วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เผยงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2560 (National Engineering 2017)  ประสบผลสำเร็จอย่างสูง มีผู้ร่วมงาน รวมกว่า 20,000 คน โดยมีผู้ร่วมสัมมนา กว่า 40 หัวข้อ ภายใต้ธีม Engineering 4.0 จำนวนกว่า 7,500 คน นับว่าบรรลุเป้าหมายการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม และโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ในการพัฒนาประเทศวันนี้สู่อนาคต ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ พร้อมทั้งได้มีการลงนาม MOU ข้อตกลงความร่วมมือทางวิศวกรรมและพัฒนาเศรษฐกิจโดยกว่า 10 ประเทศสมาชิกสมาพันธ์วิศวกรรมแห่งอาเซียนจากการประชุมThe Conference of ASEAN Federation of Engineering Organizations (CAFEO) ครั้งที่ 35 ได้แก่ ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ รวมทั้งประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย จีน ฯลฯ

 

         

            ดร.ธเนศ วีระศิริ (Dr.Thanes Weerasiri) นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า” การจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ2560 ประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งโดย วสท. ได้ยกระดับจากงานเดิมเป็นงานเฉพาะวิศวกรเท่านั้นไปสู่งานใหญ่ที่จัดเพื่อทุกวิชาชีพ ประชาชน และเยาวชนคนรุ่นใหม่ อีกทั้งบรรลุวัตถุประสงค์ให้สังคมได้ตื่นตัวให้คนไทยเห็นภาพอนาคต เป็นสะพานเชื่อมต่อนวัตกรรมในหลากหลายธุรกิจให้เกิดความร่วมมือกันสร้างสรรค์ ลงทุน ตลอดจนเป็นเวทีกลาง แลกเปลี่ยนความรู้ 4.0 ระหว่างธุรกิจอุตสาหกรรม วิศวกรผู้ออกแบบ ผู้ใช้และประชาชนทั่วไป ผลักดันความร่วมมือต่อยอดนวัตกรรม และเทคโนโลยี เป็นเวทีกิจกรรมให้กับเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจในเทคโนโลยี 

          นอกจากนี้ในที่ประชุม CAFEO ครั้งที่ 35 ยังได้มีการลงนาม MOU ข้อตกลงความร่วมมือกว่า 10 ประเทศสมาชิกสมาพันธ์วิศวกรรมแห่งอาเซียน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง และมีประสิทธิภาพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยความร่วมมือกันของคณะทำงานระหว่างประเทศต่างๆในทุกสาขาวิชาชีพวิศวกรรม รวมถึงการเชื่อมโยงของวิศวกรใน AEC  นักเทคโนโลยีและช่างเทคนิค  เพื่อความคล่องตัวในการทำงาน และมีผลต่อเศรษฐกิจพอเพียงและยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์  "Towards   a Sufficiency Economy:   Pathways   to  Sustainable Development" โดยมีความร่วมมือทางด้านวิศวกรรม ได้แก่ การเสริมสร้างขีดความสามารถวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม พลังงาน การคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ , จะร่วมกันจัดทำแนวทางความปลอดภัยอาเซียน (RSG) ร่วมกับศูนย์ความปลอดภัยทางถนนอาเซียน (ASEAN Road Safety Center - ARSC), การส่งเสริมการสร้างมาตรฐานการติดตั้งระบบไฟฟ้าเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานในภูมิภาคอาเซียน, การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินการศึกษาด้านวิศวกรรม และ การเก็บฐานข้อมูล และขึ้นทะเบียนวิศวกรอาเซียน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญทางช่างเทคนิคต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2019, การเชื่อมต่อกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้กับประเทศสมาชิกเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการเป็นสมาชิก AFEO, มีการใช้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารเพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีโครงการสร้างหลักสูตรเฉพาะเกี่ยวกับสมรรถนะเฉพาะด้านของกลุ่มวิศวกร และจัดหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อฝึกอบรมอบรมสมาชิกในองค์กรระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อเสริมศักยภาพขีดความสามารถที่ดีขึ้นรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก”

 

           นายทศพร ศรีเอี่ยม ( Mr.Tossaporn Sreeiam ) ประธานจัดงานกล่าวว่า งานวิศวกรรมแห่งชาติ 2560ได้รับความสำเร็จสูงสุดนับแต่จัดงานมากว่า 20 ปี ด้วยความร่วมมือจากกว่า 100 องค์กรชั้นนำในประเทศไทย  นวัตกรรมที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงาน ได้แก่ บ้านยุค 4.0 Smart & Safety Home, ยานยนต์ไฟฟ้า, อุปกรณ์ IoT, สะพานโครงสร้างเหล็ก สะพานวัสดุเขียวยุคประเทศไทย 4.0 และ Industrial 4.0 การนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติเพื่อรองรับนโยบายส่งเสริมในคลัสเตอร์หุ่นยนต์, ระบบ OPEN – BIM สำหรับงานวิศวกรอาคาร, แนวทางการพัฒนา Smart Connected Community in Smart City, ผ้าใบคอนกรีต SCG (Concrete Fabric) จากการผสมผสานเทคโนโลยีปูนซีเมนต์กับเทคโนโลยีใยสังเคราะห์, ระบบ Building Automation, ระบบ Home Safety, เทคโนโลยีระบบ ICT Infrastructure เป็นต้น รวมทั้งเวทีเสวนาได้รับความสนใจท่วมท้นในหัวข้อที่ให้ความรู้และเปิดให้เห็นภาพอนาคตและโอกาสแก่นักธุรกิจ วิศวกรและ ประชาชนที่นำไปสู่นวัตกรรมในอนาคต

 

 

 

 

 

          ผลการแข่งขันโดรนดับเพลิง 2017 (Drone For Fire Fighting)  ทีม Yak Drone จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คว้าแชมป์รางวัลชนะเลิศ 30,000 บาท, รองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม ISAAC UAV JUNIOR II จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เงินรับรางวัล10,000 บาท, และรองชนะเลิศอันดับ 2 มีสองทีม ได้รับรางวัล 5,000 บาท ได้แก่ ทีมISAAC UAV JUNIOR จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และทีมน้องเพชร จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          ผลการแข่งขันกลไกอัจฉริยะ หรือ KARAKURI 2017 ทีม ENG19  จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย คว้าแชมป์รางวัลชนะเลิศ 20,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมโรบัสต้า  จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ได้รับเงินรางวัล10,000 บาท ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม Thinking จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท, รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ทีม ทีม 4 Angles  จากสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น, ทีม จีโดะซามะ จากสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น และทีม EAU Engineering 2017  จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย

 

          ในปีหน้า วสท. มีแผนจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561 อย่างยิ่งใหญ่ ในธีม "Smart Engineering,  Smart Disaster Prevention" ระหว่างวันที่ 29-30 พ.ย. - 1 ธ.ค. 2561 ณ ไบเทค บางนา คณะกรรมการ วสท. จะนำเสนอเพื่อมุ่งสร้างประโยชน์ต่อคนไทยทุกภาคส่วนและสังคมไทย