รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา คาดเฟส 1 สนามทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน  UN R117 จะแล้วเสร็จรองรับการลงทุนในอีอีซีตามแผน เริ่มทดสอบได้ในปีนี้ ก้าวสู่การเป็น ศูนย์ทดสอบแห่งแรกของอาเซียนที่ได้มาตรฐานระดับสากล

                   นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเดินทางไปติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center - ATTRIC) ว่า ศูนย์ทดสอบฯ นี้ เป็นศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งแรกของอาเซียนที่รัฐบาลไทยผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อรองรับการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เร่งขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาคอาเซียน โดยต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่การเป็น “Super Cluster” อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และ “อุตสาหกรรม 4.0” ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์ฯ ภายในกรอบวงเงิน 3,705.7 ล้านบาท บนพื้นที่ 1,235 ไร่ ณ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อให้บริการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 (UN Regulation No. 117) และยางล้อ ทุกประเภท และจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาการมาตรฐาน การวิจัยและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนและยางล้อ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับให้เป็นอุตสาหกรรม 4.0 ตลอดจนสนับสนุนให้มี  การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในประเทศ ส่งเสริมการส่งออก และดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มมากขึ้น อันเป็น  การยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 6 ล้านคน ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นประเทศเป้าหมายของการลงทุนโดยเฉพาะในเขตพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 5 มูลค่าที่คาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 300,000 ล้านบาท

นายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561  ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์อาคาร        ศูนย์ทดสอบฯ ไปแล้ว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างสนามทดสอบและอาคารของศูนย์ทดสอบฯ ซึ่งโครงการมี  แผนการดำเนินงานแบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ส่วนทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 ประกอบด้วยสนามทดสอบยางล้อและเครื่องมือทดสอบ ตามมาตรฐาน UN R117 ทดสอบรายการเสียงจากยางล้อที่สัมผัสผิวถนน (Noise) การยึดเกาะถนนบนพื้นเปียก (Wet Grip) และความต้านทานการหมุน (Rolling Resistance) ของยางล้อ โดยสนามทดสอบจะแล้วเสร็จสมบูรณ์และเริ่มทดสอบได้ในปี 2561 พร้อมห้องปฏิบัติการทดสอบจะแล้วเสร็จในปี 2561 เช่นกัน สำหรับอาคารสำนักงานและระบบสาธารณูปโภค จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2562

ระยะที่ 2 ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน ประกอบด้วยสนามทดสอบกลางแจ้ง 5 สนาม คือ    1) สนามทดสอบสมรรถนะยานยนต์ (Long Distance and High Speed) 2) สนามทดสอบระบบเบรก (Brake Performance) 3) สนามทดสอบระบบเบรกมือ (Park Brake) 4) สนามทดสอบเชิงพลวัต (Dynamic Platform) และ 5) สนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง (Skid-Pad) ขณะนี้ อยู่ระหว่างการออกแบบและการปรับพื้นที่เพื่อรองรับการก่อสร้างสนามทดสอบ จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2564                        

ทั้งนี้ หากโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการจะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากไม่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบและรับรองที่ต่างประเทศ อีกทั้งยังช่วยดึงดูดนักลงทุนอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ด้วยความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการทดสอบและการรับรอง ด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงแหล่งวัตถุดิบ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการพร้อมเปิดให้บริการครบวงจรได้ในปี 2564