การเลือกตั้งทั่วไป 2562 พลังหนุนเศรษฐกิจ สู่อนาคตเสถียรภาพทางเมือง
  • 13 กุมภาพันธ์ 2019 at 11:52
  • 1358
  • 0

เศรษฐกิจ-ธุรกิจต้องการพลังหมุนเวียน  แต่ละรอบของการหมุนรอบทางเศรษฐกิจจากทุน (แรงงาน+วัตถุดิบเครื่องจักร เทคโนโลยีและอื่นๆ) เป็นสินค้าและบริการ  สู่การแลกเปลี่ยนซื้อขาย  ส่วนใหญ่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม (ประโยชน์จากมูลค่าส่วนเกินจากต้นทุนรวม)  ธุรกิจส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้  เศรษฐกิจจำเป็นต้องมีภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม) สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้น   ผลักดันให้เกิดการหมุนเวียน หมุนรอบ

นอกเหนือจากพลังทางเศรษฐกิจ-ธุรกิจโดยตัวตนเองแล้ว  พลังทางสังคม  พลังทางการเมือง ย่อมมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ  พลังทางสังคมตัวอย่างที่เข้าใจง่ายคือ ผลบวกต่อเศรษฐกิจจากเทศกาล ประเพณีเฉลิมฉลองต่างๆ  ที่มีวงเงินสะพัด จากการซื้อสินค้าและบริการในการเข้าร่วมเทศกาลประเพณี  อาทิ ปีใหม่  ตรุษจีน  วาเลนไทน์ สงกรานต์  ลอยกระทง  เป็นต้น

ในกรณีพลังทางการเมืองนั้น  การเลือกตั้งทั่วไป  มีพลังบวกต่อเศรษฐกิจ-ธุรกิจอย่างมาก

เลือกตั้งทั่วไป แค่เริ่มต้นก็มีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เพียงมีความแน่นอนในเรื่องการเลือกตั้งทั่วไป ที่กำหนดเป็นวันที่  24 มีนาคม  2562 “การมองโลกเศรษฐกิจในแง่ดี” ก็เกิดขึ้น  ข้อมูล+ความคิดเห็นทางวิชาการได้รับการเผยแพร่ผ่านรูปแบบวิธีการต่างๆ

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ หอการค้าไทยได้ประเมินไว้ว่า การเลือกตั้งทั้งเลือกตั้งในระดับประเทศและเลือกตั้งท้องถิ่นสามารถทำให้เกิดปริมาณเงินหมุนเวียนได้มากกว่า 80,000 ล้านบาท  ในจำนวนนี้แบ่งเป็นเงินสะพัดที่นำไปใช้ในการเลือกตั้งใหญ่กว่า 50,000 ล้านบาท   การส่งพลังสู่เศรษฐกิจนั้นผ่านธุรกิจต่างๆ  โดย 10 อันดับธุรกิจแรกที่จะได้รับอานิสงส์นี้ ได้แก่ ป้ายโฆษณา คาดมีเงินหมุนเวียน 12,663 ล้านบาท ค้าส่งค้าปลีก 10,264 ล้านบาท การผลิตกระดาษ 5,200 ล้านบาท ภัตตาคารและร้านอาหาร 4,407 ล้านบาท การผลิตน้ำมันปิโตรเลียม 3,813 ล้านบาท การบริการทางด้านธุรกิจ 2,967 ล้านบาท โรงแรมและที่พัก 2,663 ล้านบาท การผลิตไฟฟ้า 1,876 ล้านบาท การผลิตรถยนต์ รถจักรยานยนต์ 1,586 ล้านบาท และอื่น ๆ 4,651 ล้านบาท

ส่วนวงเงินสะพัดอีก 30,000 ล้านบาทเป็นเงินสะพัดจากการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เงินสะพัดในการเลือกตั้งครั้งรอบนี้โดยรวมจะดันยอดจีดีพีของไทยได้ราว0.3%

เมื่อผลเลือกตั้งปรากฏชัดเจนแล้ว ยังต้องประเมินว่าการเมืองจะมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน  หากเป็นไปในทิศทางที่ดีย่อมช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 2562 ขยายตัวได้ที่ 4.2%

เสถียรภาพทางการเมือง-เสถียรภาพระบอบประชาธิปไตย

หลักการของเสถียรภาพทางการเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตยคือ ยืนหยัดวิธีและวิถีประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง  มีการเลือกตั้งทั่วไปอย่างต่อเมือง  มีการเลือกตั้งท้องถิ่น  มีการเลือกตั้งอำนาจการปกครองอื่นๆ ตามความเหมาะสม (นิติบัญญัติ/บริหาร/ตุลาการ)

ไม่ว่ามีความขัดแย้งรุนแรงในระดับไหน  ในเรื่องใดๆ ใช้วิถีและวิธีการตามการปกครองระบอบประชาธิปไตยในการแก้ปัญหา

เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมหมายว่า การเมืองไทย-การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยไม่มีเสถียรภาพมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ค.ศ.  1932 (พ.ศ.2475)  ประจักษ์พยานคือ การรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  และหรือการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร

การไร้เสถียรภาพทางการเมืองในมิติดังกล่าว ยังไม่สอดคล้องกับหลักการคบค้าสมาคม / การลงทุนจากประเทศตะวันตก  (อาจรวมญี่ปุ่น) มีผลต่อการลงทุนจากต่างประเทศในหลายๆ  กรณี

ความมุ่งหวังให้การเมืองมีเสถียรภาพย่อมหมายถึงมีการเลือกตั้ง  มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง แก้ปัญหาต่างๆ ผ่านคูหาเลือกตั้ง ผ่านการลงคะแนนเสียง  หนึ่งคนหนึ่งเสียง  และกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ตามวิธีและวิถีประชาธิปไตย

เหตุผลพื้นฐานก็คือ เมื่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีเสถียรภาพ ย่อมเป็นการสะดวกในการวิเคราะห์พิจารณาแนวทางการบริหารต่างๆ ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยยึดหลักการวิเคราะห์จากนโยบายของพรรคการเมืองใหญ่ (รวมขนาดกลาง) ที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว และหรือเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสม

เรื่องดังกล่าวคือความเคยชินในเรื่องนี้ของกลุ่มประเทศโลกที่หนึ่ง ประเทศพัฒนาแล้วในพื้นที่ทวีปยุโรป  อเมริกา และเอเชีย-ออสเตรเลีย

ความขัดแย้ง  ความเห็นต่างทางการเมือง และยืนหยัดในวิธีและวิถีการปกครองระบอบประชาธิปไตย นั่นคือคือเสถียรภาพทางการเมือง

ส่วนการใช้อำนาจทางการทหารรัฐประหาร หรือยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยวิธีการอื่นใด เท่ากับความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง

ดังนั้นเมื่อการเมืองหรือรัฐบาลมีเสถียรภาพ(ในทัศนะของประเทศที่ศิวิไลซ์ พัฒนาแล้ว)  ถึงมีผลให้นักลงทุนต่างชาติมั่นใจและตัดสินใจลงทุนเพิ่ม รวมทั้งภาคธุรกิจในประเทศ (จำนวนส่วนข้างมาก-ไม่จำกัดที่กลุ่มใกล้ชิดผู้กุมอำนาจรัฐ) กล้าลงทุนขยายกิจการ  พลังขับเคลื่อน พลังหมุนเวียนทางเศรษฐกิจขยับ ภาคครัวเรือนมีความมั่นใจและเชื่อว่ามั่นคงในรายได้ตนเองก็กลับมาจับจ่ายใช้สอยตามปกติ  ในส่วนที่มิใช่ภาคการผลิตโดยตรง แต่โยกย้ายเงินลงทุนได้เร็ว และมีพลังดันเศรษฐกิจขึ้นหรือดึงลงได้เร็ว เช่น นักลงทุนในตลาดการเงินโลกก็มีความเชื่อมั่นและเข้ามาลงทุนในตลาดทุนทุนและตลาดตราสารหนี้

ประวัติศาสตร์ทางการเมือง (สังคมและวัฒนธรรม) ของประเทศไทยมีโอกาสก้าวไปสู่ความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมืองของการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่  ยังไม่มีใครแน่ใจ  ไม่ว่าพรรคการเมืองที่ต้องการการปกครองระบอบประชาธิปไตย  กลุ่มพลังประชาชนที่สนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ปมใหญ่ใจกลางอยู่ที่ประโยชน์ต่างๆ  ที่จัดเกิดขึ้นกับ ประชาชน กับธุรกิจ  กับชุมชน และสังคมในระดับต่างๆ ประโยชน์ที่มองเห็นชัดเจน  และไม่ชัดเจน  ประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม  ประโยชน์และคุณค่าที่ใช้สอยได้  ประโยชน์และคุณค่าทางจิตใจ

ประโยชน์รวมทั้งหมดดังกล่าว  แบ่งพิจารณาระหว่างกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากระบอบประชาธิปไตย และกลุ่มที่เสียประโยชน์จากระบอบประชาธิปไตยว่าใครมีพลังมากกว่ากัน  ใครเก่งกว่าในการต่อสู่แข่งขัน  ระหว่างพลังที่สนับสนุนประชาธิปไตย  กับพลังที่ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย

พลังฝ่ายไหนชนะอย่างเด็ดขาด ย่อมสร้าง “เสถียรภาพทางการเมือง” ในระยะยาวนานให้เกิดขึ้นได้

การเลือกตั้งทั่วไป  2562  มีโอกาสเป็นเพียงจุดเริ่มต้น “ก้าวใหม่”  เส้นทางใหม่ ของประเทศไทยที่มีลักษณะเฉพาะของตนเองให้เด่นชัดขึ้น

ดีหรือไม่ดี  ดีต่อใคร  ไม่ดีต่อใคร  ใครได้ใครเสีย  ตัดสินที่พลังของตนเอง  และพลังสนับสนุนทั้งหมดที่หาได้

อ่อนแอกว่าพ่ายแพ้ไป  หวังได้ชัยต้องเข้มแข็งเหนือกว่า

#