บรรยากาศการเสวนาถอดบทเรียนของภาคธุรกิจในการนำ AI มาใช้ในองค์กร

 

คุณวรนันท์ วรมนตรี

Corporate Strategist บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)

 

ดร.ธีรวัฒน์ อัศวโภคี

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานนวัตกรรมข้อมูลเพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

 

นายสุวัฒน์ มีมุข

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

 

รศ.แฮ ยัง นอ

อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย

นายกสภามหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University)

 

แม้คำว่า ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI จะกลายเป็นคำที่คุ้นหูคนในแวดวงธุรกิจมากขึ้น แต่การหยิบจับ AI มาประยุกต์ใช้กับองค์กรอาจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด หลายองค์กรที่เริ่มนำAI เข้ามาใช้ในองค์กร ต่างได้เผชิญบทเรียนกันมาแล้ว

 

มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) มหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา จึงได้จัดงาน CMKL Tech Summit 2018 รวบรวมวิทยากรภาคเอกชนและภาคการศึกษาทั้งในไทยและระดับโลกที่คร่ำหวอดในด้าน AI เพื่อช่วยถ่ายทอดถึงสถานการณ์ด้าน AI และบทเรียนธุรกิจที่ได้เรียนรู้จากการนำ AI มาใช้ในองค์กร

 

คุณวรนันท์ วรมนตรี Corporate Strategist บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) เล่าว่า บริษัทได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ซึ่งช่วยสนับสนุนคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน ดำเนินโครงการทดลองเกี่ยวกับ AI มาได้ประมาณ ปี โดยใช้ AI ช่วยเรียนรู้พฤติกรรมของหมูในฟาร์ม เพื่อให้ทราบได้อย่างทันท่วงทีว่าหมูตัวใดกำลังมีอาการป่วย ช่วยให้รักษาหมูได้ทัน ลดอัตราการตายของหมู และคงผลิตภาพ (Productivity) ให้ยังอยู่ในระดับสูง

 

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการได้เรียนรู้ผ่านอุปสรรคหลายอย่าง เช่น ต้องทำงานกับอุจจาระหมู แต่การนำ AI เข้ามาใช้ก็เป็นเรื่องจำเป็น ที่ยังต้องศึกษาและเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพราะหากโครงการสำเร็จ จะไม่ได้ช่วยเพียงแค่บริษัท แต่สามารถนำไปช่วยได้กับทั้งอุตสาหกรรม บริษัทจึงจะยังคงร่วมมือกับภาคการศึกษา ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI และทำงานแบบ “กัดไม่ปล่อย” อย่างมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ในการวิจัยด้าน AI ต่อไป

 

ดร.ธีรวัฒน์ อัศวโภคี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานนวัตกรรมข้อมูลเพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดมุมมองว่า ที่ผ่านมา หลายองค์กรมักตั้งคำถามว่า “ฉันหรือองค์กรจะสามารถใช้ AI ได้อย่างไร” ซึ่งเป็นการเริ่มต้นตั้งคำถามที่ผิด หากต้องการจะนำ AI มาประยุกต์ใช้ในองค์กร คำถามที่ควรเริ่มตั้งคือ “เป้าหมายขององค์กรคืออะไร” และ “AI จะสามารถปลดล็อคให้องค์กรขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายขององค์กรได้อย่างไร”

 

AI เป็นเพียงแค่เครื่องมือ AI ไม่สามารถรู้เองได้ว่าเป้าหมายขององค์กรคืออะไร ดังนั้น ตัวองค์กรเองจำเป็นต้องนำเป้าหมายขององค์กรเป็นตัวตั้งก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าจะนำ AI เข้ามาช่วยขับเคลื่อนสู่เป้าหมายได้อย่างไร ไม่ใช่เอา AI มาเป็นตัวตั้ง” ดร.ธีรวัฒน์ กล่าว

 

ที่สำคัญ ทั้งองค์กรและผู้บริหารต้องเปิดใจและมุมมองให้กว้าง ต้องอย่าคิดว่า AI และ Big Data คือ “กระสุนเงิน” ที่จะช่วยบุกทะลวงฝ่าฟัน แก้ไขทุกปัญหาให้องค์กร และไม่ตั้งความหวังสูงเกินกว่าความเป็นจริง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้พนักงานและองค์กรกล้าที่จะผิดพลาดเพื่อเรียนรู้ เพราะหากปิดกั้นความผิดพลาด ตั้งความหวังไว้สูง ทุกคนก็จะกลัวการทำสิ่งใหม่ๆ กลับไปทำสิ่งเดิมๆ องค์กรจะไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และไม่สามารถใช้ AI ในทางที่เกิดประโยชน์กับองค์กร

 

ด้านคุณสุวัฒน์ มีมุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระบุว่า แม้บริษัทจะมีวิศวกรอยู่มากมายในโรงกลั่น แต่บริษัทก็ยังประสบปัญหา เรื่องเช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ ได้แก่ 1.การหาพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI และการจัดการข้อมูล 2.การรวบรวมชุดข้อมูล (Data Collection) ให้เพียงพอสำหรับ AI และอัลกอริทึ่มมาประมวลผล

 

สำหรับปัญหาเรื่องการหาพนักงานนั้น บริษัทแก้ไขด้วย วิธี ได้แก่ การทยอยฝึกอบรมและพัฒนาวิศวกรภายในให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI ผ่านหลักสูตรและสถาบันที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน ก็สรรหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้วจากภายนอกควบคู่กันไป เพื่อให้บริษัทมีทีมด้าน AI เพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว ส่วนปัญหาด้านการรวบรวมชุดข้อมูล บริษัทเองกำลังอยู่ระหว่างรวบรวมชุดข้อมูลที่จำเป็นและเป็นประโยชน์เพิ่มเติม

 

ขณะที่ รศ.แฮ ยัง นอ (Assoc. Prof. Hae Young Noh) อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน กล่าวว่า AI สามารถเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของสังคมด้วย เช่น ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยเองก็เป็นประเทศหนึ่งที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยจะมีจำนวนผู้สูงอายุในปี 2564 สูงถึง 13.1 ล้านคน หรือราว 20% ของประชากรทั้งประเทศ

 

ล่าสุด เธอได้ทำงานวิจัย เครื่องวัดความสั่นสะเทือนและรูปแบบของการเดิน โดยใช้ AI เข้ามาช่วยบอกถึงสถานะของผู้ป่วยสูงอายุในสถานบริการสุขภาพ เช่น จังหวะการเดินแบบนี้ น้ำหนักการเดินแบบนี้ มีความสามารถในการเดินเป็นอย่างไร กำลังเหน็ดเหนื่อย มึนงง แข็งแรง ต้องการการดูแลเพิ่มเติมหรือไม่ และจะคอยแจ้งเตือนไปยังแพทย์และผู้ดูแลตามกำหนดเวลา

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวว่า AI สามารถช่วยแก้ปัญหาให้แก่ภาคธุรกิจได้ในวงกว้าง ทั้งช่วยเพิ่มยอดขาย ตรวจสอบการทุจริต สร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้ผู้บริโภค เป็นแชทบอทที่ช่วยเหลือผู้บริโภค วิเคราะห์และคาดเดาพฤติกรรมผู้บริโภค โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จาก AI สูงในปัจจุบัน ได้แก่ ธุรกิจบริการสุขภาพ ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจบริการด้านการเงิน ธุรกิจโลจิสติกส์ และมีอีกหลายกลุ่มธุรกิจที่เริ่มได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เช่น โทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ และเกษตรกรรม

 

ทั้งนี้ AI ยังเข้ามามีบทบาทในการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ขยายพลังสมองทางธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน หากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ร่วมมือกัน อาจทำให้เกิดนวัตกรรมและงานวิจัยใหม่ๆ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและเป็นพลังแห่งอนาคตได้ โดยมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ยังคงเปิดรับโอกาสในการสร้างความร่วมมือด้านงานวิจัยกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และนำไปใช้แก้ปัญหาต่างๆ ได้จริง