มาตรการสูงวัยมีคุณภาพ 4 มิติ เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สุขภาพ และสังคม
  • 1 October 2020 at 19:18
  • 7829
  • 0

เด็กและเยาวชนคืออนาคตอันไกล  ปัจจุบันเป็นผลงานของผู้สูงวัย  อนาคตที่อยู่ใกล้มาจากกลุ่มวัยทำงาน   ทั้งสามกลุ่มของสังคมย่อมเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ไม่ว่าในระดับครอบครัว ชุมชน เมืองและประเทศ การบริหารจัดการที่ดีถึงสามารถดึงพลังที่มีคุณค่าของแต่ละกลุ่มออกมาทำให้เกิดประโยชน์อย่างเหมาะสม

ศึกษาตรวจดูมาตรการภาครัฐ

เรามาดูมาตรภารภาครัฐเกี่ยวกับผู้สูงวัยจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 29  กันยายน 2563 เรื่อง มาตรการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืน 4 มิติ (เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สุขภาพ และสังคม)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืน 4 มิติ (เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สุขภาพ และสังคม) (มาตรการฯ) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยให้ พม. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการและติดตาม และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รายงานว่า

1. ปัจจุบันสัดส่วนผู้สูงอายุในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องทำให้ฐานภาษีของประเทศแคบลง ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้จากภาษีเงินได้ของภาครัฐที่จะนำมาใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศลดลงตามไปด้วย ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น ซึ่งอาจนำไปสู่การขาดดุลงบประมาณและการสะสมหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต จึงได้มีการจัดทำมาตรการฯ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืนทั้งระบบ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการขับเคลื่อนงานทุกมิติ และเพื่อให้มีกลไกขับเคลื่อนงานรองรับสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืนอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 ของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบให้ พม. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการฯ และมาตรการดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

 

มาตรการ

ตัวอย่างวิธีการดำเนินงาน

มิติเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย 8 ประเด็นเร่งด่วน ได้แก่

1. การบูรณาการระบบบำนาญ และระบบการออมเพื่อยามสูงอายุ และการปฏิรูประบบการเงินการคลังที่เหมาะสมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย

เสนอร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... เพื่อสร้างระบบบำนาญและการออมที่มั่นคง เพียงพอ และยั่งยืน (คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการแล้ว เมื่อวันที่  8 พฤศจิกายน 2559)

2. การส่งเสริมและสนับสนุนประชากรวัยทำงาน กลุ่มที่ไม่ใช่ลูกจ้างในการเตรียมความพร้อมเพื่อการเข้าสู่             การใช้ชีวิตยามสูงอายุ

ปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ              พ.ศ. 2554 โดยส่งเสริมการสมัครสมาชิกซึ่งมีรูปแบบสอดคล้องกับอาชีพและรายได้ที่แตกต่างกัน

3. การส่งเสริมและสนับสนุนประชากรวัยทำงานกลุ่มลูกจ้างในการเตรียมความพร้อมเพื่อการเข้าสู่การใช้ชีวิตยามสูงอายุ

จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับในรูปแบบของกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ

4. การขยายอายุการทำงาน

- ขยายอายุเกษียณราชการเป็น 65 ปี เฉพาะบาง                สายงาน (ไม่ครอบคลุมตำแหน่งบริหาร)

- กำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมให้ภาคเอกชนขยายอายุการทำงานของลูกจ้าง

5. การสนับสนุนและสร้างระบบการออมทั้งแบบถ้วนหน้าและสมัครใจผ่านกลไกต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการในยามสูงอายุ

สร้างระบบการออมอย่างถ้วนหน้า และส่งเสริมการออมภาคสมัครใจในรูปแบบต่าง ๆ

6. การสนับสนุนการเพิ่มพูนทักษะและอาชีพทางเลือกที่ 2 ในวัยทำงานและหลังเกษียณ เพื่อใช้ประโยชน์ในยามสูงอายุ

สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะจากสถาบันและภาคธุรกิจเอกชน

7. การกระจายแหล่งการจ้างงานให้อยู่ใกล้ชุมชนชนบท

สร้างแรงจูงใจให้อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และบริการไปตั้งในต่างจังหวัด

8. การจูงใจให้คนต่างชาติที่มีคุณภาพและต้องการทำงานในประเทศไทยอย่างถาวรได้มีโอกาสทำงานและพำนักในประเทศไทย

จูงใจและอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่มีคุณภาพสนใจและเข้ามาทำงานในประเทศไทย

หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงแรงงาน (รง.) พม. กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

มิติสภาพแวดล้อม ประกอบด้วย 4 ประเด็นเร่งด่วน ได้แก่

1. การปรับปรุงกฎกระทรวงให้มีผลใช้บังคับให้สอดคล้อง ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้มากขึ้น

แก้ไขกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวม 3 ฉบับ เช่นกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2548 และกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ หรือบริการสาธารณะอื่น เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ. 2555

2. งบประมาณในการสร้างอาคาร โครงสร้างพื้นฐาน (เช่น ถนน ระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น) ต้องสอดคล้องกับกฎกระทรวงที่แก้ไขแล้ว

ขอมติคณะรัฐมนตรีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด

3. ให้มีการรายงานผลและตรวจติดตามอาคารส่วนราชการทั้งหมดว่าได้ดำเนินการแก้ไขตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 แล้ว แต่ขาดความครอบคลุมและไม่ต่อเนื่อง

ขอมติคณะรัฐมนตรีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการร่วมกับองค์กรผู้สูงอายุ คนพิการในพื้นที่ตรวจติดตามและมอบประกาศรับรองอาคารที่ผ่านเกณฑ์

4. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีภารกิจในการปรับสภาพแวดล้อมบ้านผู้สูงอายุในชุมชนได้

ให้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย (มท.) และรายละเอียดกฎเกณฑ์เรื่องการปรับสภาพแวดล้อม บ้านผู้สูงอายุในชุมชน

หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กค. กระทรวงคมนาคม (คค.) พม. มท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

มิติสุขภาพ ประกอบด้วย 3 ประเด็นเร่งด่วน ได้แก่

1. บูรณาการศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติการ (Operation Unit) ในการบูรณาการกิจกรรมและทรัพยากร

บูรณาการกิจกรรมศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพหลังการเจ็บป่วยเฉียบพลันและศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุเข้าด้วยกัน

2. การยกระดับผู้บริบาลมืออาชีพ Formal (Paid) Care Giver

- กำหนดคุณสมบัติมาตรฐาน

- มีการสอบและออกใบอนุญาต/รับรองจากส่วนกลาง

3. การจัดให้มีศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพทุกอำเภอควบคู่กับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate Care)

การส่งเสริมให้โรงพยาบาล (ประจำอำเภอ) มีศูนย์              ฟื้นฟูฯ ครบทุกอำเภอภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2567)

หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ พม. มท. กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

มิติสังคม ประกอบด้วย 4 ประเด็นเร่งด่วน ได้แก่

1. เพิ่มบทบาท อปท. ให้เป็นผู้รับผิดชอบหลักใน        การบูรณาการและขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในทุกมิติ และพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละท้องถิ่น

คณะรัฐมนตรีควรมีมติให้สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. กำหนดกรอบภารกิจของ อปท. ให้ชัดเจน โดยคำนึงถึงระบบรองรับสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืนของ อปท.

2. การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ “บวรวชร” (บ้าน วัด โรงเรียน วิสาหกิจ ชมรม โรงพยาบาล) ในการรองรับสังคมสูงวัยในชุมชน

- ใช้มติคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความร่วมมือจากมหาเถรสมาคมให้จัดสรรงบประมาณจากเงินบริจาคที่วัดได้รับมาใช้ในกิจกรรมรองรับสังคมสูงวัยในชุมชน

- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน/วิสาหกิจด้วยการขยายผลโครงการวิสาหกิจเพื่อสังคม เช่น ระบบการดูแลผู้สูงอายุในเขตเมือง

3. การกำหนดให้มี “ผู้พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ”

บัญญัติกฎหมายกำหนดให้มีผู้พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุในกรณีที่มีภาวะพึ่งพิงหรือสมองเสื่อมที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เพื่อทำหน้าที่จัดการทรัพย์สินและดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ

4. การส่งเสริมผู้ที่มีความพร้อมให้มีบุตรและชะลอการตั้งครรภ์ของผู้ที่ไม่พร้อม

- กำหนดให้หน่วยงานราชการ/เอกชน มีสถานเลี้ยงดูเด็ก

- เพิ่มค่าลดหย่อนบุตร

หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กค. พม. รง. มท. วธ. สธ. สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

ทั้งนี้ มีประเด็นเร่งด่วนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมรองรับสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืนที่ต้องดำเนินการเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานในทุกมิติ ได้แก่

1) การจัดทำบัญชีนวัตกรรมอุปกรณ์ช่วยเหลือในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ

2) การออกระเบียบให้ อปท. ดำเนินภารกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

3) การส่งเสริมให้มีระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ

และ 4) การสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ทั้งทักษะการทำงานและทักษะชีวิต การส่งเสริมการเพิ่มพูนและปรับเปลี่ยนทักษะการทำงานและทักษะชีวิต  เพื่อเตรียมคนในวัยทำงานให้พร้อมที่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ (เรียนรู้ในที่ทำงานหรือออนไลน์)

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

รายงานการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553 – 2583 ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ โดยการคาดประมาณประชากรของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 66.5 ล้านคน ในปี 2563 เป็น 67.2 ล้านคน ในปี 2571 หลังจากนั้นจำนวนประชากรจะลดลงในอัตราร้อยละ  -0.2 ต่อปี ซึ่งในปี 2583 คาดประมาณว่าจะมีประชากรทั้งหมดประมาณ 65.4 ล้านคน

ประชากรวัยเด็ก (แรกเกิด - 14 ปี) มีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2563  มีจำนวนประชากรเด็ก 11.2 ล้านคน (ร้อยละ 16.9) ลดลงเป็น 8.4 ล้านคน (ร้อยละ 12.8) ในปี 2583

ประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในปี 2563 มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 12 ล้านคน (ร้อยละ 18) เพิ่มเป็น 20.42 ล้านคน (ร้อยละ 31.28) ในปี 2583 โดยในปี 2562 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรวัยเด็กเท่ากับประชากรผู้สูงอายุที่ 11.3 ล้านคน หลังจากนั้นจำนวนประชากรวัยเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุมาโดยตลอด

ประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) มีแนวโน้มลดลงจาก 43.26 ล้านคน (ร้อยละ 65) ในปี 2563 เป็น 36.5 ล้านคน (ร้อยละ 56) ในปี 2583 

อัตราส่วนของวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในปี 2563 มีวัยแรงงาน 3.6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ในปี 2583 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 27.7 ต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2563 เป็น 56.2 ต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2563

อัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชายในปี 2563 ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 80.4 ปี ผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 73.2 ปี และในปี 2583 อายุเฉลี่ยทั้งเพศหญิงและชายจะเพิ่มขึ้นเป็น 83.2 ปี และ 76.8 ปี ส่งผลให้ผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชายเนื่องจากอายุยืนกว่า ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2583 จะมีอัตราส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพศชาย 71 คน ต่อเพศหญิง 100 คน และจะลดลงอีกในกลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป เพศชาย 41 คนต่อเพศหญิง 100 คน

โครงสร้างอายุของประชากรแต่ละภูมิภาคในปี 2583 กรุงเทพฯ มีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานมากที่สุด ส่วนภาคเหนือมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด และภาคใต้ จะมีสัดส่วนประชากรวัยเด็กสูงกว่าภาคอื่นๆ

นอกจากนี้ ภาคตะวันออกมีการเติบโตของประชากรเมืองมากที่สุด ร้อยละ 5.3 ต่อปี เฉพาะ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

รัฐบาลได้กำหนดให้วาระผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุแห่งชาติครอบคลุมทั้งกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ (25-59 ปี) และผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) สำหรับกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ รัฐบาลมีแผนส่งเสริมเน้นเรื่องการออม การไม่มองผู้สูงอายุเป็นภาระ วิธีการดูแลผู้สูงอายุ และการปรับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุได้มีการจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่ครอบคลุมจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงมากขึ้น เน้นการเสริมทักษะใหม่แก่แรงงานผู้สูงอายุ การออกแบบการทำงานให้ยืดหยุ่นและสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างที่จ้างผู้สูงอายุ ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกิจกรรม CSR ภาคประชาชนในการสร้างงานผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ พร้อมทั้งจัดทำแผนบูรณาการด้านสุขภาพ โดยมีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุได้รับการตรวจ ป้องกัน และดูแลสุขภาพระยะยาวที่บ้านและในชุมชนตามระดับความจำเป็น สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีระบบการเงินการคลังที่ยั่งยืนในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง

#