การแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 -ฝุ่นขนาดใหญ่ เรื่องที่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างต้องเร่งเตรียมพร้อม
  • 8 กุมภาพันธ์ 2019 at 21:18
  • 632
  • 0

ฝุ่นละอองขนาดใหญ่ในที่สุดก็สามารถแตกตัวเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กได้  มาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น ปัญหาควันต่าง ๆ จึงต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดไปพร้อมๆ กัน  มาดูกันว่า  ภาครัฐกำหนดแนวทางและมาตรการที่ “เข้มงวด” ไว้เช่นไร  เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตาม

ข้อบังคับจากภาครัฐ

“รัฐและกลไกรัฐ”  เป็นการใช้พลังอำนาจเชิงบังคับ เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายรวมกันในสังคม  มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 กุมภาพันธ์  2562 เรื่อง แนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร/ปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เป็นตัวอย่างรูปธรรมของการใช้อำนาจบริการจัดการเชิงบังคับ (สมัครใจหรือไม่ต้องทำตาม)

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอเรื่องแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร/ปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ดังนี้

สาระสำคัญ

แนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร/ปริมณฑล และ   ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ข้อที่หนึ่ง กรอบแนวคิด แนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร/ปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เป็นการแก้ไขปัญหาซึ่งจะต้องพิจารณาผลกระทบในทุกมิติ โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และไม่ให้เกิดความไม่สะดวกจากการใช้ชีวิตปกติมากเกินไป

ข้อที่สอง. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3) กระทรวงการคลัง 4) กระทรวงคมนาคม 5) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 6) กระทรวงพลังงาน 7) กระทรวงมหาดไทย 8) กระทรวงสาธารณสุข 9) กระทรวงอุตสาหกรรม 10) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ 11) สำนักนายกรัฐมนตรี

ข้อที่สาม. เป้าหมาย "สร้างอากาศดี เพื่อคนไทย และผู้มาเยือน"

ข้อที่สี่. มาตรการและแนวทางการดำเนินงาน เป็นการเตรียมการป้องกันและลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) แบ่งเป็น 3 ระยะได้แก่ ระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว ได้แก่

 

มาตรการระยะเร่งด่วน  3 ประการ

1) มาตรการระยะเร่งด่วน ซึ่งเป็นช่วงที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและพบค่าเกินมาตรฐาน โดยได้มีแนวทางการปฏิบัติ 3 ขั้น ประกอบด้วย

(1) ขั้นเตรียมการ (ช่วงก่อนเกิดสถานการณ์ : กันยายน - พฤศจิกายน) เป็นขั้นตอนการสร้างความเข้าใจ ให้แก่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และ 5 จังหวัดปริมณฑล โดยให้จังหวัดมี         การตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่ จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมพร้อมเพื่อสั่งการ หากปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่มีปริมาณสูงขึ้น

(2) ขั้นปฏิบัติการ (ช่วงเกิดสถานการณ์ : ธันวาคม - เมษายน) เป็นการปฏิบัติการ   ช่วงเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินมาตรฐานซึ่งได้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร/ปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนในขั้นปฏิบัติการสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจหน้าที่สามารถปฏิบัติได้ทันทีตามการเคลื่อนไหวของสถานการณ์ฝุ่นละอองที่มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยได้กำหนดระดับการยกระดับความเข้มข้นของมาตรการตามความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละออง เป็น 4 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ 1 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มีค่าไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้ส่วนราชการทุกหน่วยต้องดำเนินการตามภารกิจ อำนาจหน้าที่ และกฎหมายที่มีอยู่ให้ครบถ้วนตามสภาวการณ์ปกติ เพื่อควบคุมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพมหานคร/ปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับปกติ

ระดับที่ 2 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มีค่ามากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้ทุกส่วนราชการต้องดำเนินการเพิ่มและยกระดับมาตรการต่างๆ ให้เข้มงวดขึ้น โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยส่วนราชการอื่นๆ เป็นหน่วยสนับสนุนการดำเนินการโดยมาตรการในระดับนี้ ได้แก่

เพิ่มจุดตรวจจับควันดำเป็น 20 จุด เข้มงวดตรวจสอบตรวจจับรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพก่อนออกให้บริการ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่ให้มีรถควันดำวิ่งโดยเด็ดขาด ห้ามจอดในที่ห้าม ลากและปรับรถที่จอดผิดกฎหมาย

ปรับเปลี่ยนไปใช้น้ำมัน B20 ในรถโดยสารดีเซล

เริ่มจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง B20 ผ่านสถานีบริการน้ำมันในกรุงเทพฯและปริมณฑล

เร่งรัดนำน้ำมันดีเซลเทียบเท่ามาตรฐาน EURO 5 (กำมะถันไม่เกิน 10 ppm)   มาจำหน่ายในพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร/ปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ในช่วงเวลาวิกฤต

ขยายพื้นผิวการจราจร งดเว้นกิจกรรมที่ส่งผลทำให้เกิดฝุ่นละออง

ห้ามเผาในที่โล่งเด็ดขาด

ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด

สนับสนุนและแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่หน่วยงานในพื้นที่

การเฝ้าระวังและปฏิบัติการทำฝนเทียม

ให้หน่วยงานภาครัฐพิจารณาการทำงานที่บ้านและขอความร่วมมือจากบริษัทเอกชนให้ทำงานที่บ้านเช่นกัน

เข้มงวดตรวจโรงงานอุตสาหกรรมป้องกันและควบคุมการระบายฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน

ขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรมดูแลตรวจสอบอุปกรณ์และเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพตรวจสอบสภาพรถบรรทุกทั้งขาออกและขาเข้าโรงงานหยุดหรือลดกำลังการผลิต

ห้ามรถยนต์ที่มีมลพิษสูงสัญจรในพื้นที่กรุงเทพชั้นกลางและชั้นนอก

ระดับที่ 3 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ยังไม่ลดลงและมีแนวโน้มสูงขึ้นหลังจากที่ได้มีการดำเนินการในระดับที่ 2 แล้ว ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีปัญหาฝุ่นละออง ใช้กฎหมายที่มีอยู่เข้าไปควบคุมพื้นที่หรือควบคุมแหล่งกำเนิดที่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญหรือมีผลกระทบต่อประชาชนเพื่อระงับยับยั้งสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

ระดับที่ 4 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ยังไม่ลดลง และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ และพิจารณากลั่นกรองแนวทางในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กโดยจะต้องนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาในการสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นแนวทางหรือมาตรการในการลดมลพิษ

(3)  ขั้นฟื้นฟูหลังจากสถานการณ์กลับสู่ปกติ กำหนดให้มีการประชุมเพื่อถอดบทเรียนหรือ After Action Review/AAR เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในปีต่อไป

 

มาตรการระยะกลางและระยะยาว

2) มาตรการระยะกลาง (พ.ศ. 2562 - 2564) เป็นการลดการระบายมลพิษและลดจำนวนแหล่งกำเนิด โดย

ประกาศใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm

พัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบ

เร่งรัดแผนการเปลี่ยนรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพให้เป็นรถยนต์ที่มีมลพิษต่ำ

พิจารณาปรับวิธีการและปรับลดอายุรถที่เข้ารับการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี พิจารณาการเพิ่มภาษีรถยนต์เก่า การลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า การซื้อ-ทดแทนรถราชการด้วยรถยนต์ไฟฟ้า และการจัดโซนนิ่งจำกัดจำนวนรถเข้าเมือง การพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ เพิ่มพื้นที่สีเขียว พัฒนาศักยภาพท้องถิ่นในการดำเนินการติดตามการตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่ และการควบคุมเป็นระบบ Single Command

3) มาตรการระยะยาว (พ.ศ. 2565 - 2567) เป็นการลดการระบายมลพิษและลดจำนวนแหล่งกำเนิด โดย

ปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน EURO 6

กำหนดให้มีการติดตั้ง Diesel Particulate Filter (DPF) ในรถดีเซลเพิ่มเติม

ห้ามนำเข้าเครื่องยนต์ใช้แล้วมาเปลี่ยนแทนเครื่องยนต์เก่าในรถยนต์

พัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบและครอบคลุมพื้นที่

กำหนดมาตรฐานระบายอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่า EU และ USA

กำหนดให้เจ้าของ/ผู้ประกอบการที่มีการเผาในที่โล่งในพื้นที่ของโครงการหรือพื้นที่ครอบครองเป็นความผิดอาญา

ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

ศึกษาความเหมาะสมในการสร้าง/ติดตั้งหอคอยฟอกอากาศขนาดใหญ่ บูรณาการงานวิจัยด้านมลพิษทางอากาศเพื่อขับเคลื่อนระดับนโยบาย

ปรับปรุง พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม (Clean Air Act)

ปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 เฉลี่ยรายปีให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของ WHO IT-3

 

ผู้ว่าฯกับแผนปฏิบัติการระดับพื้นที่

ข้อที่ห้า  กลไกการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ในการเข้าควบคุมสถานการณ์ โดยสั่งการตามกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อจัดการปัญหาปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐาน ที่เกิดขึ้นจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ  และให้จังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการในระดับพื้นที่ ติดตามและรายงานผลการดำเนินงาน

 

ขยายความ

ปัญหาฝุ่น ควัน  และปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ยกระดับเป็นเรื่องระดับประเทศแล้ว ความเข้มข้นในการแก้ไข ป้องกันย่อมมีมากขึ้น และย่อมเกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างทั้งทางตรงและทางอ้อม  จำเป็นที่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างต่างๆ  ต้องดำเนินการเตรียมพร้อมแต่เนิ่นๆ  ทั้งนำมาตรการต่างๆ  ที่ภาครัฐมีอยู่หรือออกมาใหม่มาปรับใช้กับการทำงานของตนเอง  ทั้งศึกษามาตรการวิธีการต่าง ๆ ที่งานก่อสร้างต่างประเทศไทยนิยมใช้

ปฏิบัติการลดฝุ่น – ฝุ่นพิษทั้งจากแหล่งกำเนิด และลดเมื่อเกิดขึ้นแล้ว สมควรเป็นเรื่องที่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างต้องใส่ใจมากขึ้น  ตระเตรียมทั้งด้านอุปกรณ์ต่างๆ  รวมไปจนถึงการบริหารจัดการ และการคำนวณถึงต้นทุนที่มีเพิ่มขึ้น  ไปจนถึงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่องที่ดี  การดำเนินงานที่ลดการเกิดฝุ่น  ป้องกัน  และกำจัดฝุ่น-ฝุ่นพิษ  ในงานก่อสร้างโครงการต่างๆ  และการดำเนินงานตามปกติของธุรกิจ

#