ถนน ระบบรางภาคกลาง การเดินเรือพัทยา-หัวหิน

ความคืบหน้างานก่อสร้างถนน ระบบราง(พื้นที่ภาคกลาง)  และเส้นทางลัดข้ามอ่าวไทย

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่  6 มีนาคม  2561 เรื่อง รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 และการเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นๆ

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 และการเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นๆ ดังนี้ 

(มี 3  เรื่องคือ

1. ผลการดำเนินการตามข้อสั่งการในการปฏิบัติราชการของคณะรัฐมนตรีในพื้นที่ภาคกลาง (16 จังหวัด)

2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ของกระทรวงคมนาคม 

3. ผลการดำเนินงานการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2560 ของพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง)

(และมีข้อความยาว แต่ต้องการนำเสนอทั้งหมด จึงแบ่งออกเป็น  3 ตอน  ส่วนนี้เฉพาะเรื่องที่ 1)

1. ผลการดำเนินการตามข้อสั่งการในการปฏิบัติราชการของคณะรัฐมนตรีในพื้นที่ภาคกลาง (16 จังหวัด) ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในพื้นที่ภาคกลาง (16 จังหวัด) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 ได้มีมติรับทราบสรุปผลการปฏิบัติราชการของคณะรัฐมนตรีในพื้นที่ภาคกลาง และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในการปฏิบัติราชการในพื้นที่ภาคกลางไปพิจารณาเร่งรัดดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว  ในส่วนงานของกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง 4 จังหวัด (สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี   และประจวบคีรีขันธ์) นั้น  กระทรวงคมนาคมขอรายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงาน สรุปได้ ดังนี้

1.1 โครงการก่อสร้างทางหลวงสายเลี่ยงเมือง จากสามแยกวังมะนาว- บรรจบทางหลวงหมายเลข 3510 (หนองหญ้าปล้อง) จ.เพชรบุรี ระยะทาง 35 กิโลเมตร ของกรมทางหลวง

ข้อสั่งการ : ดำเนินการตามขั้นตอน ไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต้องสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่

ผลการดำเนินงาน : ทล. ได้ศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ และได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการ เสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไขรายงานฯ ตามความเห็นของ คชก. คาดว่าจะเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณในปี 2563 เพื่อดำเนินการออกแบบรายละเอียด

1.2  โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม - หัวหิน ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย

(1)           ข้อสั่งการ : ให้สำรวจและจัดทำข้อมูลเส้นทางเข้า-ออก สถานีรถไฟของโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน ทุกสถานี ภายใน 1 เดือน

ผลการดำเนินงาน : การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการออกแบบเส้นทาง     เข้า-ออก สถานีทุกสถานีแล้วเสร็จ และส่งข้อมูลให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เพื่อดำเนินการแล้ว

(2)           ข้อสั่งการ : วางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ภายในและโดยรอบของสถานีรถไฟ   โดยออกแบบให้มีพื้นที่สาธารณะ ที่จอดรถ และจุดเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ

ผลการดำเนินงาน : การรถไฟแห่งประเทศไทยได้วางผังให้สอดคล้องกับพื้นที่ภายในและพื้นที่โดยรอบสถานีแล้ว ส่วนภายนอกจัดให้มีที่จอดรถทั้งรถส่วนบุคคล และรถขนส่งสาธารณะในส่วนพื้นที่สาธารณะบางสถานีจะพัฒนาพื้นที่เชื่อมต่อเป็นลานและทางเดินเท้ากับพื้นข้างเคียง ซึ่งการออกแบบทั้งหมดมุ่งเน้นให้ใช้บริการได้ทั้งคนชราและคนพิการ (Universal Design)

(3)           ข้อสั่งการ : ออกแบบสถานีรถไฟและแนวเส้นทางรถไฟแต่ละประเภท ได้แก่ รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ให้ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถขึ้นขบวนรถไฟแต่ละประเภทได้อย่างสะดวกและปลอดภัย รวมทั้งให้มีความเป็นเอกลักษณ์และสอดคล้องกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่น

ผลการดำเนินงาน : การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ออกแบบสถานีและแนวเส้นทางโดยได้คำนึงถึงความสะดวกและความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการ และได้คำนึงถึงสถาปัตยกรรมท้องถิ่น และสำหรับอาคารสถานีรถไฟเก่าที่มีความเป็นเอกลักษณ์จะทำการปรับปรุงใหม่และอนุรักษ์ไว้ต่อไป

(4)           ข้อสั่งการ : ประชาสัมพันธ์เส้นทางการเดินทางโดยรถไฟจากสถานีรถไฟหัวหิน-หัวลำโพง

ผลการดำเนินงาน : การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ใช้แผ่นพับประชาสัมพันธ์เส้นทางแจกตามสถานีรายทาง รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

(5)           ข้อสั่งการ : ให้กรมการขนส่งทางบกศึกษาปริมาณผู้โดยสารที่มีความต้องการเดินทางจากสถานีรถไฟไปยังศูนย์กลางเมืองหรือสถานที่สำคัญ เพื่อให้สามารถพิจารณาความเหมาะสมของการจัดให้มีผู้ประกอบการเดินรถโดยสารสาธารณะมาให้บริการประชาชน

ผลการดำเนินงาน : กรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาและบูรณาการโครงข่ายรถโดยสารประจำทางระหว่างเมือง

1.3 เร่งรัดการเปิดให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางน้ำโดยเรือเฟอร์รี่ข้ามอ่าวไทยเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้วของกรมเจ้าท่า

ข้อสั่งการ : ให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน    รับไปพิจารณาเร่งรัดศึกษาในรายละเอียดของความเหมาะสมและความคุ้มค่าของการลงทุน

ผลการดำเนินงาน :

(1) การเดินเรือ Ferry สำหรับผู้โดยสารได้เปิดให้บริการในเส้นทางฝั่งตะวันออก-ฝั่งตะวันตก (พัทยา-เขาตะเกียบ) เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 และมีภาคเอกชนขออนุญาตเปิดเส้นทางท่าเรือสัตหีบ-ท่าเรือบางเบ้า (เกาะช้าง)-ท่าเรือคลองใหญ่ แต่เนื่องจากท่าเรือสัตหีบและท่าเรือบางเบ้า ทรุดโทรม ไม่ปลอดภัย กรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงท่าเรือก่อนเปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ

(2) โครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ในระยะยาว แบ่งดำเนินการเป็น 2 ส่วน

- ส่วนที่ 1  เส้นทางเฟอร์รี่ขนส่งผู้โดยสารและรถยนต์ (ปราณบุรี - สัตหีบ) อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม ก่อนดำเนินการออกแบบ ซึ่งกรมเจ้าท่าได้ให้ที่ปรึกษาพิจารณาอุปสงค์ของผู้ใช้บริการและปัจจัยอื่นๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์รูปแบบแนวทางในการบริหารท่าเรือต่อไป

- ส่วนที่ 2  เส้นทางเฟอร์รี่ขนส่งรถบรรทุก ที่ปรึกษาแนะนำให้ใช้ท่าเรือเอกชนที่มีอยู่ ท่าเรือบางสะพาน-ท่าเรือแหลมฉบัง/สัตหีบ และปัจจุบันมีเอกชนสนใจเข้ามาให้บริการในเส้นทางท่าเรือ บางสะพาน - ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาตลาดและความเป็นไปได้

#