นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้ลงนามในหนังสือนำส่งหลักเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายและคู่มือการใช้เกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้สำนักงาน กกต. นำไปใช้เป็นหลักเกณฑ์ที่จะให้พรรคการเมืองใช้เป็นกรอบในการพัฒนาและกำหนดนโยบายของพรรคเพื่อลดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย โดยให้พรรคการเมืองนำนโยบายของพรรคที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ไปเทียบกับเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ในขั้นตอนการพัฒนานโยบาย เพื่อตรวจสอบว่านโยบายดังกล่าวมีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับหลักเกณฑ์นี้หรือไม่ และนอกจากนี้ขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนที่พวกเราต้องจับตามองมากที่สุดคือขั้นตอนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่หน่วยงานรัฐจะเป็นผู้ปฏิบัติตามเกณฑ์ในขั้นตอนนี้ ซึ่งจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้รับการเลือกตั้ง มีการจัดตั้งรัฐบาลและแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว

          สำหรับเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ เกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ในขั้นตอนการพัฒนานโยบาย กำหนดเป็นเกณฑ์ชี้วัดสำหรับการประเมิน 5 เกณฑ์ ได้แก่ 1. การแสดงความเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติ 2. การกำหนดวัตถุประสงค์ของนโยบาย 3. การประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย 4. มีกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า ความเป็นไปได้ และความเสี่ยงของนโยบายด้วยการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ และ 5. การเสริมสร้างความโปร่งใสในการพัฒนานโยบายของพรรคการเมือง และเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายในขั้นตอนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ กำหนดเป็นเกณฑ์ชี้วัดสำหรับการประเมินได้ 4 เกณฑ์ ได้แก่ 1. มีการเตรียมการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตในขั้นก่อนการดำเนินการตามนโยบาย 2. มีการเตรียมการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการทุจริต และการติดตามการดำเนินการตามนโยบาย 3. มีการเตรียมการประเมินผลการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการทุจริต และ 4. มีการเตรียมการสร้างความโปร่งใสในขั้นการนำนโยบายสู่การปฏิบัติด้วยการสื่อสารการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการทุจริต และการสร้างการเฝ้าระวัง

          เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญที่จะทำให้หลักเกณฑ์นี้ประสบความสำเร็จได้ คือเราจะต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและนำหลักเกณฑ์นี้ไปใช้ นอกจากนี้ยังรวมถึงการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง มอนิเตอร์ความผิดปกติ โดยเฉพาะขั้นตอนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เรื่องเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าไปแก้ไขปัญหาในอนาคตด้วย