เตรียมเพิ่มค่าเก็บขนขยะ กระตุ้นองค์การปกครองท้องถิ่นดูแลจัดการขยะ

การบริหารจัดการขยะ เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการเติบโตเป็นชุมชนเมือง และมีผลกระทบกับชุมชนชนบท  โดยเฉพาะในประเด็นเก่า ๆ ที่ดูแลเมืองสะอาดแต่ชนบทเป็น “ถังขยะ” ของเมือง   นอกจากนี้กิจการรับเหมาก่อสร้างมีเรื่อง  เกี่ยวข้องกับ “ขยะ”  พอสมควร  แม้ว่าเศษวัสดุก่อสร้าง  เศษจากการทุบรื้อหรือการก่อสร้างใหม่ ล้วนมีราคาซื้อขาย แต่ต้องศึกษาระมัดระวังผลบังคับต่อเนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  เพื่อมิให้เกิดอุปสรรคต่อการทำงานรับเหมาก่อสร้างในที่ต่าง ๆ

ร่าง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ

ความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะมีทิศทางตามข้อบังคับกฎหมาย ในเรื่องนี้มีมติคณะรัฐมนตรีวันที่  9  สิงหาคม 23559 เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ ......) พ.ศ. ...............ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .............ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว  ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติและให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมกับกระทรวงมหาดไทย  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปพิจารณาดำเนินการจัดทำกฎหมายเฉพาะในการบริหารจัดการขยะตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ดังต่อไปนี้

1.แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “เจ้าพนักงานท้องถิ่น” “พนักงานเจ้าหน้าที่” และ “ราชการส่วนท้องถิ่น”

2.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรารักษาการโดยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยเป็นการเฉพาะ

3. กำหนดหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ไม่รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดเกี่ยวกับการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย

4. กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบกิจการเก็บ ขน กำจัด หรือหาประโยชน์จากการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และในกรณีที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ถือว่าได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ด้วย

5.กำหนดหน้าที่ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเสนอแนะ แนะนำ และช่วยเหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดทำแผนงานโครงการในการจัดการสิ่งปฏิกูล และมูลฝอยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด และขอจัดตั้งงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน

6. กำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการดูแลรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามพระราชบัญญัตินี้

7. กำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ดำเนินกิจการรับทำการเก็บ ขน กำจัดหรือการหาประโยชน์จากการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเจ้าพนักงานท้องถิ่น  รวมทั้งกำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของท้องถิ่น

8. กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม โดยเพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย รวมทั้งค่าธรรมเนียมใบอนุญาตของเอกชน

ขยายความ ความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายใด ๆ  ที่เกิดขึ้นมีโอกาสเพิ่ม “ต้นทุน”  ให้กิจการที่เกี่ยวข้องเสมอ  “ค่าใช้จ่าย” ที่เป็นการซื้อความรู้นั้น  บางทีไม่ควรมี  ไม่ต้องจ่าย  แต่ก็ต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายและความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

#

บัญชีสยาม