วสท. ร่วมฝึก COBRA GOLD 2020

การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาสาธารณภัย นานาชาติ 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

              วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมการฝึก “COBRA GOLD 2020 การฝึกช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาสาธารณภัย (HADR DEMO) เพื่อประโยชน์ต่อประชาคมและความปลอดภัยของประชาชนในภูมิภาค

 

               ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า การฝึกคอบร้าโกลด์ (Cobra Gold 2020) นับเป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกองทัพไทย และกองกำลังสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ เป็นครั้งที่ 39 ในการฝึกช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาสาธารณภัย (Humanitarian Assistance and Disaster Relief : HADR DEMO) แบ่งเป็น 3 ฐาน คือ สถานีฝึกดินโคลนถล่ม สถานีฝึกตึกถล่ม สถานีน้ำท่วม โดย วสท. มีบทบาทหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการฝึก (EXCON) สถานีฝึกดินโคลนถล่ม (Landslide Station) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารที่ดีระหว่างมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึก พัฒนาขีดความสามารถในการอำนวยการยุทธร่วม-ผสมประยุกต์ใช้กำลังรบในสถานการณ์วิกฤตต่างๆ รวมทั้งการฝึกใช้ระเบียบปฏิบัติประจำกองกำลังผสมนานาชาติและฝ่ายพลเรือน เพื่อให้นานาประเทศมีความเข้าใจตรงกันและมีความพร้อมปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหากสถานการณ์สาธารณภัยเกิดขึ้นจริง

 

              นายสิทธิโชค เหลาโชติ ประธาน วสท. สาขาภาคตะวันตก กล่าวว่า ในการฝึกช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาสาธารณภัย ครั้งนี้จัดขึ้นที่ศูนย์ฝึกบรรเทาสาธารณภัย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ประเทศเข้าร่วมการฝึก แบ่งเป็นฝ่ายทหารจำนวน 7 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย จีน และมาเลเซีย ส่วนฝ่ายพลเรือนจากเครือข่ายภาคี หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมจาก 28 หน่วยงาน นับว่าประสบผลสำเร็จด้วยดีจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิด แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ในการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและบรรเทาสาธารณภัย

 

             หนึ่งในกิจกรรมการฝึกของประเทศไทยที่สร้างความประทับใจให้แก่ทหารนานาชาติและผู้ที่เข้าร่วมโครงการ HADR DEMO เป็นอย่างมาก คือการนำ สุนัขกู้ภัย และ ช้างกู้ภัย ของมูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มาเข้าร่วมการฝึกช่วยเหลือผู้ประสบภัย ด้วยการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างลงตัว ช้างกู้ภัย ที่ได้รับการฝึกฝนจะเป็นทีมแรกที่เข้าทำการเคลียร์พื้นที่ ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขา ทุรกันดาร หรือยากต่อการเข้าถึงด้วยรถยนต์ ช้างกู้ภัยที่ได้รับการฝึกจึงเปรียบเสมือนเครื่องจักรและยานพาหนะที่สามารถเดินไปในเส้นทางที่มีความยากลำบาก และมีอุปสรรคขวางกั้นได้ดี โดยช้างกู้ภัย 1 ทีมจะประกอบด้วย 1. คนเดินนำช้าง 2 คน ทำหน้าที่ดูแลอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการลากจูงหรือจัดการสิ่งที่กีดขวาง รวมถึงการตรวจสอบเส้นทางให้ช้างเดินได้อย่างปลอดภัย 2. จตุลังคบาท ทั้ง 4 คน คอยดูแลและระวังเท้าช้าง 3. ควาญช้าง ผู้ที่นั่งบนคอช้างคอยทำหน้าที่ควบคุมออกคำสั่งช้าง และ 4. ตำแหน่งท้ายช้าง เป็นผู้ช่วยระวังด้านหลังช้าง และช่วยลำเลียงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บขึ้นบนหลังช้าง เนื่องจากสุนัขนั้นมีประสาทการรับรู้กลิ่นได้ดีและสามารถเข้าถึงพื้นที่แคบได้เร็วกว่ามนุษย์ เมื่อพบผู้ประสบภัยสุนัขจะเห่าเพื่อส่งสัญญาณระบุถึงตำแหน่งได้อย่างแม่นยำ จึงถูกนำมาใช้ในปฏิบัติการร่วมกับทีมค้นหาเมื่อเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ตึกถล่ม แผ่นดินไหว หรือดินโคลนถล่ม ฯลฯ รวมทั้งการค้นหาผู้สูญหายในพื้นที่กว้าง ยิ่งการช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็ว ก็จะสามารถเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้มากขึ้นอีกด้วย

 

 

              นอกจากนี้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ยังได้รับมอบหมายให้ออกแบบพัฒนาโครงสร้างอุปกรณ์กู้ภัยและลำเลียงผู้ประสบภัยบนหลังช้างให้มีความเหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ด้วย ซึ่งแต่เดิมจะใช้เป็นโครงสร้างที่ทำจากเหล็ก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายแก่ช้างได้  ทั้งนี้เพื่อให้การเคลื่อนย้ายอพยพผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัยสูงสุด