อีกก้าวของเทคโนโลยีนิติวิศวกรรมในประเทศไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี และผศ.ดร.คงฤทธิ์ หันจางสิทธิ์ หน.ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ผนึกความร่วมมือด้านงานวิจัยกับศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7 สำนักงานตำรวแห่งชาติ จังหวัดนครปฐม นำโดย พันตำรวจเอก ชูชาติ โชคสถาพร รองผู้บังคับการ และนายตำรวจระดับผู้กำกับการ พร้อมเข้าเยี่ยมชมศูนย์ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมและฝึกอบรมการตรวจพิสูจน์หลักฐานด้านนิติวิศวกรรม (Digital Forensic Innovation and Training Center : DFIT) ที่ก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยี ณ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ม.มหิดล ห้องปฏิบัติการเชื่อม ห้องปฏิบัติการไมโครสโคป และห้องปฏิบัติการวิจัย ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนจากอาชญากรรมไซเบอร์และเสริมสร้างสังคมก้าวหน้าในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

           ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “เทคโนโลยีดิจิทัลนำมาซึ่งประสิทธิภาพความเจริญก้าวหน้าขององค์กร ธุรกิจ และอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันนิติวิศวกรรม (Digital Forensic) ก็จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนและแก้ปัญหาไซเบอร์ซีเคียวริตี้  คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นได้ด้วย แต่เนื่องจากเป็นงานสืบสวนเฉพาะทาง ซึ่งประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนยังขาดแคลนบุคคลากรที่เชี่ยวชาญจำนวนมาก  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้เปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (ภาคพิเศษ) หรือ Master of Engineering Program in Computer Engineering เป็นแห่งแรกของประเทศไทยนับตั้งแต่กลางปี 2013 โดยผลิตบุคคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านงานสืบสวนพิสูจน์หลักฐานทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ นำไปสู่การสร้างมาตรฐานการรองรับการพิสูจน์ ยืนยัน และวิเคราะห์หลักฐานทางด้านนิติวิศวกรรมที่แม่นยำและรวดเร็ว รวมไปถึงสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับงานนิติวิศวกรรมและกระบวนการยุติธรรม   

อีกทั้งคณะวิศวะมหิดลยังมี ศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ด้านนิติวิศวกรรม หรือ Digital Forensic Innovation and Training Center (DFIT) ซึ่งให้บริการพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ทางนิติวิศวกรรมขั้นสูง(Digital Forensic)  ดำเนินงานเชิงสืบสวนมาตรฐานสากล อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น จัดอบรมเผยแพร่ความรู้ทางด้านความมั่นคงปลอดภัยในระบบคอมพิวเตอร์ และงานทางด้านนิติวิศวกรรม เช่น จำลองการใช้งานโปรแกรมตรวจสอบการตัดต่อตัดแต่งภาพที่ชี้ให้เห็นการหักเหของแสง ในจุดต้องสงสัยว่า ถูกตัดต่อภาพเพื่อนำไปสู่การระบุความผิดปกติของภาพได้อย่างชัดเจนและแม่นยำ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานการวิจัยและพัฒนาของนักศึกษาภายในศูนย์ DFIT 

      แม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการลงมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้สอดคล้องกับหลักสากลและกฏหมายระหว่างประเทศ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของประเทศไทยบนเส้นทางสู่สังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ ด้วยกรอบที่ชัดเจนว่าเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิใดบ้างเหนือข้อมูลนั้น ๆ วางแนวทางการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้ถูกนำไปใช้ในทางที่ละเมิดสิทธิ  แต่เนื่องด้วยแนวโน้มของการกระทำความผิดโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือสร้างความเสียหายต่อทั้งองค์กรและตัวบุคคล รวมทั้งการล่อลวงต่าง ๆ บนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นในทุก ๆ ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล จึงไม่หยุดนิ่งที่จะวิจัยพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาโปรแกรมตรวจสอบ สืบค้นหลักฐานที่ถูกจัดเก็บไว้บนเครือข่ายเน็ตเวิร์คต่างๆ เพื่อเพิ่มทักษะและความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือและซอฟต์แวร์ให้ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งจัดอบรมเผยแพร่องค์ความรู้ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ กระบวนการเก็บรวบรวมหลักฐานดิจิทัลจากที่เกิดเหตุให้ถูกต้องและครบถ้วนตามมาตรฐานสากล และการทำงานด้านนิติวิศวกรรมให้กับหลายหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับงานนิติวิศวกรรมและกระบวนการยุติธรรมของประเทศ”