ถึงเวลาเอาจริงการใช้ประโยชน์ที่ดินทั่วประเทศ

การใช้ประโยชน์ที่ดินทั่วประเทศต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20  ปี สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12  การใช้ประโยชน์ที่ดินทั่วประเทศต้องรองรับการพัฒนาสู่ประเทศรายได้ระดับสูง  ประเทศไทย 4.0   เป็นต้น  ดังนั้นจึงต้องมีกฎหมายรองรับสนับสนุน  มีคณะทำงานระดับชั้นต่าง  ๆ ดำเนินงาน

กำเหนิดคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

การจัดโซนพื้นที่ต่าง ๆเพื่อวางแผนและบังคับให้เกิดขึ้นจริงในระดับประเทศ  ภาค จังหวัด เมืองและชุมชน เป็นเรื่องที่รอคอยเวลามานาน เมื่อถึงวันที่  17 มกราคม  2560 อาจกล่าวได้ว่า ใกล้เคียงความเป็นจริง ทั้งนี้เนื่องจากคณะรัฐมนตรีในวันดังกล่าวมีมติ เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสภาเกษตรกรแห่งชาติไปประกอบพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1.ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. ....มีดังนี้

1.1 กำหนดวัตถุประสงค์และหลักการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ

1.2 กำหนดให้มี คทช. (คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ) ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเลขาธิการ คทช. เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินโดยทั่วไป รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย และแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ เพื่อขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี กำหนดแนวทางหรือมาตรการเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีกฎหมายหรือให้แก้ไขเพิ่มเติม ปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน

1.3 กำหนดให้การดำเนินการจัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามที่ คทช. กำหนด ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

1.4 กำหนดให้ คทช. มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ คณะอนุกรรมการ หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาศึกษา เสนอแนะหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่ คทช. มอบหมาย

1.5 กำหนดให้สำนักงานเลขาธิการ คทช. มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการของ คทช. คณะกรรมการเฉพาะกิจ คณะอนุกรรมการ และผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งวิเคราะห์นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ รวมทั้งแนวโน้มและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเสนอต่อ คทช. เพื่อพิจารณา

1.6 กำหนดบทเฉพาะกาลให้ คทช. ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้ง เลขาธิการ คทช. และจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการ คทช. ในสำนักนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน ตามพระราชบัญญัตินี้

แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่ดิน คจช.(คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ)

2.ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ........ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนี้

2.1 แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของ คจช.(คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ) โดยให้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร อธิบดีกรมป่าไม้ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อธิบดีกรมธนารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นกรรมการ อธิบดีกรมที่ดินเป็นกรรมการและเลขานุการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่น อีกไม่เกินเจ็ดคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง

2.2 แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของ คจช. ให้มีความชัดเจนและไม่ซ้ำซ้อนกับอำนาจของ คทช.

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ  มีลำดับความเป็นมาดังนี้

คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ เป็นองค์กรบริหารจัดการที่ดินภายใต้ประมวลกฎหมายที่ดิน เดิมมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน อธิบดีกรมที่ดิน เป็นกรรมการและเลขาธิการ โดยมีกองงานเลขาธิการคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติในสังกัดกรมที่ดิน ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขาธิการ และมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่เกิน 7 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี

นอกจากนี้ คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทาง และมาตรการเกี่ยวกับนโยบายที่ดิน มีรองอธิบดีกรมที่ดิน เป็นประธาน นายอุรา สุนทรศารทูล เป็นอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นอนุกรรมการ ผู้อำนวยการกองงานเลขาธิการคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่พิจารณาแนวทางและมาตรการเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามนโยบายที่ดิน ตลอดจนกลั่นกรองเรื่องก่อนนำเสนอคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ

ต่อมามีการปฏิรูประบบราชการ ตามพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของ ส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 พ.ศ.2545 มาตรา 68 (1) ให้โอนอำนาจหน้าที่กระทรวงมหาดไทยในส่วนของกรมที่ดิน เฉพาะที่เกี่ยวกับกองงานเลขาธิการ คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขาธิการคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ มาเป็น ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันคือกองบริหารจัดการที่ดิน และตามพระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้ สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมฯ พ.ศ. 2545 พ.ศ.2545 มาตรา 4 ได้แก้ไขมาตรา 14 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยแก้ไข คำว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย” ประธานคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” คำว่า “อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์” เป็น “อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ” และคำว่า “อธิบดีกรมที่ดิน” กรรมการและเลขาธิการ เป็น “ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ส่วนกรรมการอื่นคงเดิม

องค์ประกอบ

1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ประธานกรรมการ

2. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  กรรมการ

3. ปลัดกระทรวงมหาดไทย  กรรมการ

4. ปลัดกระทรวงกลาโหม  กรรมการ

5. อธิบดีกรมการปกครอง กรรมการ

6. อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรรมการ

7. อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  กรรมการ

8. อธิบดีกรมทางหลวง กรรมการ

9. อธิบดีกรมชลประทาน  กรรมการ

10. อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน  กรรมการ

11. อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี  กรรมการ

12. อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร  กรรมการ

13. อธิบดีกรมป่าไม้  กรรมการ

14. อธิบดีกรมธนารักษ์  กรรมการ

15. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ  กรรมการ

16. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา  กรรมการ

17. เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  กรรมการ

18. ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กรรมการและเลขาธิการ

คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง

#

บัญชีสยาม