เศรษฐกิจแต่ละภาค มีสัญญาณฟื้นตัว

ข้อมูลเศรษฐกิจจากหน่วยงานภาครัฐ  เป็นที่พึ่งพิงให้ธุรกิจภาคเอกชนนำมาวิเคราะห์ประกอบการบริหารจัดการกิจการ มีรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกรกฎาคม ปี 2559  สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง  กระทรวงการคลัง ระบุว่า เศรษฐกิจภูมิภาคฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป  นำโดย ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ที่ขยายตัวได้ดี ตามแรงขับเคลื่อนของการบริโภคภาคเอกชน จากการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคสินค้าและบริการ โดยเฉพาะสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อย ประกอบกับการลงทุนภาครัฐที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรและรายได้จากการเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีเกือบทุกภูมิภาค ช่วยให้เศรษฐกิจภูมิภาคยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่เสถียรภาพทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

ภาคเหนือมีสัญญาณดีขึ้น

ภาคเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายและยอดรถจักรยานยนต์ จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 และ 11.8 ต่อปี ประกอบกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 20.8 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในภูมิภาคขยายตัวดีทั้งจำนวนและรายได้ที่   ร้อยละ 12.8 และ 6.5 ต่อปี ตามลำดับ

ส่วนการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและการลงทุนในภาคก่อสร้างยังชะลอตัว จากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ -11.1 และ -13.3 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนมิถุนายน) อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงาน

ภาคอีสาน เศรษฐกิจยังเปราะบาง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจยังเปราะบาง โดยเฉพาะด้านอุปสงค์ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ จากการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายปรับตัวลดลงที่ร้อยละ -1.7 ต่อปี การลงทุนภาคเอกชนยังชะลอตัว สะท้อนจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและภาคการก่อสร้าง โดยเฉพาะยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่หดตัวร้อยละ -11.9 และ -18.5 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่เม็ดเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบการหดตัวร้อยละ -77.9 ต่อปี

การบริโภคสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อยยังขยายตัวดี จากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 4.9  ต่อปี สำหรับด้านอุปทานยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการท่องเที่ยวยังขยายตัวดีต่อเนื่องทั้งจำนวนและรายได้ที่ร้อยละ 12.9 และ 8.5 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนมิถุนายน) อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงาน

ภาคกลางฟื้นตัว

ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายและยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 10.5 และ 13.1 ต่อปี ตามลำดับ ตามรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น

การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวต่อเนื่อง สำหรับด้านอุปทานขยายตัวดี โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจากรายได้ขยายตัวดีที่ร้อยละ 7.8 ต่อปี ตามลำดับ และภาคเกษตรกรรม จากดัชนีผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 3.8 และ 0.6 ต่อปี ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 4.4 ต่อปี ส่วนด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนมิถุนายน) อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ของกำลังแรงงาน

ภาตตะวันออกมีสัญญาณฟื้นตัว

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านอุปสงค์และอุปทาน สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดี สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายขยายตัวที่ร้อยละ 8.5 ต่อปี และรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่  ร้อยละ 22.1 ต่อปี

การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัว จากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดการก่อสร้าง สอดคล้องกับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวของภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้ที่ร้อยละ 46.4 และ 78.5 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับภาคเกษตรกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 24.1 ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนมิถุนายน) อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงาน

ภาคตะวันตกค่อยๆ ฟื้นตัว

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะด้านอุปทาน สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน โดยการท่องเที่ยวยังขยายตัวดีทั้งจำนวนและรายได้ที่ร้อยละ 2.3 และ 11.4 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ด้านอุปสงค์ยังเปราะบาง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนที่ยังอ่อนแอ

รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคและการบริโภคสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อย สะท้อนจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 27.2 และ 6.4 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนมิถุนายน) อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงาน

ภาคใต้ฟื้นตัวชัดเจน

ภาคใต้ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ จากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 และ 3.5 ต่อปี ตามลำดับ ตามรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 29.8 ต่อปี

การลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรยังหดตัว ขณะที่ด้านอุปทานยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดีทั้งจำนวนและรายได้ที่ร้อยละ 11.4 และ 22.1 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.0 ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนมิถุนายน) อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงาน

กทม.ฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะด้านอุปสงค์ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ จากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวดี จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 และ 12.4 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากรายได้เกษตรกรขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 9.7 ต่อปี

การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวทั้งในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่และเม็ดเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบการ สำหรับด้านอุปทานชะลอลง จากจำนวนและรายได้จากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวลดลงร้อยละ -22.0 และ -16.7 ต่อปี ตามลำดับ

ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนมิถุนายน) อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงาน

ขยายความ ภาพรวมเศรษฐกิจเป็นปัจจัยภายนอกกิจการ  แม้มีความสำคัญในการตัดสินใจบริหารจัดการธุรกิจ  โดยพิจารณาถึงโอกาสต่าง ๆ แต่จุดสำคัญยังอยู่ที่สถานะของกิจการนั้น มีความเข้มแข็งเรื่องใด สามารถขยายผลความเข้มแข็งได้หรือไม่ สามารถใช้ความเข้มแข็งมาช่วงชิงโอกาสที่เกิดขึ้นได้มากกน้อยเพียงใด

#

บัญชีสยาม