ในการพัฒนาเศรษฐกิจและคมนาคมขนส่งของประเทศที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องในกทม.และเมืองใหญ่ ทั้งการก่อสร้างอาคารสูง ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ที่มีการนำเครื่องจักรกลขนาดใหญ่เช่น ปั้นจั่น หรือ เครน มาใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงและอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคธุรกิจการก่อสร้างอาคารสูง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการให้เช่าและตัวแทนจำหน่ายปั้นจั่นกว่า  200 ราย และมีการใช้งานเครนรวมทั่วประเทศกว่า 1,500 เครื่อง ความปลอดภัยจึงเป็นหัวใจสำคัญ นอกจากปัญหาเครนพังถล่มแล้ว อีกปัญหาที่พบอยู่บ่อยครั้ง คือการปล่อยให้คนงานโดยสารขึ้นไปพร้อมกับการขนวัสดุในงานก่อสร้าง เช่น บักเก็ตปูน  นอกจากจะเกิดอุบัติเหตุพลัดตกลงมาเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสแล้ว ยังผิดกฎหมายคุมครองแรงงานอีกด้วย

            วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย คุณหฤษฎ์ ศรีนุกูล คณะอนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่นไทย กล่าวว่า ปกติการสัญจรของคนงานในไซต์ก่อสร้างอาคารสูงต้องขึ้นผ่านบันไดอาคาร หรือลิฟท์ก่อสร้างในกรณีที่เป็นอาคารสูง 20 -30 ชั้น  เมื่อเร็วๆนี้มีเหตุร้าย เครนยกกระบะทรายสลิงขาดเป็นเหตุให้คนงานทั้ง 3 คนที่โดยสารขึ้นไปกับเครนหรือปั้นจั่นด้วยนั้น ร่วงหล่นลงมากระแทกพื้นได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต 1 คน เพราะไม่ต้องการเดินขึ้นบันไดไปยังชั้นที่จะโยกเทบักเก็ตกระบะทรายที่เครนขนส่งขึ้นไป ถึงแม้คนงานจะมีการใช้อุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูงแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถรักษาชีวิตไว้ได้ เนื่องจากคนงานได้คล้องเกี่ยวอุปกรณ์เซฟตี้กันตกไว้กับรอกตะขอยกที่สลิงขาด อีกกรณีที่พบบ่อยเช่นกัน คือการปล่อยให้คนงานขึ้นไปกับบักเก็ตบรรจุปูนเพื่อทำหน้าที่โยกเทปูนบนชั้นสูงฃองอาคารก่อสร้าง ในบางครั้งจะพบว่าคนงานได้ขึ้นไปเครนตั้งแต่โหลดปูนที่ท้ายรถโม่ปูนเลยที่เดียว หลักการสำคัญคือ ทุกชีวิตมีค่า ผู้ประกอบการและหัวหน้างานควรเร่งพัฒนาให้ความรู้ในหลักการทำงานตามกฏแห่งความปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติงานและให้เกิดความตระหนักใส่ใจเห็นความสำคัญและรับผิดชอบด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ตลอดจนให้กระตุ้นเตือนผู้ที่ทำงานร่วมกับเครน หรือปั้นจั่นต้องมีการปฏิบัติการที่ดีและยึดกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้อยากให้ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับปั้นจั่นหรือเครนช่วยกันพิจารณาหาวิธีหรือนวัตกรรมกระบวนการใหม่ๆ ที่ไม่ต้องให้คนงานต้องสุ่มเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุดังกล่าว

          
               วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จึงขอเน้นย้ำผู้ประกอบการและผู้ปฏิบัติงานให้ตระหนักถึงอันตรายที่ต้องเผชิญจากความประมาทเลินเล่อและอาจไม่รู้แง่มุมความคุ้มครองทางกฎหมายแรงงาน ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปั้นจั่นหอสูง จากกฎกระทรวงได้กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2551 ซึ่งได้กำหนดไว้ว่า ให้นายจ้างควบคุมดูแลมิให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในห้องควบคุม หรือในรัศมีการทำงานของเครื่องจักร และควบคุมดูแลมิให้ผู้ใดห้อยโหน เกาะ ยืน หรือโดยสารไปกับเครื่องจักรซึ่งเคลื่อนที่ได้และมิได้จัดไว้เพื่อการนั้น ในกรณีมีลูกจ้างทำงานในรัศมีการทำงานของเครื่องจักร นายจ้างต้องดูแลระมัดระวังมิให้ลูกจ้างได้รับอันตรายจากเครื่องจักรหรือวัสดุสิ่งของที่ตกจากเครื่องจักรนั้น