สมอ. สัญจรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปูพรมตรวจร้านจำหน่ายสินค้า พร้อมให้ความรู้การมาตรฐานครบวงจร

 

​สมอ. สัญจร ลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปูพรมตรวจร้านจำหน่ายสินค้า ให้ความรู้เรื่องการมาตรฐานครบวงจร แก่ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ผลิตชุมชน นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยสร้างมูลค่าให้แก่สินค้า ยกระดับผู้ประกอบการ ตามนโยบาย Thailand 4.0    

 

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา “สมอ. สัญจร” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและ SMEs ตามแนวทาง Industry 4.0 ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้า ตลอดจนพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีทักษะมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศเข้าสู่สังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบตามนโยบาย Thailand 4.0 และล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีมาตรการส่งเสริม SMEs อีก      9 มาตรการ เพื่อยกระดับเอสเอ็มอีไทย โดยมุ่งเน้นไปที่ "ไมโครเอสเอ็มอี" ดันรายได้สู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ        ทั้ง 9 มาตรการ ประกอบด้วย 1. การขยายศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ทั่วประเทศ 23 แห่ง เพื่อให้เอสเอ็มอี     มีพื้นที่ในการพัฒนาสินค้าต้นแบบใหม่ๆ รวมทั้งการบริการที่ปรึกษาแนะนำเชิงลึก และเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรสนับสนุนต่างๆ 2. ศูนย์สนับสนุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SME Support & Rescue Center: SSRC) ทำหน้าที่เป็น Front Desk บูรณาการที่ปรึกษา รับคำขอกู้เงิน แก้ไขปัญหาและส่งต่อเอสเอ็มอี 3. Train The Coach หรือการสร้างโค้ช 4. SME Big Data โดยจัดทำข้อมูลเอสเอ็มอีของประเทศผ่าน Data Analytic 5. โครงการ Big Brothers หรือโครงการพี่ช่วยน้อง โดยร่วมมือกับบริษัทและองค์กรชั้นนำระดับประเทศและระดับโลก เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี 6. Digital Value Chain ผลักดันเอสเอ็มอีสู่ห่วงโซ่การผลิตโลกผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม B2B 7. โครงการเสริมแกร่งเอสเอ็มอีรอบรู้การเงิน เพื่อพัฒนาเสริมความรู้ด้านการเงินทั้งก่อนกู้และหลังกู้เพื่อให้มีบัญชีที่เป็นระบบ มุ่งเป้าสู่ระบบบัญชีเดียวในอนาคต 8. SME Standard Up ยกระดับเอสเอ็มอี         สู่มาตรฐานที่เหมาะสมโดยพัฒนามาตรฐานเฉพาะ (มอก.S) ให้เหมาะสมกับระดับศักยภาพของเอสเอ็มอีและ      ตรงความต้องการของตลาด เริ่มต้นที่กลุ่มสินค้าท่องเที่ยวเป็นลำดับแรก และ 9. การยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชน ผ่านโครงการยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยว (CIV 4.0) โดยจะพัฒนาศักยภาพชุมชนค้นหาอัตลักษณ์ชุมชน ทำแผนการพัฒนาและบริหารจัดการอย่างยั่งยืน รวมทั้งผลักดันการแปรรูปผลิตผลการเกษตร โดยมีเป้าหมายยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนมีรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่า 25% ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ของรัฐบาล ที่ต้องการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศสู่ Thailand 4.0 อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 

นายอภิจิณ โชติกเสถียร เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ. ดำเนินงานตามแนวทาง Industry 4.0 ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ผลิตชุมชน นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยสร้างมูลค่าให้แก่สินค้า เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ ตามนโยบาย Thailand 4.0 ขณะเดียวกันได้เดินหน้าส่งเสริมความรู้และสร้างเครือข่ายด้านการมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยจัดการสัมมนา “สมอ.สัญจร” ครั้งที่ 2 ขึ้น ที่จังหวัดอุบลราชธานี ภายหลังจากที่ได้จัดไปแล้วเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งในครั้งนี้ สมอ. ยังคงรูปแบบเดิมในการจัดกิจกรรม โดยบูรณาการกิจกรรมหลายๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับบทบาทภารกิจการดำเนินงานด้านการมาตรฐานของ สมอ. เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และผู้ผลิตชุมชน มีผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนาจากจังหวัดอุบลราชธานีและใกล้เคียง รวมกว่า 400 คน ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรม ดังนี้

• รับมอบหมวกนิรภัยสำหรับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ มอก.369-2557 จากบริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด จำนวน 500 ใบ

• มอบหมวกนิรภัยให้กับโรงเรียนในเขตจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสร้างจิตสำนึกในการใช้สินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน มอก. และรณรงค์เรื่องการสวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่รถจักรยานยนต์

• มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนต้นแบบในการรณรงค์สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ ตลอดปีการศึกษา 2561

• มอบป้ายสัญลักษณ์ร้าน มอก. แก่ผู้ประกอบการ ร้านจำหน่าย ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี และใกล้เคียง ที่ใส่ใจในความปลอดภัยของบริโภค เลือกและจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน

• มอบใบอนุญาต E-License แก่ผู้ได้รับใบอนุญาต ที่ยื่นคำขอผ่านระบบ internet เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการทำธุรกิจ ตามนโยบาย Ease of Doing Business ของรัฐบาล

• การปล่อยคาราวานตรวจติดตามร้านจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อตรวจติดตามการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้บริโภค

• การสัมมนา “การยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนภายใต้แนวคิดเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรม” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถึงแนวคิด ความจำเป็น และแนวทางในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้ในการประกอบกิจการ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบการ เพื่อสร้างกลไกในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานราก ไปสู่ประเทศไทย ๔.๐

• การสัมมนา “การอนุญาตและการตรวจติดตาม” เพื่อให้ความรู้ด้านกระบวนการยื่นขออนุญาตและความร่วมมือทางวิชาการแก่ผู้ประกอบการ ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการยื่นขอรับการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐาน มอก.

• การสัมมนา “มอก. S  มาตรฐานเพื่อ SMEs ไทย” เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความรู้ ความเข้าใจในมาตรฐาน มอก.S เพื่อนำไปพัฒนา ยกระดับขีดความสามารถในการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน มอก. S รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถขอรับการรับรองให้แสดงเครื่องหมาย มอก. S ได้

• การจัดแสดงนิทรรศการจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ( SME Bank ) การแสดงผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่ประสบความสำเร็จและได้รับการรับรอง มผช.  บูธประชาสัมพันธ์โครงการ “ร้าน มอก.” และคลินิกให้คำปรึกษาแนะนำด้านการรับรองมาตรฐานและการตรวจติดตามผล เป็นต้น

 

 

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงพื้นที่ สมอ.สัญจรในครั้งนี้ นอกจากจะเผยแพร่บทบาทภารกิจการดำเนินงานของ สมอ. แก่ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตชุมชนในท้องถิ่นแล้ว ยังได้ดำเนินการตรวจติดตาม     เฝ้าระวังการจำหน่ายสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นภารกิจหลักของ สมอ. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการใช้สินค้าได้อย่างปลอดภัย