ขยายระยะเวลามาตรการสนับสนุนการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ผ่านกองทรัสต์

รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจในหลาย ๆ เรื่อง  หนึ่งในนั้นคือ การกระตุ้นอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์  ซึ่งมีมาตรการหนึ่งที่ใช้คือ การส่งเสริมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

ขยายระยะเวลาส่งเสริมถึงสิ้นปี  2560

มติคณะรัฐมนตรีวันที่   29   พฤศจิกายน   2559   เรื่อง ขอขยายระยะเวลามาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (ร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้รวม 3 ฉบับ)

ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบการขยายระยะเวลามาตรการภาษีและค่าธรรมเนียม เพื่อส่งเสริมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

2. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ....

3. เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการแก้ไข ระยะเวลาการบังคับใช้ของร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์สำหรับการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นกองทรัสต์ เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารชุดสำหรับการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. .... รวม  2  ฉบับ ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จากที่กำหนดให้ดำเนินการภายในวันที่  31 ธันวาคม  2559 ให้แก้ไขเป็นให้ดำเนินการภายในวันที่ 31  ธันวาคม  2560

สาระสำคัญของร่างกฎหมาย

1. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....

1.1 ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์สำหรับเงินได้ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นใบทรัสต์

1.2 ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์สำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือกระทำตราสารที่เกิดขึ้น หรือเนื่องมาจากการโอนหรือก่อทรัพยสิทธิหรือสิทธิใด ๆ ในทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นกองทรัสต์ฯ

1.3 การยกเว้นภาษีตามข้อ  1.1  และข้อ  1.2  ให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  2560  จนถึงวันที่  31  ธันวาคม  2560

2. ร่างกฎกระทรวงที่อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณา รวม  2  ฉบับ ซึ่ง กค. ขอขยายระยะเวลาจากเดิมวันที่  31  ธันวาคม  2559  เป็น  31  ธันวาคม  2560

2.1 ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรม   เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์สำหรับการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดค่าธรรมเนียม การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อันเนื่องมาจากการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมตลาดทุน เฉพาะการจดทะเบียนที่ดำเนินการภายใน  วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ในอัตราร้อยละ  0.01  แต่อย่างสูงไม่เกิน  100,000  บาท

2.2 ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารชุดสำหรับการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุน ในอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอาคารชุดอันเนื่องมาจากการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็น กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุนเฉพาะการจดทะเบียนที่ดำเนินการภายในวันที่  31  ธันวาคม  2559  ในอัตราร้อยละ  0.01  แต่อย่างไม่สูงเกิน 100,000  บาท

ขยายความข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับกับ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust: REIT)มีดังนี้

มีลักษณะเป็น “กองทรัพย์สิน” ที่ถือกรรมสิทธิ์โดยทรัสตี (Trustee) ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยผู้ก่อตั้งกองทรัสต์ คือ ผู้ที่จะเข้าเป็นผู้จัดการกองทรัสต์ (REIT manager) ซึ่งจะเป็นผู้เสนอขายหน่วยทรัสต์และนำเงิน ที่ได้จากการขายหน่วยทรัสต์มาให้กับทรัสตีที่ตนเองไว้วางใจเพื่อจัดตั้ง REIT โดยสัญญาก่อตั้งทรัสต์จะแบ่งหน้าที่ให้ผู้จัดการกองทรัสต์เป็นผู้บริหารจัดการกองทรัสต์และทรัสตีเป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการกองทรัสต์และเก็บรักษาทรัพย์สิน

ประโยชน์ของ REIT

ระดับเจ้าของทรัพย์สิน   เจ้าของสามารถนำอสังหาริมทรัพย์ที่มีรายได้แล้วมาระดมทุนเพื่อนำเงินไปใช้ในการลงทุนและพัฒนาโครงการใหม่ได้

ระดับผู้ลงทุนทั่วไป  ไม่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากเช่นเดียวกับการลงทุนโดยตรงในอสังหาริมทรัพย์  มีความมั่นใจในการบริหารงานมากขึ้น ภายใต้การบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ของผู้เชี่ยวชาญ  มีทางเลือกในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้หลากหลายมากขึ้น

ระดับกองทรัสต์  ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้หลากหลายประเภทมากขึ้น รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ / สามารถกู้ยืมเงินได้มากขึ้น เพื่อนำมาลงทุนหรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น / สามารถพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้เองบางส่วน  / เปิดให้บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทำหน้าที่บริหารจัดการ REIT ได้ / เป็นสากลเทียบเท่าต่างประเทศ

ข้อมูลเพิ่มเติมอื่น ๆ หาได้จาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หรือไปที่ http://www.sec.or.th/TH/Pages/Home.aspx

#

บัญชีสยาม