ภาคเอกชนแห่จดทะเบียนบริษัทใหม่ในพื้นที่ EEC ร่วมเส้นทางไทยแลนด์ 4.0

ประสบการณ์ร่วมของประเทศไทยที่ได้จากผลพวงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือ Eastern Sea  Board  คือ การขยับขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจากการพึ่งพาเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรมเป็นหลักเมื่อพิจารณาจากสัดส่วนในจีดีพี.  มาเป็นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม  กับพาณิชยกรรมและบริการมีความสำคัญมากขึ้น การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมพัฒนาจากผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก  จากการมีอุตสาหกรรมขั้นกลาง และอุตสาหกรรมปลายน้ำ  มาสู่การมีอุตสาหกรรมต้นน้ำของตนเอง  ในประเด็นนี้ที่สำคัญและเป็นพื้นฐานให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ คือ อุตสาหกรรมปิโปรเคมี  ที่ทำให้ใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยได้เหมาะสมกับคุณค่าของก๊าซมากขึ้น  นั่นคือมีโรงงานแยกก๊าซ  มีโรงงานปิโตรเคมี ที่ผลิตวัตถุดิบต้นทางให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ

หลังจากพ.ศ. 2524 เศรษฐกิจประเทศไทย และความก้าวหน้าของภาคอุตสาหกรรมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง  มีอุตสาหกรรมหนัก-อุตสาหกรรมหลัก-อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก  ภาษาปี 2561 เรียกว่าไทยแลนด์ 3.0  มนต์ขลังและพลังทางเศรษฐกิจของ Eastern Sea  Board  ยังดำรงอยู่  และภาครัฐนำมาขยายผลต่อยอดโดยตั้งความหวังว่า เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยไปถึงขั้นก้าวข้ามกับดักรายได้ประเทศปานกลาง ยกระดับเป็นประเทศรายได้ระดับสูง  บรรลุจุดประสงค์ไทยแลนด์ 4.0

บริษัทใหม่เตรียมความพร้อมการใช้ประโยชน์ที่ดิน

โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor-EEC) สร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจมากมาย เพื่อให้พลังธุรกิจภาคเอกชนประสานกับพลังการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานภาครัฐโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเกิดประโยชน์ให้มากที่ดิน ประโยชน์อันเนื่องมาจากการใช้ศักยภาพของพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ให้เต็มกำลัง  ทั้งนี้ที่ดินมาพร้อมกับศักยภาพทำเล ดังนั้นการถือครองที่ดินจึงสามารถสร้างเงื่อนไขให้ได้เปรียบในการแข่งขันตั้งแต่เริ่มต้น  เมื่อรัฐบาลไทยรัฐบาลประกาศนโยบายชัดเจนว่าเดินหน้าผลักดันโครงการ EEC ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายในปี 2561  การขยับตัวอย่างเป็นรูปธรรมของภาคเอกชน หลายเรื่องต้องเกิดขึ้นรอท่าไว้ก่อน ข้อมูลต่อไปนี้ต้นทางมาจาก  https://www.prachachat.net/property/news-114591 โดยเรียบเรียงใหม่

ข้อมูลการจดทะเบียนตั้งบริษัทในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC คือชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทราจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ สรุปได้ว่า ปี 2560 มีนักลงทุนทั้งที่เป็นชาวไทยและต่างประเทศ จดทะเบียนตั้งบริษัทในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด อีอีซี รวม 6,800 บริษัท เพิ่มจากปี 2559 ที่ยอดทั้ง 3 จังหวัดที่จดทะเบียนรวมทั้งปีอยู่ที่ 6,378 บริษัท  ในจำนวนนี้ จ.ชลบุรี มีการจดทะเบียนมากที่สุด รวม 4,880 บริษัทขณะที่ปี 2559 จดทะเบียน 4,630 บริษัท รองลงมาระยอง 1,390 บริษัท เพิ่มจาก 1,280 บริษัทในปี 2559 และฉะเชิงเทรา 530 บริษัท เพิ่มจาก 468 บริษัทในปี 2559

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ปัจจุบันพื้นที่ EEC มีนิติบุคคลเปิดดำเนินกิจการอยู่รวมทั้งสิ้น 61,284 ราย ทุนจดทะเบียนรวมกว่า 1.7 ล้านล้านบาท แยกเป็น จ.ชลบุรี 44,975 ราย ทุนจดทะเบียนกว่า 1.02 ล้านล้านบาท ระยอง 11,553 ราย ทุนจดทะเบียน 5.60 แสนล้านบาท และฉะเชิงเทรา 4,756 ราย ทุนจดทะเบียน 1.44 แสนล้านบาท

ทั้งนี้จำนวนบริษัทที่จดทะเบียนตั้งบริษัทดังกล่าวส่วนใหญ่ดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน การพัฒนาและจัดสรรที่ดิน รับเหมาก่อสร้างอาคาร อาคารพาณิชย์ ที่พักอาศัย ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องมือในการก่อสร้าง ขายเครื่องมือจักรกล เครื่องไฟฟ้า บริการห้องพักรายเดือน อพาร์ตเมนต์ บริษัทรับเหมาติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า อาคาร-โรงงาน รวมถึงบริษัทให้บริการรักษาความปลอดภัย บริษัทให้บริการรับขนส่งสินค้า

ที่น่าสังเกตคือในพื้นที่ จ.ชลบุรี มีบริษัทที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ นายหน้าซื้อ ขาย และให้เช่าคอนโดฯ อพาร์ตเมนต์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะช่วงปี 2560  โดยในแต่ละเดือนจะมีบริษัทนายหน้าอสังหาฯ เกิดขึ้นเฉลี่ยประมาณ 60-70 บริษัท ขณะที่ จ.ระยอง และฉะเชิงเทรา มีตัวเลขของบริษัทนายหน้าอสังหาฯจดทะเบียนใหม่เพิ่มโดยเฉลี่ยเดือนละ 5-10 บริษัทเท่านั้น

ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่จัดอันดับประเภทธุรกิจที่มีผู้ประกอบการสูงสุดในพื้นที่ EEC 5 อันดับแรก

1.อสังหาริมทรัพย์ 10,851 ราย ทุนจดทะเบียน 7.26 หมื่นล้านบาท

2.ก่อสร้างอาคารทั่วไป 4,336 ราย ทุนจดทะเบียน 5.27 แสนล้านบาท

3.การขนส่งและขนถ่ายสินค้า-คนโดยสาร 1,773 ราย ทุนจดทะเบียน 4.85 พันล้านบาท

4.ภัตตาคาร ร้านอาหาร 1,577 ราย ทุนจดทะเบียน 6.33 พันล้านบาท

และ 5.ขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์อื่น 1,394 ราย ทุนจดทะเบียน 557 ล้านล้านบาท

บทบาทของบรรดา “ธุรกิจจดทะเบียนใหม่”  นี้คือการสร้างความพร้อมทางกายภาพของที่ดินให้เกิดขึ้น  นอกเหนือจากการสร้างความพร้อมจากภาครัฐ ความพร้อมที่เกิดขึ้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่  EEC  และพื้นที่ต่อเนื่องเกี่ยวข้อง

โอกาสขยายพื้นที่ธุรกิจ

การขยายพื้นที่ธุรกิจทางภูมิศาสตร์เป็นเรื่องจำเป็นต้องทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพราะส่วนประกอบสำคัญยิ่งของอุตสาหกรรมนี้คือ ที่ดิน-ศักยภาพทำเล  ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลนำมาใช้เพื่อเสริมศักยภาพการบริหารจัดการ

ตั้งแต่พ.ศ. 2524 ในช่วงเริ่มต้นการพัฒนา Eastern Sea  Board และหลังจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์จากกรุงเทพฯ จำนวนหนึ่งเข้าไปลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกมาก่อนหน้าแล้ว  ข้อมูลบริษัทในอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากกรุงเทพฯ ที่เข้าไปในพื้นที่ EEC  จัดเฉพาะ “หน้าใหม่”  หรือ “โครงการใหม่” เช่น

บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ลงทุนกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ใน อ.ศรีราชา และใน จ.ระยอง อีก 2,300 ล้านบาท,

บมจ. พฤกษา เรียลเอสเตท แผนปี 2561เปิดโครงการใหม่ 8 โครงการ มูลค่า 5,529 ล้านบาท ประกอบด้วย ที่ จ.ชลบุรี 3 โครงการ ระยอง 3 โครงการ ฉะเชิงเทรา 2 โครงการ

บมจ.ศุภาลัย เข้าไปพัฒนาเปิดโครงการใน จ.ชลบุรี และระยองมากที่สุด รวม 7 โครงการ มูลค่า 3,000 ล้านบาท

นอกจากนี้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ร่วมกับ 6 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) บมจ.บีซีพีจี, บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC, บจ.พีพีที โพลีเมอร์ โลจิสติกส์, บจ.บางกอก อินดัสเทรียล แก๊ส, บจ.โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ในโครงการนิคมอุตสาหกรรม “สมาร์ทพาร์ค” พื้นที่ 1,500 ไร่ ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง รองรับอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต ใช้เงินลงทุน 2,097 ล้านบาท  โครงการนี้ขยายความโดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอสซี ว่า ทาง กนอ.ให้บริษัทศึกษาโครงการระบบขนส่งมวลชน ระยะทางประมาณ 4 กม. เพื่อรองรับการเดินทางภายในนิคมอุตสาหกรรม ที่มีโครงการพัฒนาขึ้นมาใหม่  ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเลือกรูปแบบไหน เช่น โมโนเรล รถแทรม หรือรถบัส อีก 2-3 เดือนได้ข้อสรุป และ กนอ.กำหนดใช้โครงการระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบขนส่ง ไฟฟ้า และประปาเป็นจุดขาย

พื้นดินประเทศไทย “ไร่นา” ของทุนข้ามชาติ

ทุนนิยมข้ามพรมแดนมานานแล้ว ตั้งแต่ทุนนิยมยุคเริ่มต้นกับนโยบายเรือปืนล่าอาณานิคมจนถึงยุคโลกาภิวัตน์  การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก  สร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและมาบตาพุด  มีนิคมอุตสาหกรรมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีทุนขนาดใหญ่มาลงทุน ทั้งทุนข้ามชาติจากต่างประเทศ และทุนขนาดใหญ่ในประเทศไทย (ที่ภายหลังพัฒนาเป็นทุนข้ามชาติ/แม้ไปใกล้ๆ ระดับเพื่อนบ้านอาเซียน และในเอเชีย)

จึงไม่ควรแปลกใจหากโครงการ EEC   ที่ใช้ชื่อเต็มว่า โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor-EEC)  จะมีข่าวการเคลื่อนไหวลงทุนด้านต่างๆ ของทุนข้ามชาติ และทุนขนาดใหญ่ภายในประเทศ  “ปลาใหญ่เหล่านี้ย่อมมีพลังในการว่ายน้ำก่อน”  ส่วนอุตสาหกรรมต่อเนื่อง  ธุรกิจต่อเนื่อง  ธุรกิจบริวาร คลัสเตอร์ต่างๆ  ย่อมขยับมาตามหลังโดยธรรมชาติ

จากข่าวสารข้อมูลที่แสดงถึงสภาวะ  “พื้นดินประเทศไทย ไร่นา  ของทุนข้ามชาติ”  เท่าที่เปิดเผยสู่สาธารณะชน  ย่อมพอให้มองเห็นนัยแห่งความเปลี่ยนแปลงที่จักเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ข้อมูลการลงทุนจากทุนข้ามชาติในพื้นที่ EEC  โดยเฉพาะการลงทุนใน5  อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve)  ประกอบด้วย  หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotids) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)  อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)  ตัวอย่างเช่น

ที่จังหวัดชลบุรี มีการลงทุนจาก บริษัท เซนโค โลจิสติกส์ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์จากญี่ปุ่นที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก (ศรีราชา)  บริษัท โอเจซิสเต็ม บริษัทในเครือโตโย คอร์ปอเรชั่น จากญี่ปุ่น ผู้ผลิตเครื่องจักรและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร อ.พานทอง) บริษัท มัตซึมุระ เซเค ผู้ผลิตและจำหน่ายแม่พิมพ์ และชิ้นส่วนรถยนต์ จากญี่ปุ่น (อ.พานทอง), บริษัท แด็กซ์เวลล์ กรุ๊ป ผู้ให้บริการให้คำปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน รวมถึงอิมพอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จากประเทศจีน (อ.พานทอง), บริษัท อีสท์ เอเชีย คอมโพสิตส์ ผู้ผลิตและประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานพาหนะและอากาศยาน จากฮ่องกง (อ.เมืองชลบุรี) เป็นต้น

จังหวัดระยอง บริษัท เกทส์ ยูนิทตะ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตสายพานสำหรับยานพาหนะ บริษัทรวมทุนระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ขยายการลงทุนตั้งบริษัทใหม่ในชื่อ บริษัทเกทส์ (ประเทศไทย) เพื่อผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักร (อ.ปลวกแดง), บริษัท แอเดียนท์ แอนด์ ซัมมิท คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตที่นั่งในรถยนต์ จากอังกฤษที่เข้ามาร่วมทุนกับกลุ่มซัมมิท โอโตชีท ของกลุ่มจุฬางกรู (อ.ปลวกแดง)  บริษัท โอมาดะ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ให้บริการประกอบ บำรุงรักษา ซ่อมแซมอากาศยาน เครื่องบิน จากสหรัฐอเมริกา (อ.ปลวกแดง), บริษัท มารุเอสุ แฟคโทรี่ ผู้ผลิตขนมขบเคี้ยว จากประเทศญี่ปุ่น (อ.เมืองระยอง), ริษัท เช่วเฉิน ซิลิก้า ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากซิลิก้า จากจีน, บริษัท เฉินทง อินเตอร์เนชั่นแนล พลาสติก ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากโพลิเมอร์-พลาสติก จากฮ่องกง, บริษัท ฉาง โฮริ่ง รับเบอร์ บริษัทผลิตวัตถุดิบส่วนผสมจากยางและพลาสติก จากไต้หวัน (อ.ปลวกแดง) เป็นต้น

สร้างความพร้อมทางกฎหมาย

เมื่อวันที่  8 กุมภาพันธ์ 2561  ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 170 เสียงเห็นชอบให้ร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยหลังจากนี้ส่งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป

มีจุดที่สมควรทำความเข้าใจเพิ่มเติมคือ การแก้ไข มาตรา 6 ที่กำหนดให้ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ มีความต่อเนื่อง จะตราพ.ร.ฎ.ให้พื้นที่บางส่วนในเขตจังหวัดที่ติดต่อหรือเกี่ยวข้องกับพื้นที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการดังกล่าว ให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกด้วยก็ได้  ในเรื่องนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อธิบายว่า เรื่องนี้มาจากคณะกรรมการระเบียงเศรษฐกิจที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ควรหาทางให้จุดที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคเข้ามาอยู่ในการได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายด้วย

“ตัวอย่างที่ชัดและเป็นรูปธรรมที่สุด คือ สถานีรถไฟมักกะสัน จะกันเอาไว้สำหรับให้คนที่มาลงทุนและพัฒนาได้สิทธิประโยชน์ จึงถือเสมือนว่าเป็นพื้นที่ไข่ขาวด้วยโดยจะต้องออกเป็นพ.ร.ฎ.ที่ผ่านคณะรัฐมนตรี ภายใต้ความจำเป็นและเพื่อประโยชน์สาธารณูปโภคหรือโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น จะเอาทำไปอย่างอื่นไม่ได้ เช่น เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย หรือ การตั้งโรงงานอุตสาหกรรม จึงคิดว่าเมื่อเราเขียนในมาตรา 6 เช่นนี้ก็ยังอยู่ในหลักการของกฎหมาย” นายวิษณุ กล่าว

อีกมาตรการหนึ่งคือ ไขบทบัญญัติมาตรา 49 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดินมีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เฉพาะเพื่อการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตได้ ซึ่งที่ประชุมสนช.ได้ให้ความเห็นชอบกับมาตราดังกล่าว

กฎหมายฉบับนี้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน และสร้างความมั่นใจให้ภาคประชาชนในการดูแลสิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภค โดยตั้งกองทุนเพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ ทั้งด้านสาธารณูปโภค สาธารณสุข สถาบันการศึกษา

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้สร้างความเชื่อมั่นการลงทุนในอีอีซีได้มากขึ้น โดยเฉพาะนักธุรกิจญี่ปุ่นที่จะมีรายใหม่เข้ามาลงทุน ในขณะที่นักธุรกิจจีนวางแผนเข้ามาลงทุนในอีอีซีเช่นกัน และปีนี้ตั้งเป้าหมายมีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี 300,000 ล้านบาท

นายคณิศ กล่าวว่า ในปี 2561 จะผลักดัน 5 โครงการสำคัญ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาของการบินไทยและแอร์บัส โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 โครงการส่วนใหญ่กำหนดดำเนินการให้เสร็จภายใน 5 ปี  (ข้อมูลต้นทาง http://m.thansettakij.com/content/258325 )

#