การคมนาคมขนส่งกับท่องเที่ยว/เกษตรกรรม

การเคลื่อนย้ายทางกายภาพยังมีความจำเป็น  นักท่องเที่ยวต้องไปถึงพื้นที่จริง  สินค้าทางเกษตรกรรมต้องเดินทางจากไร่นาสวนไปถึงมือผู้บริโภค  ดิจิทัลเทคโนโลยีช่วยให้การบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และทางกายภาพระบบโลจิสติกส์ต้องมีความพร้อมมากที่สุด ทั้งมิติเข้าถึงพื้นที่และมิติพร้อมบริการอำนวยความสะดวกให้ภาคการผลิต ภาคบริการและท่องเที่ยว  ที่มีความต้องการอันหลากหลายทั้งเหมือนและแตกต่างกัน

ข้อมูลต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของภาคส่วนการคมนาคมขนส่งกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และภาคเกษตรกรรม

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่  6 มีนาคม  2561 เรื่อง รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 และการเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นๆ

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 และการเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นๆ ดังนี้ 

(มี 3  เรื่องคือ

1. ผลการดำเนินการตามข้อสั่งการในการปฏิบัติราชการของคณะรัฐมนตรีในพื้นที่ภาคกลาง (16 จังหวัด)

2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ของกระทรวงคมนาคม 

3. ผลการดำเนินงานการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2560 ของพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง)

ส่วนนี้เป็น เรื่องที่ 2.2  กับ 2.3    และเรื่องที่ 3

2.2 การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเพื่อสนับสนุนการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยว กระทรวงคมนาคมได้สนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว    ในชุมชน สร้างความเจริญไปยังพื้นที่และช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ เป็นการสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวก โดยกรมทางหลวงชนบท    ได้ดำเนินโครงการถนนเลียบชายฝั่งทะเลตะวันตก (The Royal Coast) เพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์และชุมพร เมื่อโครงข่ายถนนดังกล่าวแล้วเสร็จจะมีความต่อเนื่อง สะดวก ปลอดภัย และเป็นถนนเพื่อการท่องเที่ยวในระดับสากลอย่างยั่งยืน และส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลแห่งใหม่เพิ่มขึ้น โดยออกแบบเป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร มีทางจักรยานและไหล่ทางสีแดง 2 ข้างทางเพื่อความปลอดภัย พร้อมทั้งขยายสะพานในจุดที่มีลักษณะคอขวดให้กว้างขึ้น ประกอบด้วยเส้นทางสำคัญ ได้แก่

- โครงการปรับปรุงถนนสาย บ.คลองโคน - บ.บางตะบูน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม, อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ระยะทาง 14.386 กิโลเมตร งบประมาณ 297.180 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง  คาดว่าแล้วเสร็จเดือนเมษายน  2561

- โครงการก่อสร้างถนนสาย บ.ท่าม่วง - บ.บางเปิด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 16.122 กิโลเมตร งบประมาณ 198.670 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง กำหนดแล้วเสร็จในปี 2561

- โครงการก่อสร้างถนนสาย บ.สระน้อย - บ.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี               จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 10.011 กิโลเมตร งบประมาณ 110.224 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้าง  ในปี 2561 กำหนดแล้วเสร็จปี 2563

นอกจากนี้ กรมทางหลวง ได้พัฒนาปรับปรุงเส้นทางให้สามารถรองรับการเดินทางได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ประกอบด้วย

- โครงการขยายเพิ่มช่องจราจร ทางหลวงหมาย 4 ช่วงห้วยทรายใต้-วังยาว ตอน บ.เขาเต่า-บ.วังยาว (รวมทางแยกต่างระดับวังยาว) จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 7.7 กิโลเมตร กรมทางหลวงได้เสนอคำของบประมาณปี 2562 เพื่อดำเนินการ วงเงิน 800 ล้านบาท

- โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ ทางหลวงหมายเลข 3187 ช่วงเขื่อนเพชร-บางกุฬา จ.เพชรบุรี กรมทางหลวงได้เสนอคำของบประมาณปี 2562 เพื่อดำเนินการ วงเงิน 200 ล้านบาท

2.3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงไปยังพื้นที่เกษตรกรรม  กระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการพัฒนาทางหลวงชนบท โดยการก่อสร้างทาง สะพาน งานบำรุงรักษาทางและอำนวยความปลอดภัยงานทาง เพื่อสนับสนุนการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ การขนส่งสินค้าและผลผลิตทางการเกษตร เชื่อมเข้าสู่ถนนสายหลัก (ทางหลวงแผ่นดิน) ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยในปีงบประมาณ 2561 อยู่ระหว่างดำเนินการ 127 โครงการ วงเงิน 840.866 ล้านบาท และได้จัดทำคำของบประมาณปี 2562  จำนวน 147 โครงการ  วงเงิน 2,360.261 ล้านบาท

3. ผลการดำเนินงานการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2560 ของพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง

ในพื้นที่กลุ่มภาคกลางตอนล่าง 4 จังหวัด (จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์) ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยเมื่อปี 2560 พบว่า  มีจำนวนทั้งสิ้น  33 สายทาง วงเงิน 375.76 ล้านบาท  ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 22 สายทาง  คิดเป็นร้อยละ 66.67   อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 4 สายทาง  คิดเป็นร้อยละ 12.12 และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ  จำนวน 7 สายทาง  คิดเป็นร้อยละ 21.21 ประกอบด้วย

- กรมทางหลวง มีความเสียหายจากอุทกภัย  27 สายทาง   วงเงิน 290.29 ล้านบาท   ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 18 สายทาง  คิดเป็นร้อยละ 66.67   อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 สายทาง  คิดเป็นร้อยละ 7.41 และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ  7 สายทาง  คิดเป็นร้อยละ 25.92  คาดว่าจะแล้วเสร็จครบ    ทุกสายทาง ภายในเดือนกันยายน 2561

- กรมทางหลวงชนบท มีความเสียหายจากอุทกภัย  6 สายทาง  วงเงิน 85.47 ล้านบาท ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ  4 สายทาง  คิดเป็นร้อยละ 66.67  และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 สายทาง  คิดเป็นร้อยละ 33.33  คาดว่าจะแล้วเสร็จครบทุกสายทางภายในเดือนพฤษภาคม 2561

#