อนาคตอุตสาหกรรมก่อสร้าง - เหล็กและวัสดุก่อสร้างอื่นๆ

อนาคตอยู่ในกำมือของรัฐบาล   แต่รัฐบาลและกลไกรัฐอยู่ในกำมือของใคร มองไปข้างหน้าสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย  อาจได้คำถามและคำตอบที่เหมือนไม่สิ้นสุด แต่ไม่ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร  ชีวิตธุรกิจ  และชีวิตของปัจเจกชนล้วนต้องเดินหน้าต่อไป


มองภาพรวมเศรษฐกิจ

พื้นฐานการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจที่นิยมกันคือ มองจากกว้างมาแคบ  กว้างระดับโลก สู่ประเทศ สู่อุตสาหกรรม

ธนาคารโลกประมาณการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2559 อยู่ที่ 2.4% และประมาณการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนในปี 2559-2561 อยู่ที่ 6-7% โดยอัตราการเติบโตที่แท้จริง ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2559 อยู่ที่ 6.7%

ในกลุ่มประเทศอาเซียน ไตรมาสที่ 1 ปี 2559 GDP ของอาเซียนโดยรวมเติบโตที่ 4.4%. ประเทศฟิลิปปินส์เติบโตสูงสุดที่ 6.9% ส่วน GDP ของประเทศไทย อยู่ที่ 3.2%  อันดับที่ห้า รองจากเวียดนาม 5.5% อินโดนีเซีย  4.9% และมาเลเซีย 4.2   %  สิงคโปร์เติบโตน้อยกว่าไทย GDP ขยายตัว 1.8%


อุตสาหกรรมเหล็ก ประเมินความต้องการ

WSA – World Steel Association ประเมินสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กโดยให้ความสำคัญกับความเปลี่ยนแปลงของตลาดเหล็กในสาธารณรัฐประชาชนจีน  ทั้งนี้ความต้องใช้เหล็กในสาธารณรัฐประชาชนจีนคาดการณ์ว่าจะลดลง - 4% ในปี 2559 และ - 3% ในปี 2560

ในกลุ่มประเทศอาเซียนคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้น 5.8% และ 6.2% ในปี 2559 และ ปี 2560 ตามลำดับ  ทั้งนี้ประเทศเวียดนามมียอดการบริโภคเหล็กสูงสุดในอาเซียนในปี 2558 ซึ่งมากกว่าประเทศไทย และคาดว่าจะมีอัตราสูงสุดอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเทศไทยการคาดการณ์ความต้องการใช้เหล็กในประเทศจะสูงขึ้น 0.5% ในปี 2559 และ 1.4% ในปี 2560


การปรับตัวของอุตสาหกรรมเหล็กในจีน

ยุคสมัยที่สหรัฐอเมริกามีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเหนือไทยและประเทศอื่น ๆ  ในอาเซียน  มีคำกล่าวว่า “เมื่ออเมริกันไอ คนไทยก็เป็นหวัด”  ในปัจจุบันจีนมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็ก  ความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ของอุตสาหกรรมเหล็กจีนมีผลกระทบทั้งอาเซียน และทั่วโลก  ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาและข่าวจากสื่อมวลชนสรุปได้ว่า กำลังการผลิตเหล็กของจีนลดลงตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากแรงกดดันจากหลายประเทศที่ให้แก้ปัญหากำลังการผลิตที่เกินความต้องการ คาดว่าจะมีการปิดโรงงานและการผลิตลง 100-150 ล้านตัน ภายใน 3-5 ปีนี้ เป้าหมายในการตัดกำลังการผลิตในปี 2559 อยู่ที่ 45 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ได้มีการตัดลดกำลังการผลิตจนถึงเดือนมิถุนายน 2559 ไปแล้วมากกว่า 13 ล้านตัน

ขณะที่ความต้องการใช้เหล็กในจีนลดลง  การส่งออกจึงเป็นทางเลือกของอุตสาหกรรมเหล็กในจีน ดังนั้นตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2559 มีการส่งออกเพิ่มขึ้น 9.4% (เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา) เป็น 56.5 ล้านตัน  และคาดว่ายอดการส่งออกทั้งปี 2559 จะอยู่ที่ 122 ล้านตัน  ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาวของประเทศจีนส่วนใหญ่ได้ส่งออกไปยังประเทศเกาหลีใต้และประเทศในแถบอาเซียน

ส่วนเหล็กลวดมีการส่งออกเหล็กลวดจากประเทศจีนไปยังประเทศในแถบอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554

ข้อมูลเฉพาะประเทศไทย:สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 มีการนำเข้าเหล็กลวดจากจีนเพิ่มขึ้น 3% เป็น 668,000 ตัน ถึงแม้มีการออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ผู้นาเข้าได้ใช้ประโยชน์จากรายการข้อยกเว้นทางภาษี ทำให้เกิดผลเสียหายต่ออุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กในประเทศ

ข้อสรุปตรงนี้คือ อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยย่อมได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการผลิตเหล็กลวด


การใช้เหล็กขึ้นกับเศรษฐกิจโดยรวม

การใช้เหล็กไม่ว่าระดับโลกหรือระดับประเทศขึ้นกับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม สรุปข้อมูลจาก สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ดังนี้

สำหรับประเทศไทยในปี 2559 ปัจจัยบวกต่อการใช้เหล็กคือ มาตรการของภาครัฐในการกระตุ้นการใช้จ่ายในครัวเรือน  การกระตุ้นการท่องเที่ยว  การลงทุนของภาครัฐในด้านสาธารณูปโภค ความเสี่ยง

ขณะที่ปัจจัยลบประกอบด้วย การส่งออกที่หดตัวลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัว  ความผันผวนของตลาดการเงินโลกและอัตราแลกเปลี่ยน  และรายได้ภาคครัวเรือนในประเทศไทยยังไม่กระเตื้องขึ้น ดัชนีความต้องการที่อยู่อาศัยใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และในเดือนมิถุนายน 2559 มีอัตราต่าที่สุดในรอบ 25 เดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามการบริโภคเหล็กในประเทศเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 สาเหตุหลักเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ตลาดมีความต้องการสูง และมีการซื้อไว้เพื่อเก็บสต็อคสินค้าเนื่องจากคาดการณ์ว่าราคาจะสูงขึ้น ทำให้สต็อคสินค้าในระบบมีจำนวนมาก

แต่ตลาดเหล็กโดยรวมยังมีปัจจัยกดดันอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศต่อไป  เรื่องที่สำคัญคือ คาดการณ์ว่าประเทศจีนจะยังคงส่งสินค้าออกเป็นจำานวนที่มากขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าอยู่ภายใต้ความกดดัน

การประกาศมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กลวดในปัจจุบันในภาพรวมยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศในอนาคต

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเเป็นกุญแจสำคัญในการกระตุ้นความต้องการใช้เหล็กในประเทศไทย ซึ่งต้องการการผลักดันจากภาครัฐอย่างมาก เพื่อให้โครงการต่าง ๆ เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด

ความเชื่อมั่นทางธุรกิจในประเทศไทยจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง

ข้อมูลทั้งหมดข้างต้น นำมาจากเอกสารประกอบการแถลงข่าวรายงานผลการดำเนินงานในไตรมาสสิ้นสุด 30  มิถุนายน 2559

ข้อมูลนี้ย่อมเป็นประโยชน์แก่อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง โดยรวมด้วย

#