอเซีย ต่อจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อีกด้วย

โครงการ Country Programme มีแนวทางความร่วมมือ 5 รูปแบบ ได้แก่ 1.การจัดทำรายงานวิเคราะห์นโยบาย (Policy Reviews) เพื่อศึกษาและประเมินนโยบายด้านต่างๆ 2.การเพิ่มการมีส่วนร่วมของหน่วยงานไทยในองค์กรของ OECD เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี 3.การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการอบรมให้กับหน่วยงานของไทย 4.การรับรองตราสารทางกฎหมายของ OECD เพื่อยกระดับมาตรฐานของไทยให้ทัดเทียมสากล และ 5.การส่งเจ้าหน้าที่ไทยไปปฏิบัติงานชั่วคราวที่ OECD เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรภาครัฐของไทย

ทั้งนี้ โครงการ Country Programme ให้ความสำคัญกับ 4 เสาหลัก ได้แก่ 1.ธรรมาภิบาลภาครัฐและความโปร่งใส (Governance & Transparency) 2.สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน (Business Climate & Competitiveness) 3.ประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) และ 4.การเติบโตอย่างทั่วถึง (Inclusive Growth) หากเกิดความร่วมมือระหว่างกันแล้วย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิรูปพัฒนาประเทศรอบด้าน เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายอนาคต Thailand 4.0