ความเปลี่ยนแห่งโลก การแปรเปลี่ยนของประเทศไทย (1)

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกมักมีรากเหง้าเค้ารางมาจากความเปลี่ยนทางความคิดความเชื่อ-ปรัชญาการบริหารจัดการ-การดำเนินชีวิต  พลังขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงมาจากการยกระดับก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ส่งผลถึงการยกระดับพัฒนาพลังการผลิตจนเกิดพลังใหม่ในสังคมที่ต้องการให้มีการปรับปรุงพัฒนา-ปฏิรูป-ปฏิวัติระบบ-ระบอบความสัมพันธ์ที่เคยมีไปสู่รูปแบบเนื้อหาใหม่ให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ต่าง  ๆ ของกลุ่มพลังใหม่ที่อุบัติขึ้น  กระแสความเปลี่ยนแปลงระดับโลกในปัจจุบันอยู่ในช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาถดถอยจากการเป็นผู้นำเดี่ยวของโลก (และต้องการกู้สถานะคืน)  ขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังทยานก้าวขึ้นมาเทียบเคียงอำนาจของอเมริกา ทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจ  สังคมวัฒนธรรม  การเมืองการทหาร

ความเสี่ยงและโอกาสท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันว่าแสนยานุภาพแห่งกองทัพ พลานุภาพทางการทหารของอเมริกายังเหนือกว่าทุกประเทศในโลกนี้ ประเด็นตรงนี้เป็นหลักการพื้นฐานของสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งมีชีวิตมีจิตวิญญาณ มีชีวิต  และไร้ชีวีต  นั่นคือ  “ผู้เข้มแข็งกว่าเป็นผู้ออกกฎ และเป็นฝ่ายถูกต้อง” – “กำปั้นใครแข็งกว่า”

แต่ในอีกด้านหนึ่งจากปรากฎการณ์ธรรมชาติสู่ปรากฎการณ์ทางสังคมมีเหตุผลและเรื่องราวที่คล้ายคลึงกันนั่นคือ  ฝ่ายที่ดูเหมือนตกเป็นรองและอ่อนแอกว่ากลับสามารถพลิกมาเป็นฝ่ายกระทำต่อสถานการณ์ กำหนดความเปลี่ยนแปลงและผลลัพธ์สุดท้ายในที่สุด

ว่าไปแล้วเรื่อเช่นนี้ย่อมเป็นวัฏจักรแห่งความเปลี่ยนแปลงรอบแล้วรอบเล่าที่ใหม่แทนที่เก่า เพียงแต่ว่าช่วงเวลาระหว่างการ “แทนที่” นั้น  มีต้นทุนมากน้อยเพียงใด มีความเสียหายโดยรวมจากทั้งสองฝ่าย (ใหม่และเก่า) อย่างไร ใช้ระยะเวลาฟื้นฟูยาวนานแค่ไหน  และต้องมีเกิดการฮึกสู้ ยื้อต้านความเปลี่ยนแปลงอย่างไร  จนกว่าเกิดมีเสถียรภาพ ความมั่นคงของ “สิ่งใหม่”

สังคมและผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงความเปลี่ยนแปลง  การเปลี่ยนผ่าน  ย่อมมีความเสี่ยงมากกว่าช่วงเสถียรภาพ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นมากมายเช่นกัน


ผลลัพธ์ที่ไม่ปรารถนาแต่เกิดขึ้นการการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

เนื้อหาข้อความต่อไปนี้อ้างอิงและสรุปความจาก Human Development Report ประจำปี 1996 ที่ตีพิมพ์ในหนังสือ   Macrotrends: ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกใหม่และการปรับตัวของไทย (จัดพิมพ์ขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 60 ปีของคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการริเริ่มของสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักพิมพ์Openbooks)  มีข้อมูลจากเครือข่ายเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme:UNDP) ระบุว่า ‘คุณภาพ’ ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สำคัญกว่า‘อัตรา’ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ UNDP ขยายความว่า แบบแผนการเจริญเติบโตที่ทำความเสียหายในระยะยาวมีทั้งหมด 5 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่

การเติบโตที่ไม่สร้างงานให้กับประชากร (jobless growth)

การเติบโตที่ทิ้งห่างกระแสประชาธิปไตย (voiceless growth)

การเติบโตที่กดทับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมจนสิ้นสลาย (rootless growth)

การเติบโตที่ทำลายสิ่งแวดล้อม (futureless growth)

และการเติบโตที่ประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือคนรวยเท่านั้น (ruthless growth)

UNDP สรุปว่า การเติบโตทั้งห้ารูปแบบดังกล่าว ล้วนเป็นการเติบโตที่ “ทั้งไม่ยั่งยืน และไม่สมควรจะยั่งยืน”


การพัฒนาอย่างยั่งยืน “ก้นบึ้ง”ความต้องการมนุษยชาติ

หนังสือ Macrotrends: ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกใหม่และการปรับตัวของไทย ระบุชัดว่าแนวคิด ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ (sustainable development) ไม่ใช่เรื่องใหม่ วัฒนธรรมมากมายในประวัติศาสตร์มนุษย์ รวมทั้งวัฒนธรรมชุมชนในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ต่างมองเห็นความจำเป็นของการสร้างความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เป็นเรื่อง ‘ใหม่ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ คือความพยายามที่จะนิยาม สร้างองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ และแจกแจงองค์ประกอบต่างๆ ของแนวคิดนี้ ในบริบทของสังคมข้อมูลข่าวสารระดับโลก

รากของแนวคิด ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ สาวไปได้ถึงหนังสือเรื่องSilent Spring เขียนโดย ราเชล คาร์สัน (Rachel Carson) ตีพิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2505 (ค.ศ.1962) หนังสือเล่มนี้ตีแผ่ผลกระทบของยาฆ่าแมลงที่เรียกว่า DDT ต่อสิ่งแวดล้อมและ สุขภาพด้วยข้อมูลที่หนักแน่นน่าเชื่อถือ ทำให้ประชาชนอเมริกันให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง และนำไปสู่การประกาศห้ามใช้ DDT ในปีพ.ศ. 2515 (ค.ศ.1972) นักสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ยกย่อง Silent Spring ว่าเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ที่ทำให้คนจำนวนมากหันมาตระหนักถึงความเกี่ยวโยงอย่างแนบแน่นระหว่างสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม

นิยาม ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ ที่นิยมอ้างอิงกันมากที่สุด มาจากรายงานชื่อ Our Common Future (หรือที่รู้จักในชื่อ The  Brundtland  Report) รายงานดังกล่าวระบุว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืน หมายถึงวิถีการพัฒนาที่สามารถตอบสนองความต้องการของปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง” เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ได้อยู่ที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หากอยู่ที่การปรับปรุงคุณภาพชีวิตประชากรโลกไปในทางที่ไม่เพิ่มระดับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนเกินศักยภาพที่ธรรมชาติจะผลิตให้มนุษย์ใช้อย่างไร้ขีดจำกัด การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องอาศัยความเข้าใจว่าการนิ่งเฉยไม่ทำอะไรเลยมีผลกระทบ และเราต้องหาหนทางใหม่ๆ ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงสถาบันและพฤติกรรมของปัจเจกชนแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่ทศวรรษ1980 (เริ่มพ.ศ. 2523) เป็นต้นมา

ในปีพ.ศ. 2535 (ค.ศ.1992) ผู้นำจากหลายชาติที่มาพบกันในการประชุมสุดยอดแห่งโลก (Earth Summit) ที่กรุงรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิลได้นำเค้าโครงของ The Brundtland Report ไปสร้างเป็นสนธิสัญญาและ  Sustainability Development Gateway. http://sdgateway.net/


หลากหลายสายน้ำความคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ข้อมูลจาก “Macrotrends: ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกใหม่และการปรับตัวของไทย” ระบุว่าแถลงการณ์เกี่ยวกับประเด็นหลักๆ ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า และความหลากหลายทางชีวภาพหลังจากการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ภาคส่วนต่างๆ อาทิ ธุรกิจ รัฐบาลท้องถิ่นไปจนถึงองค์กรโลกบาลอย่างธนาคารโลก ต่างนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปตีความ ต่อยอด และปรับใช้ในบริบทของตัวเองสืบมาจวบจนปัจจุบันถึงแม้ว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเป็นแนวคิดลื่นไหลที่วิวัฒนาการไปเรื่อยๆ และมีการตีความต่างๆ นานา แต่ก็ยังมีลักษณะร่วมบางประการได้แก่

(1) ความเท่าเทียมกัน (equity) และความยุติธรรม (fairness)การพัฒนาอย่างยั่งยืนมุ่งตอบสนองความต้องการของคนจนและผู้ด้อยโอกาส ความคิดเรื่องความเท่าเทียมกันและความยุติธรรมเป็นส่วนประกอบสำคัญในนิยามของ ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ เพราะตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า ถ้าเราละเลยผลกระทบที่เรากระทำต่อคนอื่นในโลกที่เกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน เราก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายขึ้นกับตัวเองในอนาคตด้วย เนื่องจากระบบเศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดความเหลื่อมลํ้าในการเข้าถึงทรัพยากร ระบบเหล่านี้จึงจำเป็นจะต้องได้รับการปฏิรูป ส่วนความยุติธรรมหมายความว่า ประเทศแต่ละประเทศควรมีโอกาสได้พัฒนาบนพื้นฐานของคุณค่าทางวัฒนธรรมและสังคมของตน โดยไม่ปฏิเสธว่าประเทศอื่นๆ ก็ล้วนมีสิทธิดังกล่าวเช่นเดียวกัน หนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน คือเราจะปกป้องสิทธิของคนที่ไม่มีสิทธิออกเสียงได้อย่างไรในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ ของคนรุ่นปัจจุบัน คนรุ่นหลังที่ยังไม่เกิดไม่สามารถออกความเห็นหรือปกป้องผลประโยชน์ได้ ถ้าการพัฒนาจะยั่งยืนได้จริง เราจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของพวกเขาด้วย

(2) มุมมองระยะยาว (long-term view) ภายใต้หลักความรอบคอบ (precautionary principle) คำถามคือ ‘ระยะยาว’ ควรยาวเพียงใดในสังคมตะวันตกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การวางแผนของภาครัฐมองระยะเวลาเพียง 3-5 ปีเท่านั้น ยิ่งกว่านั้น ‘ระยะยาว’ ตามความหมายของนักค้าหุ้นและนักค้าเงินในปัจจุบัน คือระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์

ในขณะที่ชาวอินเดียนแดงในอเมริกาวางแผนเป้าหมายและกิจกรรมต่างๆโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อคนรุ่นหลังอีกถึงเจ็ดชั่วคน ผู้เชี่ยวชาญบางคนเสนอว่า ตราบใดที่คนรุ่นหนึ่งยังคิดถึงคนรุ่นต่อไป (ประมาณ 50 ปี) ก็แปลว่าคนทุกรุ่นจะได้รับการดูแล ถ้าเรามองเห็นว่าเรื่องใดก็ตามที่จะส่งผลกระทบยาวนานกว่านั้น เราก็ควรจะวางแผนให้ไกลขึ้น ไม่มีคนรุ่นไหนสามารถรับประกันผลลัพธ์ในอนาคตที่พยากรณ์ไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่มีคนรุ่นไหนที่ควรทำเป็นมองไม่เห็นผลลัพธ์ที่พยากรณ์ได้

ในยุคที่เรารู้แล้วว่าทุกมิติมีความเกี่ยวโยงและส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน และปฏิสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนกำลังเร่งอัตราการเปลี่ยนแปลงและการก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ หลักความรอบคอบจึงได้เสนอว่า เมื่อกิจกรรมใดๆก็ตามเพิ่มขีดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพมนุษย์ เราก็ควรต้องคิดค้นและลงมือใช้มาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบ ถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์อาจจะยังไม่สามารถพิสูจน์ความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุและผลได้ทั้งหมด

(3) การคิดแบบเป็นระบบ (systems thinking) ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจในความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เป็นเวลานานกว่าสองศตวรรษแล้วที่เรารู้ว่า โลกนี้เป็นระบบปิดที่มีทรัพยากรจำกัด มนุษย์มีโลกเพียงใบเดียว และกิจกรรมทั้งหมดของมนุษย์ก็เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของระบบธรรมชาติที่ใหญ่ยิ่งกว่า เราต้องมองให้เห็นว่า ระบบทั้งหมดที่เดินด้วยนํ้ามือมนุษย์อยู่ภายในระบบนิเวศที่ใหญ่กว่า ก่อนที่เราจะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม และทำให้เรามั่นใจได้ว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์จะอยู่รอดต่อไปในอนาคต

กล่าวโดยสรุป ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดที่มนุษย์ใช้ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร นํ้า ไม้ เหล็ก ฟอสฟอรัส นํ้ามัน และทรัพยากรอื่นๆ อีกหลายร้อยชนิดล้วนมีขีดจำกัดทั้งในแง่ของแหล่งที่มาและแหล่งที่ไป (sink) แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนบอกเราว่า เราไม่ควรนำทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้ในอัตราที่เร็วกว่าความสามารถในการผลิตทรัพยากรทดแทนของเรา และเราก็ไม่ควรทิ้งทรัพยากรธรรมชาติในอัตราเร็วกว่าความสามารถดูดซับกลับเข้าไปในระบบของธรรมชาติ ถึงแม้ว่าปัญหาทรัพยากรร่อยหรอจะเป็นประเด็นกังวลหลักของนักสิ่งแวดล้อมในอดีต แต่วันนี้ นักสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่เป็นกังวลเรื่องที่เราจะไม่เหลือแหล่งทิ้งทรัพยากรแล้วมากกว่า ปัญหาโลกร้อน รูในชั้นโอโซนและความขัดแย้งเรื่องการส่งออกขยะอันตราย ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดจากการที่เราพยายามทิ้งทรัพยากรเร็วกว่าอัตราที่ธรรมชาติจะสามารถรองรับได้

ระบบย่อยต่างๆ ในโลกล้วนเชื่อมโยงกันผ่านกระบวนการที่ภาษาวิทยาศาสตร์เรียกว่า ‘ห่วงโซ่ตอบกลับ’ (feedback loop) อันสลับซับซ้อนวิทยาศาสตร์แขนงใหม่ที่ศึกษาความซับซ้อนของระบบต่างๆ บอกเราว่าในบางระบบ เหตุการณ์เล็กมากๆ อาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ขนาดใหญ่ที่รุนแรงและพยากรณ์ไม่ได้ล่วงหน้า ด้วยการจุดชนวนซีรีส์เหตุการณ์ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้เรารู้แล้วว่าการปล่อยมลพิษในซีกโลกเหนือส่งผลให้ชั้นโอโซนเหนือทวีปแอนตาร์กติกาบางลง และเร่งอัตราการเกิดมะเร็งผิวหนังในซีกโลกใต้ วิกฤตการเงินในเอเชียส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และสงครามระหว่างชาติพันธุ์ในทวีปแอฟริกากลางทำให้เกิดการอพยพขนานใหญ่ไปยังบริเวณใกล้เคียง สร้างแรงตึงเครียดต่อระบบของประเทศเหล่านั้นจนถึงจุดแตกหัก รวมทั้งเป็นชนวนให้เกิดวิกฤตและการอพยพต่อไปเป็นทอดๆ

ขยายความเพิ่มเติมได้ว่า นอกจาก “ห่วงโซ่ตอบกลับ”  - หรือห่วงโซ่ตอบโต้กลับ ของระบบย่อยต่าง ๆ ที่ผ่านการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุถึงเหตุการต่อเนื่องทางธรรมชาติ ทางเศรษฐกิจแล้ว   ห่วงโซ่การตอบโต้กลับยังมีผลทางสังคมวัฒนธรรม และการเมืองการปกครองอย่างซึมลึกต่อเนื่องสะสมพลังเตรียมปะทุทำลายอยู่ตลอดเวลา

(ยังมีต่อ)

บัญชีสยาม