Action Plan 2561 บริหารความสมดุล งบประมาณ-ธุรกิจรับเหมา-สถานการณ์วัสดุก่อสร้าง

ภาครัฐพยายามเร่งงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง แผนงานที่ปรากฏชัดคือ แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ.2561  แผนนี้รวมเอา  44 โครงการ วงเงินลงทุน 2,021,283.52 ล้านบาทเอาไว้ โดยมีจุดมุ่งหมายให้ดำเนินการประมูลให้เสร็จสิ้นในปี 2561 เพื่อเริ่มนับหนึ่ง ล้อมรั้วพื้นที่รื้อย้ายสาธารณูปโภค และดำเนินการก่อสร้าง   อันเป็นการสร้างภาพที่ชัดเจนว่า เมื่อนับหนึ่งแล้วงบประมาณผูกพัน และการก่อสร้างต่อเนื่องควรดำเนินไปจนแล้วเสร็จ

ข้อมูลที่ชัดเจนจากสนข.

ข้อมูลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์  2561  จากการเปิดเผยของนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีความคืบหน้าของแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ.2561 (Action Plan) กระทรวงคมนาคมที่น่าสนใจคือ   สนข.ได้เลือกโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 และโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาลและมีความพร้อมในการดำเนินโครงการ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 และยังมีโครงการสำคัญที่ต้องเร่งผลักดันรวม  44 โครงการ กรอบวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นจำนวน 2,021,280 ล้านบาท

ข้อมูล Action Plan 2561 เมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาที่สามารถเริ่มก่อสร้างแบ่งเป็น 2 กลุ่ม

ปี 2561 มีโอกาสก่อสร้าง 23  โครงการ

โครงการที่มีโอกาสประกวดราคาแล้วเสร็จ หรือเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี พ.ศ.2561 จำนวน 23 โครงการ วงเงินการลงทุนรวม 1,107,000 ล้านบาท เป็นโครงการที่อยู่ใน Action Plan 2559 จำนวน 4 โครงการ ใน Action Plan 2560 จำนวน 17 โครงการ และโครงการใหม่ จำนวน 2 โครงการ แบ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทางถนน จำนวน 3 โครงการ ทางราง จำนวน 17 โครงการ ทางอากาศ จำนวน 2 โครงการ และโครงการระบบตั๋วร่วม จำนวน 1 โครงการ

โครงการที่มีโอกาสประมูลและเริ่มดำเนินการก่อสร้างปี 2561  จำนวน  23  โครงการวงเงินกว่า 1.1 ล้านล้านบาทนั้นมีความสำคัญทั้งการเพิ่มศักยภาพด้านคมนาคมขนส่งของไทย และการกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างการก่อสร้าง ทั้งนี้ปกติแล้ววงเงินที่ใช้ในการก่อสร้างสร้างผลกระทบทวีคูณเกิดมูลค่าหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 7เท่าตัว แน่นอนว่าวงเงิน 1.1 ล้านบาทนั้นจัดแบ่งเป็นงบผูกกัน  3-5 ปี  ตามระยะเวลาการก่อสร้าง แต่วงเงินรวม 1.1 ล้านล้านบาทหมุนเวียนทวีคูณ 7 เท่าตัวคือ 7.7  ล้านล้านบาท คิดแบบเฉลี่ย 4 ปี เท่ากับปีละ 1.9  ล้านล้านบาท  ย่อมมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมีนัยะสำคัญ  หลังจากนั้นเมื่อสร้างเสร็จผลลัพธ์จากการใช้ประโยชน์ของโครงการย่อมช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยับตัวได้ดีขึ้น

ตัวอย่าง  ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการขยายถนนเป็น  4  ช่องทางจราจรทั่วประเทศ  ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มีระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯปริมณฑล  ประโยชน์ของมอเตอร์เวย์  นั้นชัดเจน

มีโอกาสอนุมัติปีนี้  21 โครงการ

โครงการที่มีความพร้อมให้คณะกรรมการ Public Private Partnership (PPP) พิจารณาเห็นชอบ หรือคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติภายในปี พ.ศ.2561  รวม 21 โครงการ วงเงินลงทุน 914,000  ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการใน Action Plan 2559 จำนวน 4 โครงการ Action Plan 2560 จำนวน 11 โครงการ และเป็นโครงการใหม่จำนวน 6 โครงการ  แยกเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทางถนน  10 ทางราง  8 โครงการ ทางน้ำ 2 โครงการ และทางอากาศ 1 โครงการ

ประเด็นที่ควรทำความเข้าใจให้ชัดเจน (อีกครั้ง) คือ Action Plan 2561   เป็นความพยายามขมวดปม ปิดจ็อบงานให้ได้ในปี2561  (เมื่อคิดตามปีงบประมาณเท่ากับสิ้นเดือนตุลาคม 2561)  จุดชี้วัดความสำเร็จคือ ประมูลได้ผู้รับเหมาและเซ็นสัญญาก่อสร้างรวม  23  โครงการ  โครงการที่ครม.อนุมัติ 21  โครงการ

ศักยภาพผู้รับเหมา-สถานการณ์วัสดุก่อสร้าง

สืบเนื่องจากความไม่ลงตัวในการต่อรองอำนาจทางการเมือง  การมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศของกลุ่มชนชั้นนำทั้งเก่าและใหม่ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองหลากหลายกลุ่มในประเทศ  มีผลให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่งหยุดชะงักหรือไม่คืบหน้าไปเท่าที่ควร เมื่อนับจากพ.ศ.  2549 ถึง 2560 รวมเวลานับสิบปี

มา ณ ช่วงเวลาปัจจุบัน  แม้พยายามโหมดำเนินการ  และประเมินว่าไม่ติดปัญหาเรื่องงบประมาณ  แต่การขับเคลื่อนงานก่อสร้างขนาดใหญ่ต่างๆ  ก็ต้องอาศัยความสามารถในการบริหารจัดการที่ดี  มีศักยภาพสูง  ทั้งนี้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง  ธุรกิจภาคเอกชนที่มีส่วนร่วม ต้องเตรียมความพร้อมในหลายๆ เรื่อง  เช่น เรื่องข้อกฎหมายเกี่ยวกับ พ.ร.บ.  จัดซื้อจัดจ้างฯ  ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายตามแบบ บช. 1 นี่เป็นเรื่องกฎหมายในประเทศ  ยังมีเรื่องหลักปฏิบัติระหว่างประเทศที่หลายประเทศไม่อนุญาตให้บริษัทธุรกิจในประเทศของตนเอง(ดูจากการจดทะเบียนตั้งบริษัทแม่)  เข้าร่วมประมูลงานในประเทศที่ปกครองโดยรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

เรื่องอื่นๆ ที่ต้องประเมินและหาทางรับมือ อันดับแรก ความเคลื่อนไหวของราคาวัสดุก่อสร้าง  รวมไปถึงการกักตุนวัสดุก่อสร้าง ที่อาจเกิดขึ้น  ตามหลักของดีมานด์ซัพพลาย เพราะเห็นชัดเจนว่า ความต้องการวัสดุก่อสร้างหลัก เช่น ปูนซิมเนต์ และเหล็กก่อสร้าง ย่อมเพิ่มมากขึ้นแน่นอน  นอกจากนี้ยังรวมถึงความต้องการเครื่องจักรกลหนักที่ใช้ในการก่อสร้าง

อีกประเด็นหนึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของแรงงานพื้นฐานในประเทศไทย  ที่ประชากรสัญชาติไทยนั้นยกระดับตนเองทำงานที่ใช้ฝีมือ-ใช้สมอง  ใช้วุฒิการศึกษาที่สูงมากกว่าการทำงานในสถานะแรงงานพื้นฐาน  ที่ผ่านมาทดแทนด้วยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน   ทั้งนี้ประเด็น “การค้ามนุษย์-กดขี่แรงงาน” ที่ต้องแก้ไขด้วยการนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมายไทยและหลักปฏิบัติสากล  ผลท้ายที่สุดต้นทุนรวมด้านแรงงานเพิ่มขึ้น  (สมเหตุสมผลที่ต้องเพิ่ม)  รวมทั้งในระยะ 5 – 10  ปีข้างหน้า  การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน พม่า  ลาว  และกัมพูชา  ย่อมสร้างงานและต้องการแรงงานในระดับต่างๆ  ในประเทศตนเองเพิ่มขึ้น  หมายถึงต้องเตรียมแก้ปัญหาสถานการณ์ “แรงงานกลับถิ่นเกิด” และการขาดแคลนแรงงานไว้แต่เนิ่นๆ

การที่ภาครัฐพยายามเร่งให้มีการประมูลงานก่อสร้างขนาดใหญ่รวม 23  โครงการ วงเงินรวม 1.1  ล้านล้าน ระยะเวลาก่อสร้าง 3-5 ปี ย่อมสร้างโอกาสที่ดีให้อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง  อุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง และธุรกิจต่อเนื่องต่างๆ   โอกาสที่ดีคว้ามาได้จากความเข้มแข็งของกิจการ ขณะเดียวกันหากมีปัญหาและอุปสรรคใดๆ  ย่อมส่งผลเสียมากขึ้น หากกิจการมีข้ออ่อน  ข้อบกพร่องที่ตรงเงื่อนไขของปัญหาและอุปสรรคนั้นๆ

#