ธุรกิจที่มีรายได้ หรือถือสกุลเงินต่างประเทศ กับการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคล

แม้ธุรกิจในอุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศไทยส่วนใหญ่ทำมาหากินหรือประกอบกิจการอยู่ภายในประเทศ  แต่ก็มีบริษัทรับเหมาก่อสร้างจำนวนหนึ่งที่ออกไปทำงานก่อสร้างต่างประเทศ ทั้งประเทศเพื่อนบ้านย่านอาเซียน จนถึงกลุ่มประเทศย่านตะวันออกกลาง  ดังนั้นจึงควรติดตามรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

การใช้สกุลเงินต่างประเทศคำนวณภาษีเงินได้

บริษัทธุรกิจที่มีรายได้หรือมีเงินตราต่างประเทศต้องสนใจมติคณะรัฐมนตรีวันที่  29 พฤศจิกายน  2559 เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล และมาตรการกำหนดให้ใช้สกุลเงินอื่น  ที่ไม่ใช่สกุลเงินไทยในการคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับ ..) พ.ศ. ....)

ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล และมาตรการกำหนดให้ใช้สกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่สกุลเงินไทยในการคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับ ..) พ.ศ. ....) รวม 2 ฉบับ ตามที่ กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้

1.1 กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องจัดทำบัญชีด้วยสกุลเงินต่างประเทศซึ่งเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานตามมาตรฐานการบัญชี

1.2 กำหนดให้เพิ่มเติมอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการแปลงค่าเงินตราทรัพย์สินหรือหนี้สิน            ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามที่กำหนด

1.3 กำหนดให้เงินตรา สินทรัพย์และหนี้สินที่เหลืออยู่เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายก่อนกิจการใช้สกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานที่มิใช่สกุลเงินไทยในการจัดทำบัญชีงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุน ให้แปลงค่าเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน โดยใช้วิธีการตามมาตรฐานการบัญชีและได้รับการรับรองจากผู้สอบบัญชี ทั้งนี้ กำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากการแปลงค่าในกรณีการเปลี่ยนสกุลเงินในการจัดทำบัญชีนี้ไม่ให้ถือเป็นรายได้หรือรายจ่าย ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

1.4 กำหนดให้การกรอบแบบแสดงรายการภาษีและการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลกำหนดให้ใช้สกุลเงินไทย โดยในการแปลงค่าสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานที่มิใช่สกุลเงินไทยเป็นสกุลเงินไทยเพื่อกรอบแบบฯ และชำระภาษี ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราชื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ (อัตรากลางของ ธปท.) ตามช่วงเวลาที่เกิดรายได้และรายจ่ายนั้น โดยกำไรหรือผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากการแปลงค่าเงินสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานมิใช่เงินสกุลไทย เป็นเงินสกุลไทยเพื่อนำเงินนั้นมาชำระภาษีไม่ให้นำมารวมคำนวณเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

1.5 กำหนดให้ผลขาดทุนสุทธิยกมาและเครดิตภาษี (ถ้ามี) สามารถนำมาใช้ในการชำระภาษีต่อไปได้ โดยไม่ต้องแปลงค่าเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานที่มิใช่สกุลเงินไทย เช่น กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีผลขาดทุนสุทธิในปีก่อนเป็นจำนวนเงินสกุลไทยหรือเป็นจำนวนเงินสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานที่มิใช่เงินสกุลไทยและได้แปลงค่าผลขาดทุนสุทธินั้นเป็นเงินสกุลไทยเพื่อกรอบแบบแสดงรายการภาษีแล้วในปีภาษีถัดมาให้นำผลขาดทุนสุทธิที่เป็นเงินสกุลไทยนั้น มาใช้ในการคำนวณภาษีโดยมิต้องแปลงค่ากลับไปเป็นเงินสกุลที่ใช่ในการดำเนินงานที่มิใช่สกุลเงินไทยอีก

1.6 กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะใช้สกุลเงินต่างประเทศในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร ดังนี้ สกุลเงินต่างประเทศที่จะใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการแปลงค่าเงินสกุลอื่นเป็นเงินสกุลที่ใช้ในการดำเนินงาน

1.7 กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้สกุลเงินไทยในการคำนวณภาษีอยู่แล้ว หากต้องการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการแปลงค่าเงินสกุลอื่นเป็นเงินสกุลไทย ต้องขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร

1.8 กำหนดให้เมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรตามข้อ 2.6 และ 2.7 แล้ว ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป ในกรณีจำเป็น บริษัทฯ สามารถขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อเปลี่ยนแปลงสกุลเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการแปลงค่าเงินตราได้

1.9 กำหนดให้บทบัญญัติในเรื่องนี้ให้ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป

ขยายความประเด็นที่ต้องสนใจคือ  กำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่สามารถนำมาคำนวณรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณเพื่อเสียภาษี  ดังนั้นแต่ละกิจการต้องสนใจธุรกิจหลักของตนเอง มิใช่พะวักพะวงกับผลต่างได้เสียในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน

#

บัญชีสยาม